xs
xsm
sm
md
lg

“พระที่นั่งวิมานเมฆ” ไม่ได้ถูกรื้อทิ้ง แต่ถูกรื้อ “เพื่อบูรณะ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจโบราณนานมา โต้ข่าวลือรื้อทิ้งพระที่นั่งวิมานเมฆ ไม่เป็นความจริง แต่รื้อเพื่อบูรณะจัดทําโครงสร้างใหม่ เมื่อเสร็จแล้วก็ประกอบกลับคืนเหมือนเดิม ชี้ไม่ต้องแปลกใจ เพราะพระที่นั่งองค์เดิมก็เคยตั้งอยู่บนเกาะสีชัง ก่อนย้ายมาที่พระราชวังดุสิต แจงการรื้อนี้ไม่มีโทษใดๆ เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามกฎหมาย พร้อมแนะสิ่งที่น่าจะเป็นปัญหามากกว่าการรื้อคือ “การประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอ”

วันนี้ (21 ก.ย. 2563) เพจ “โบราณนานมา ได้ชี้แจงข่าวลือ เรื่องรื้อทิ้งพระที่นั่งวิมานเมฆ ว่า ... วันนี้เห็นในโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ มีบัญชีหนึ่งทวิตว่า “...รื้อพระที่นั่งวิมานเมฆ เรือนไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก คงไม่มีทางหาได้อีกแล้ว แบบนี้มีโทษอะไรไหมคะ...” เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์นี้คงเข้าใจผิด เพราะแอดมินไม่อยากให้ทุกคนมองว่าเขาบิดเบือน

“พระที่นั่งวิมานเมฆ” มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยรูปแบบตะวันตกผสมผสานรูปแบบไทย ที่เรียกว่า “วิกตอเรีย”

แรกเริ่มพระที่นั่งองค์นี้นามว่า “พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์” สร้างขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ เกาะสีชัง เมื่อปี ๒๔๓๕ ปัจจุบันที่เกาะสีชังยังคงเหลือฐานของพระที่นั่งเดิมเอาไว้ ใครไปเที่ยวแวะไปชมได้

พอเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รื้อถอน “พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์” และ “ตำหนัก” บางส่วน ไปสร้างไว้ในพระราชวังดุสิต เมื่อปี ๒๔๔๓ และสร้างเสร็จปี ๒๔๔๕ พระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ”

จนมาถึงปี ๒๕๒๕ ผ่านไป ๘๐ ปี “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ อันเป็นปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชมเมื่อ ๒๕๒๘

จนกระทั่งในปี ๒๕๕๙ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” นั้นมีอายุการใช้งานเป็นเวลานาน ๑๒๐ กว่าปี เกิดการทรุดตัวของอาคารทำให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นในปี ๒๕๖๐ เกิดโครงการการปรับปรุงโครงสร้างชั้นใต้ดินของ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ขึ้น เป็นโครงการก่อสร้างกิจกรรมพิเศษในพระบรมวงศานุวงศ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง

งานปรับปรุง “พระที่นั่งวิมานเมฆ” เฉพาะส่วนงานโครงสร้างชั้นใต้ดิน ได้แก่ งานรื้อถอนพื้นพร้อมโครงสร้างพื้น ผนังก่ออิฐเดิม คาน-เสาคอนกรีต เสริมเหล็ก เสาเข็มไม้และงานระบบไฟฟ้า งานระบบสุขาภิบาล งานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ

ซึ่งการปรับปรุงจะต้องดําเนินการ ไปพร้อมๆ กับงานรื้อถอน โดยใช้เหล็กเพื่อเสริมค้ำยันโครงสร้างเดิมไปพร้อม ๆ กัน เพื่อรับน้ำหนักตัวอาคารเดิมระหว่างจัดทําโครงสร้างใหม่ ตอกเข็ม STEEL MICRO PILE ขนาด ๑๖๕.๒ มม. รับน้ําหนักปลอดภัย ๑๖ ตัน/ต้น ตอกแบบใช้อุปกรณ์เครื่องมือป้องกันการสั่นสะเทือน ดําเนินการดีดอาคาร ๘ เหลี่ยม ขึ้น ๓๐ เซนติเมตร พร้อมรื้อถอนโครงสร้างเดิมและจัดทําโครงสร้างใหม่

ดังนั้น ทุกคนไม่ต้องตระหนกตกใจไปว่าแค่ปรับปรุงแล้วไฉนต้องรื้อลงทั้งพระที่นั่ง อย่าแปลกใจไปเลย เพราะพระที่นั่งองค์เดิมก็ตั้งอยู่บนเกาะสีชัง จากนั้นก็ถูกรื้อลงแล้วย้ายมาสร้างไว้ที่พระราชวังดุสิตเช่นเดียวกัน

และการบูรณะครั้งนี้ไม่ได้ไปยุ่งกับงานสถาปัตยกรรมเลย งานหลักคืองานปรับปรุงโครงสร้าง โดยจะปรับปรุงโครงสร้างใหม่ วางระบบใหม่ พอโครงสร้างเสร็จ ก็จะประกอบพระที่นั่งกลับคืนเหมือนเดิม

แล้วที่มีบัญชีทวิตเตอร์หนึ่งสงสัยว่า “...แบบนี้มีโทษอะไรไหมคะ...” แอดมินขอตอบว่า ไม่มีโทษใดๆ เพราะ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ถือว่าเป็นสิทธิ์ชอบธรรมของพระองค์ การปิดหรือรื้อถอนองค์พระที่นั่งไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหามากกว่าคือ “การประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอ”




กำลังโหลดความคิดเห็น