xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญห่วงแผนกักตัวของพม่าใกล้ต้านไม่ไหว หลังยอดป่วยโควิดยังทะลักไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - พม่ากักตัวประชาชนหลายหมื่นคนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จากระบบการดูแลสุขภาพที่เปราะบางของประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและแพทย์ต่างกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวใกล้ที่จะล้มเหลว เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

พม่ากักตัวประชาชนมากกว่า 45,000 คน ที่ประกอบด้วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมถึงแรงงานที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในศูนย์กักตัวต่างๆ ตั้งแต่โรงเรียน วัด อาคารสำนักงานรัฐ เป็นต้น ซึ่งศูนย์ส่วนใหญ่เหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของอาสาสมัคร

แม้ว่าผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือถูกกักตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะยับยั้งเชื้อไวรัส ที่กำลังสร้างภาระหนักอึ้งให้แก่ระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่ได้รับงบประมาณเพียงพอมาเป็นเวลานาน

แต่ยุทธศาสตร์การกักกันขั้นสูงสุดนี้ ที่พม่าดำเนินการมาตั้งแต่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายแรกในเดือน มี.ค. อาจส่งผลตรงกันข้ามหากศูนย์ต่างๆ ที่รับภาระมากเกินไปจัดให้คนกลุ่มต่างๆ กักตัวรวมกัน จ่อ ซาน ไว ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กล่าวกับรอยเตอร์

“ยุทธศาสตร์นี้ดำเนินการได้ผลมาถึงกลางเดือน ส.ค. เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อของพม่าอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครย่างกุ้ง แนวทางนี้ทำให้ทั้งศูนย์สุขภาพและศูนย์กักตัวมาถึงขีดสุด” จ่อ ซาน ไว กล่าว

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขไม่รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อขอความเห็นในประเด็นนี้






หลังจากไม่พบการติดเชื้อในท้องถิ่นติดต่อกันหลายสัปดาห์ พม่าได้รายงานว่าพบการระบาดระลอกใหม่ในรัฐยะไข่เมื่อกลางเดือน ส.ค. และนับจากนั้นเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ

ในวันนี้ (24) ทางการรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 535 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 3 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 7,827 คน และยอดผู้เสียชีวิต 133 คน

ในขณะที่บางประเทศดำเนินยุทธศาสตร์การกักตัวเข้มงวด แต่บางประเทศก็อนุญาตเฉพาะกรณีที่ป่วยรุนแรงเท่านั้นที่จะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล นอกนั้นจะแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน

“ในบางประเทศ พวกเขาปล่อยให้ประชาชนอยู่กับบ้านและรักษาเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง” นายแพทย์กอง มัต โซ หัวหน้าโรงพยาบาลชั่วคราวในนครย่างกุ้ง กล่าว

จำนวนคนที่ถูกกักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า จากราว 19,000 คน ในเดือน ส.ค. เป็นมากกว่า 45,000 คน เมื่อนับจนถึงวันที่ 21 ก.ย. นี้ ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข

หลังถูกละเลยมานานหลายสิบปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ระบบสาธารณสุขของพม่าถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอที่สุดในโลก และจนถึงต้นปี 2563 พม่ามีเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักเพียง 330 เตียง สำหรับประชากร 54 ล้านคน องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้จำนวนแพทย์ต่อประชากรไว้ที่ 6.7 คนต่อประชากร 10,000 คน

เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสร้างสถานพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเพื่อให้เหมาะสมกับสัดส่วนจำนวนดังกล่าว

เรื่องราวเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่ไร้ไฟฟ้าและประปา และผู้ป่วยติดเชื้อถูกบังคับให้แบ่งห้องร่วมกันกับคนที่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ ถูกรายงานผ่านสื่อต่างๆ

“การเร่งระดมสร้างสถานที่ใหม่ หมายความว่าศูนย์กักตัวใหม่เหล่านี้ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรับมือผู้คนจำนวนมหาศาล ซึ่งเริ่มที่จะบ่อนทำลายยุทธศาสตร์การกักตัวขั้นสูงสุด เนื่องจากผู้คนที่จะเข้าสู่กระบวนการกักกันไม่ค่อยลดลง” นายแพทย์จ่อ ซาน ไว กล่าว

ชาวเมืองย่างกุ้งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อกล่าวว่า ในระหว่างที่เธอรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยเล็กน้อย เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปห้องน้ำ แต่เธอและเพื่อนร่วมห้องได้ถุงพลาสติกมาใช้แทน

“3 คืน 2 วันในโรงพยาบาลคือนรก” หญิงชาวย่างกุ้งกล่าว และเธอได้ย้ายไปอยู่ที่โรงแรมแทน

พม่ามีประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนโดยชุมชนในช่วงวิกฤต และนางอองซานซูจี ได้เรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนความพยายามในการต่อสู้กับไวรัส

ผู้ที่ดำเนินการศูนย์กักตัวในเขตอิรวดีกล่าวกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาพึ่งพาสิ่งของที่ได้รับบริจาค เช่น อาหาร และอุปกรณ์ป้องกัน

“หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้บริจาคคงจะแย่กว่านี้” นายแพทย์โก โก ลิน ที่เป็นอาสาสมัครที่ศูนย์กักตัวเขตอิรวดี กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น