รอยเตอร์ - จากศูนย์กักตัวของรัฐแห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนเหนือของพม่า มอ ตุน อ่อง สมาชิกสภานิติบัญญัติ กำลังเตรียมรณรงค์หาเสียงผ่านทางเฟซบุ๊กสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
ชายวัย 37 ปีรายนี้ รณรงค์หาเสียงมาจากหนึ่งในศูนย์กักตัวของรัฐ ที่มีประชาชนกว่า 45,000 คนทั่วประเทศกำลังถูกกักตัวตามมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 มาตรการที่กลายเป็นความท้าทายที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังเผชิญ เนื่องจากทางการพม่ายังคงยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
มอ ตุน อ่อง ที่ถูกกักตัวตามกฎระเบียบของรัฐเนื่องจากเดินทางภายในประเทศ กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถแทนที่การติดต่อสื่อสารแบบตัวต่อตัวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
“ผมต้องการฟังเสียงพวกเขา ความคาดหวังของพวกเขา ผมต้องการตอบคำถามพวกเขาและอธิบายพวกเขาด้วยตัวเอง” มอ ตุน อ่อง กล่าว
จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ของพม่าพุ่งสูงขึ้นจากเดิมที่มีเพียงแค่ไม่กี่ร้อยคนในช่วงกลางเดือน ส.ค. เป็นมากกว่า 13,000 คนในสัปดาห์นี้ และมีผู้เสียชีวิตจากโควิดแล้วมากกว่า 300 คน ทำให้ทางการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด
การระบาดยังก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดการเลือกตั้ง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทุ่มทรัพยากรต่อสู้กับไวรัส และการล็อกดาวน์ทำให้ผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่สามารถออกหาเสียงได้ตามปกติ ส่วนผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศก็ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้
โฆษกรัฐบาลและผู้แทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ไม่ได้รับสายโทรศัพท์ที่ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องนี้
พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) พรรคที่ทหารให้การสนับสนุนและเป็นผู้ท้าชิงหลักของพรรค NLD ของอองซานซูจี และพรรคฝ่ายค้านอีก 23 พรรค ได้เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่ซูจี กล่าวว่า การเลือกตั้งสำคัญกว่าโควิด
สำหรับวาระดำรงตำแหน่งของรัฐสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. และหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็จะไม่มีสภานิติบัญญัติ และอาจทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ
หน่วยงานการเลือกตั้งของพม่ากล่าวว่า ทางหน่วยงานจะเพิ่มจำนวนคูหาเลือกตั้งเพื่อป้องกันความแออัด แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้ดำเนินการมากนัก และโฆษกของหน่วยงานเลือกตั้งก็ไม่รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อขอความเห็น
จากมาตรการห้ามการเดินทางภายในประเทศ ห้ามการชุมนุมรวมตัวขนาดใหญ่ และการล็อกดาวน์นครย่างกุ้ง รวมทั้งรัฐยะไข่ ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากเปลี่ยนไปหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ บรรยากาศและสีสันการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปีนี้จึงแตกต่างไปจากปี 2558 การเลือกตั้งที่นำพรรค NLD ขึ้นสู่อำนาจ และกลายเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศในรอบครึ่งศตวรรษ
แต่อย่างไรก็ตาม ซูจียังคงได้รับความนิยมอย่างมหาศาลและเป็นที่คาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย แม้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าเดิมอย่างที่เคยในการเลือกตั้งปี 2558 เนื่องจากมีกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
แต่ริชาร์ด ฮอร์เซย์ นักวิเคราะห์ในพม่ากล่าวว่า การพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่พรรค NLD และซูจี ที่เพจเฟซบุ๊กได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ
สำหรับสถานที่ที่อินเทอร์เน็ตถูกจำกัดการเข้าถึงหรือถูกควบคุม รวมทั้งรัฐยะไข่ ที่เจ้าหน้าที่จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและกองกำลังทหารของรัฐบาลยังคงต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ การณรงค์หาเสียงในพื้นที่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“เรามีอุปสรรคเยอะมากเกินไป เราออกไปเจอผู้คนไม่ได้ เราไม่สามารถสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียได้” เมียว จ่อ เลขาธิการพรรค Arakan League for Democracy ในรัฐยะไข่ กล่าว
พม่าระงับเที่ยวบินเดินทางเข้าประเทศ และรัฐบาลไม่ได้กล่าวว่านักข่าวต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้าประเทศเพื่อรายงานการเลือกตั้งได้อย่างไร แม้แต่นักข่าวพม่าเองก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากคำสั่งอยู่กับบ้าน และรัฐบาลประกาศว่าไม่มีแผนที่จะช่วยสื่อรายงานการเลือกตั้ง เซยา หล่าย สมาชิกสภาสื่อมวลชนระบุ
เย เมียว เฮง นักวิเคราะห์จากสถาบัน Tagaung Institute of Political Studies กล่าวว่า การไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในการเลือกตั้ง อาจกระทบความน่าเชื่อถือและความยุติธรรมของการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัครเลือกตั้งฝ่ายค้านได้ร้องเรียนว่า ข้อจำกัดโควิด-19 ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นธรรม
โมนยะวา อ่อง ชิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรค NLD ได้แสดงความเห็นที่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นด้วยการบอกกับสื่อว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ลงโทษผู้สนับสนุนพรรคของเขาสำหรับการชุมชนที่ละเมิดคำสั่งห้าม
“เราไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะตั้งป้ายด้วยซ้ำ ไม่ยุติธรรม” ถู เม ผู้สมัครอิสระในนครย่างกุ้ง กล่าว.