วันนี้ (16 ก.ย.) คอนเทนต์ดีๆ ที่ให้สาระความรู้ที่แฝงไว้ด้วยความสนุก ถูกอัปโหลดขึ้นบน YouTube มากขึ้นทุกวัน หลายช่องมีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเจ้าช่องผสมกับความสดใหม่ของเนื้อหาสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของคนดู แต่การเป็น Content Creator ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากนั้น..คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินความตั้งใจ วันนี้ 3 ครีเอเตอร์บนช่อง YouTube อย่าง นิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท WHO IS YOUR SISTER เจ้าของช่อง “ormschool” (ออมสกูล) สรธร วัฒนามาลาชัย (ที) เจ้าของช่อง “คุยการเงินกับที” และ ณัฏฐ์ เต็งชาตะพันธุ์ (นัท) เจ้าของช่อง “Peanut Butter” (พีนัทบัตเตอร์) ที่จะมาบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ จุดเด่นและเทคนิคการทำช่องความรู้ให้น่าติดตามถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ช่องสายบันเทิงก็ตาม
“ormschool” (ออมสกูล) ความรู้ดีดีที่ฟรี ไปถึงทุกคน
นิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท WHO IS YOUR SISTER เจ้าของช่อง “ormschool” (ออมสกูล) เล่าจุดเริ่มต้นการเกิดช่องว่า “ormschool” มาจากความต้องการที่อยากให้ความรู้ดี ๆ ไปถึงทุกคนได้ฟรี จึงเลือกทำคอน เทนต์ความรู้ด้านวิชาการ เพราะมองว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตนักเรียน นอกเหนือจากความ+บันเทิง
“ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจยอดวิวคนดูเท่าไรเลย ไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าหนึ่งคลิปจะมีคนดูเท่าไรเพราะว่าเพียงหนึ่งวิวที่เราช่วยน้องสักคนได้ โดยการส่งความรู้ผ่านทาง YouTube ก็มีค่าพอในตัวเองอยู่แล้ว จุดเด่นของคอนเทนต์ในช่องที่แตกต่างจากช่องอื่น ๆ เพราะเราเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีอะไรยากแต่เราขาดคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจง่าย และก็ใส่สิ่งที่เรียกว่าคำอธิบายที่เข้าใจง่ายลงไป และการสอนจะใช้ภาษาพี่สอนน้องมากกว่าเป็นทางการในห้องเรียน และเราคิดว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่นของช่องเราคือคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ”
อย่างไรก็ตามช่วงโควิด-19 คนไทยต้องอยู่บ้าน อัตราผู้ชมช่อง YouTube มากขึ้นก็มีผลกับ“ormschool” บ้างแต่ไม่มาก โดยจำนวนผู้ติดตามของช่อง ormschool ตอนนี้อยู่ที่ 216,000 คน ถือว่ามากพอสำหรับช่องที่ไม่เคยทำประชาสัมพันธ์ ไม่โฆษณาหรือทำการตลาดอะไรเลย เป็นช่องสำหรับคนที่แสวงหาความรู้เท่านั้น
สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น จะยังคงต่อยอดคอนเทนต์ที่เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงต่อไป เพราะความรู้เป็นสิ่งที่เรียนได้ไม่มีวันหมด โดยยังให้น้ำหนัก 99% เป็นความรู้ในการเรียนตั้งแต่ป.6 มัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย สอนทำการบ้านเป็นวิชาพื้นฐาน ฟิสิกส์เคมี ชีวะ คณิตอังกฤษ และสังคม ขณะเดียวกันก็จะเพิ่ม Live 1% เพื่อแนะนำการเรียนให้น้องๆ เนื่องจากพบปัญหาว่าพวกเขาต้องการคำแนะนำ
“คุยการเงินกับที” แค่เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ๆ
สรธร วัฒนามาลาชัย (ที) เจ้าของช่องคุยการเงินกับที ที่มีผู้ชมเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการเงินเพิ่มมากขึ้น บอกว่าหลังเกษียณตัวเองก็มาเป็นนักลงทุนอิสระ ได้เจอเพื่อนรุ่นน้องชวนทำ YouTube โดยบอกว่ามีหลายคนอยากเรียนรู้เรื่องการเงินแต่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร นั่นคือความคิดแรกที่ทำให้เขาเข้ามา และเลือกทำคอนเทนต์ด้านการเงินและเศรษฐกิจ สำหรับคนที่สนใจทางด้านการเงิน การลงทุน โดยมีจุดเด่นที่นำเนื้อหาทางการเงิน การลงทุน มาทำคอนเทนต์ให้เป็นเรื่องสนุกเข้าใจง่ายแทนการทำคลิปบันเทิงแบบที่หลายคนนิยม
“การเสพคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะคำว่าคลิปและความบันเทิงมันไม่ใช่แค่เราต้องไปดูคลิปตลกหรือละครที่มันสนุก สำหรับผมจะรู้สึกสนุกเวลาไปเจอคนเก่งๆ ผมได้พูดคุยในรายละเอียดลึกๆ คนที่สนใจเรื่องเดียวกันคือความสนุก สำหรับ “ช่องคุยการเงินกับที” ผมใช้คำว่าการเงินเพื่อที่จะไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง การเงินของผมประกอบด้วย Corporate finance Business การวิเคราะห์หุ้น การวิเคราะห์ธุรกิจ เราไม่ได้มองเห็นว่าต้องสร้าง Content ในออนไลน์อย่างเดียว ผมเองก็จะมีการสร้าง community สร้างกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันมีการให้ความช่วยเหลือ เหมือนกับไปเปิดสัมมนาฟรีกับเพื่อนๆ บ้าง ช่วยเหลือคนอื่น เช่น ผมเก่งการเงินเพื่อนผมเก่งธุรกิจ เพื่อนอีกคนหนึ่งเก่ง Business เขาก็จะมาสร้างเป็น community ให้หลากหลายทางออนไลน์ออฟไลน์ด้วย”
ที ยังกำหนดทิศทางช่องของเขาในอนาคตว่า จะเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเงินมากขึ้นโดยทำเป็น Content เชิงลึกมากขึ้น ด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในเชิงวิเคราะห์เจาะลึก นอกจากนี้ยังมีแผนไปร่วมกับช่องอื่นและหาคนที่อยู่ในบริบทเดิม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าการเงินมันอยู่ในทุกเรื่องของชีวิตเรา”
DIY and Creative Lifestyle ชีวิตธรรมดาจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป กับ Peanut Butter
ณัฏฐ์ เต็งชาตะพันธุ์ (นัท) สาวหวานที่มีความครีเอทีฟสูง ผู้หลงใหลงาน DIY and Creative Life Style เล่าจุดเริ่มต้นทำช่องของเธอว่า มาจากการได้ดูคลิปของคนอื่นแล้วอยากทำบ้าง จึงเริ่มเก็บเงินซื้อกล้องเอามาลองถ่ายเองดูค่ะ จนกลายเป็นช่อง Peanut Butter ผลงานแรกๆจะเป็นเรื่องความสวยความงาม แต่ทำให้ทำได้สักพักก็ลองเปลี่ยนเนื้อหาเป็นการใช้เครื่องเขียนต่าง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ผลคือเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น
คอนเทนต์ของนัทมีจุดเด่นที่เน้นให้ความรู้ สอนเทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการสอบ การจด ในแบบของนัท โดยสื่อสารให้คนเข้าใจง่าย ดูสบาย ตามคอนเซ็ปต์ 3 สบาย คือสบายหู สบายตา สบายใจ สบายหูคือพวกเพลงซาวน์ฟังได้เรื่อยๆเพลินๆ สบายตา คือ สีคลิปพาสเทลละมุนๆ สามารถเอาไปปรับใช้ได้ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักๆคือ 18-24 ปี วัยเรียนจนถึงวัยทำงานตอนต้น
นอกจากการนำความรู้ การเรียนหรือใช้ชีวิตธรรมดา หรือ DIY and Creative Lifestyle มาสร้างคอนเทนต์บน YouTube แล้ว เธอยังพยายามจะนำเสนออะไรใหม่ๆ มากขึ้น เริ่มหาความรู้จากข้างนอกโดยให้ผู้เชี่ยวชาญสอนแล้วเราก็เอาออกมาทำเป็นคอนเทนต์เพื่อถ่ายทอดไปให้ผู้ชม ถือเป็นการต่อยอดจากตอนแรก เช่น พีนัทเอกซ์พลอร์ (Peanut Explore) ด้วยการทำ workshop สนุกๆ รวมถึง “พีนัทพาช้อป” เริ่มพาไปข้างนอกไปดูร้านเครื่องเขียนต่าง ๆ ไปหากิจกรรมอย่างอื่นที่เจ้าของช่องเองก็ไม่เคยทำ ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วก็เอามาถ่ายทอดให้คนดูอีกที โดยเริ่มต่อออกไปข้างนอกมากขึ้น อย่างพวก workshop ทำเทียน การเขียน Calligraphy กิจกรรมอะไรที่ยังเป็น mood and tone ของช่องต่อไป
จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่มียอดคนติดตามมากว่าแสนคน ทั้ง 3 ครีเอเตอร์ บอกถึงความภาคภูมิใจตรงกัน ว่า พวกเขารู้สึกดีใจที่คนดูบอกว่าสามารถเอาเทคนิคที่พวกเข้าได้ถ่ายทอดไปใช้ได้จริง ๆ ทำให้มีแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น