เยาวชนทุกวันนี้คงรู้จัก “ยุวชนทหาร” กันน้อยแล้ว เพราะขนาดผู้เขียนก็ยังไม่ทันได้เป็นยุวชนทหาร ที่เลิกไปเมื่อตอนเรียนแค่มัธยมต้น ไม่ทันขึ้นมัธยมปลายที่จะได้เป็นยุวชนทหาร
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ขณะที่ภัยสงครามเริ่มคุกรุ่นขึ้นในยุโรป ไทยเราซึ่งอยู่ในยุคเผด็จการทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามมาถึง นอกจากรณรงค์ให้ประชาชนทำสวนครัวปลูกผักเพื่อช่วยตัวเองยามสงครามแล้ว ในด้านการทหารได้จัดตั้ง “กรมยุวชนทหาร” ขึ้น สังกัดกระทรวงกลาโหม เพราะหากเกิดสงคราม แม้จะระดมพลได้ทหารกองหนุนมาเป็นจำนวนมาก แต่ผู้บังคับบัญชาที่จะนำทหารเหล่านี้ไม่เพียงพอ จึงฝึกนักเรียนมัธยมปลายและนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไว้ เพื่อเป็นนายทหาร
ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘ กระทรวงกลาโหมได้เริ่มมีการฝึกวิชาทหารให้แก่นักเรียน โดยกำหนดความมุ่งหมายไว้ในระเบียบที่จะเข้ารับการฝึกวิชาทหารดังนี้
"ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปร
เหตุการณ์ของโลกปัจจุบัน รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆมาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆมาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง"
ยุวชนทหารแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
ยุวชนทหาร ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยม ๔, ๕, และ ๖
ยุวชนนายสิบ ได้แก่นักเรียนอาชีวะ
ยุวชนนายทหาร ได้แก่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย
ต่อมาได้ขยายออกไปตามจังหวัดต่างๆ จนในปี ๒๔๘๑ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมยุวชนทหารบก” ฝึกทั้งยุวชนทหาร ยุวชนนายสิบ และยุวนารี
ในปี ๒๔๘๔ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้น กรมยุวชนทหารบกได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กรมเตรียมการทหาร” ด้วยความมุ่งหมายที่จะขยายความรู้วิชาทหารไปถึงประชาชนด้วย และได้รวบรวมยุวชนทหารทุกประเภททุกเหล่าบรรจุตามอัตราสงคราม ๓ กองพล รวม ๒๗ กองพัน เตรียมการที่จะปฏิบัติการรบ แต่ในปี ๒๔๙๐ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ยุวชนทหารก็ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ แม้กระนั้น ความจำเป็นในการเตรียมกำลังสำรองของประเทศยังต้องมีอยู่ จึงได้มีการจัดตั้ง “กรมการรักษาดินแดน” ขึ้นในปี ๒๔๙๑ เพื่อฝึกนักศึกษาวิชาทหารเป็นกำลังสำรองแทนยุวชนทหาร
ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่ปัตตานีถึงสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร ๓๐ คน อาวุธปืนเล็กยาว ๓๐ กระบอก ปืนพก ๑ กระบอก กระสุน ๑ หีบในความควบคุมของ ร.อ.ถวิล นิยมเสน และ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ ขณะเดินทางด้วยรถบรรทุกมาตามถนนชุมพร-ปากน้ำในเวลาประมาณ ๐๗.๕๐ น.ได้ยินเสียงปืนที่บริเวณท่านางสังข์ ร.อ.ถวิลจึงนำยุวชนทหารลงจากรถ เข้าไปช่วยตำรวจที่ปฏิบัติการอยู่สองข้างคอสะพานท่านางสังข์ และให้ยุวชนทหาร ๓ คนกลับไปเอากระสุนที่โรงพักมาอีก ๑ หีบ
ขณะที่กำลังยุวชนทหารเคลื่อนที่ตามแนวคูโดยใช้สันถนนเป็นที่กำบัง ไปได้ประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ก็เห็นทหารญี่ปุ่น ๑ หมู่กำลังเคลื่อนที่ จึงติดตามไป โดยมีตำรวจภูธร ๕ คนและราษฎรอาสาสมัครอีก ๑ คนติดตามมาสมทบ จนถึงเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ยุวชนทหารจึงพบทหารญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าวและป่าข้างทาง ร.อ.ถวิลสั่งให้ทุกคนติดดาบปลายปืนเพราะอาจจะต้องประจัญบาน
ในเวลา ๙.๓๐ น. ขณะที่ ร.อ.ถวิลเคลื่อนตัวออกจากที่กำบัง ก็ถูกกระสุนปืนจากข้าศึกเข้าปากทะลุท้ายทอย ยุวชนทหารสุรพันธ์ รัตนอารีย์ ซึ่งอยู่ใกล้คลานเข้าไปจะช่วย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ร.อ.ถวิลตายคาที่ จึงรายงานให้ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ทราบ ส.อ.สำราญจึงรับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยต่อไป แต่ต่อมาในเวลา ๑๑.๐๐ น. ส.อ.สำราญก็ถูกยิงอีกรายที่แขนขวา กระดูกแตก แต่ก็ยังทนบัญชาการรบต่อไป
กำลังของยุวชนทหารและตำรวจยิงต่อสู้ยันข้าศึกให้อยู่กับที่ ไม่สามารถบุกเข้ามาได้ แต่กระสุนก็ใกล้หมดเต็มที เพื่อนที่ไปเอากระสุนที่โรงพักก็ยังไม่มา ทหารญี่ปุ่นก็เริ่มเคลื่อนโอบเข้ามาจนได้ระยะขว้างระเบิดมือถึง แต่เดชะบุญที่ระเบิดเกิดด้านจึงแคล้วคลาด ยุวชนทหารยูร หิลยกานนท์ ซึ่งอาวุโสที่สุด และทำหน้าที่ผู้บังคับหน่วยแทน ส.อ.สำราญซึ่งบาดเจ็บหนัก ได้หารือกับเพื่อนๆว่า ถ้าญี่ปุ่นโอบล้อมได้ก็คงตายกันทั้งหมด จะถอยหรือจะสู้ตาย ทุกคนก็ลงมติว่าสู้ จะยิงสู้ต่อไปจนกว่ากระสุนจะมาหรือจะหมด
จนเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. ขณะที่กระสุนใกล้จะหมด ก็มีรถยนต์ฝ่ายไทยปักธงขาวไว้หน้ารถแล่นข้ามสะพานท่านางสังข์และประกาศว่า หลวงจรูญประศาสน์ ข้าหลวงประจำจังหวัด ได้รับโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้ยุติการต่อต้าน ปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้
ในระหว่างสงครามที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดไปทั่ว แต่ไม่ว่าระเบิดจะลงที่ไหนก็จะมียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยอย่างไม่เกรงกลัวอันตราย ครั้งหนึ่งเมื่อระเบิดลงแถวสี่เสาเทเวศร์ ครอบครัวของผู้เขียนอยู่ซอยวัดราชาธิวาส ซึ่งไม่ไกลจากที่โดนระเบิด ขณะที่ผู้คนต่างวิ่งลงหลุมหลบภัย แต่ อนุมาศ บุนนาค พี่ชายของผู้เขียน ซึ่งเป็นนักเรียน ร.ร.เซ็นคาเบรียล ได้รีบแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารแล้ววิ่งไปที่ระเบิดลง เย็นกลับมาด้วยสภาพขมุกขมอมและมีคราบเลือดติดมาด้วย ต้องลงคลองท่อที่ข้างท่าวาสุกรีทั้งเครื่องแบบ ผู้เขียนในวัย ๑๐ ขวบยังเข้าช่วยซักเครื่องแบบนั้น ด้วยความพูมิใจในตัวพี่ชาย
สถานการณ์โลกในตอนนี้ น่าวิตกว่าจะเกิดสงครามขึ้นในนาทีหนึ่งนาทีใดก็ได้ และก็ไม่ใช่สงครามที่ทหารต้องรบกับทหาร แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติ ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ดูสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้แล้วน่าเป็นห่วง ขณะที่โควิด ๑๙ โจมตีไปทั่วโลก ไทยเราอยู่จุดเสี่ยงมากกว่าคนอื่น แต่ก็รักษาเมือง รักษาชีวิตผู้คนไว้ได้ จนได้รับคำชมไปทั้งโลก แต่คนกลุ่มหนึ่งกลับลุกขึ้นมาปลุกปั่นให้บ้านเมืองปั่นป่วน ซ้ำเติมประเทศชาติในยามที่ประสบปัญหาเหมือนประเทศอื่นๆทั่วโลก ข้อเรียกร้องก็เลื่อนลอยสะเปะสะปะ ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร และไม่เห็นทางว่าจะชนะได้ นอกจากจะทำให้ประเทศชาติบอบช้ำเท่านั้น
ถึงอย่างไรก็ยังเชื่อมั่นว่า จิตวิญญาณของยุวชนทหาร “รักชาติยิ่งชีพ” เช่นเดียวกับชาวบ้านบางระจัน หรือบรรพบุรุษไทยที่รักษาแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลาน ยังมั่นคงอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยตลอดไป และต้องรักษาบ้านเมืองไว้ได้เช่นบรรพบุรุษ