หน.ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา จุฬาฯ ชี้ข้อจำกัดพัฒนาวัคซีนในไทย ไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่บุคลากร ชี้ นักวิจัยมีจำนวนจำกัด ต่างคนต่างพัฒนาจนมีหลายตำรับ ก่อนหน้านี้ ช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาดก็พัฒนาวัคซีน แต่ผ่านไป 10 ปี ยังอยู่ในระยะที่ 3 ขาดการร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว
วันนี้ (11 ก.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ในหัวข้อ “โควิด-19 ข้อจำกัดในการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย” ระบุว่า สิ่งที่สำคัญของการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่ไปได้ช้า ไม่ได้อยู่ที่เงิน ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด องค์การอนามัยโลกให้เงินประเทศไทยและบราซิลมาเพื่อใช้ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และรัฐบาลลงทุนสมทบอีก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ซับซ้อน ตรงไปตรงมาไม่ได้มีเทคโนโลยีมากมาย เรามีการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และโรงงานก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว มากกว่าพันล้านบาท แต่ใช้ระยะเวลามาถึง 10 ปี การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของไทย เพิ่งเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3
ปัญหาอุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ของเรานักวิจัย มีจำนวนจำกัดมาก และยังแยกส่วน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ทำให้เจือจาง ไม่รวมกันเข้ามาให้เข้มข้นขึ้น การพัฒนาวัคซีนป้องกัน โควิด 19 ในประเทศไทยจึงมีหลากหลายตำรับมาก แต่ละตำรับต้องใช้ทรัพยากร ที่มีจำนวนจำกัด ทั้งทางด้านบุคลากรและสถานที่ และการจัดสรรเรื่องของเงิน ก็จะทำให้ถูกเจือจังลง ประเทศไทยดีมากที่มีผู้บริจาคสมทบเป็นจำนวนมาก การพัฒนาวัคซีนตั้งแต่เริ่มต้น จะต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูง GLP การทำทุกอย่างมีกฎระเบียบตามมาตรฐานสากล GMP และจริยธรรมในการศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ สถานที่ จึงอยู่กระจัดกระจาย ไม่ได้รวมกันหรือประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ในทรัพยากรที่จำกัด
ในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด ทุกคนก็คิดที่จะทำวัคซีน แต่ขณะนี้เลยมาถึง 10 ปี ก็ยังอยู่ในระยะที่ 3 ในการศึกษาวิจัยในมนุษย์ ถ้ามองย้อนไปในอดีต ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ตัวเงิน แต่ขาดการร่วมแรงร่วมใจให้เป็นหนึ่งเดียว ในการช่วยพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ ในระยะแรกมีวัคซีนหลายตำรับเช่นกัน มีทั้งเชื้อเป็น และเชื้อตาย เราเดินผิดทางตอนต้นที่พัฒนาเชื้อเป็น แล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นเชื้อตาย ที่ใช้ไข่ เมื่อมาจนถึงปัจจุบัน เราพัฒนาวัคซีนเป็นแบบ 3 สายพันธุ์ แต่ทั่วโลกใช้แบบ 4 สายพันธุ์ เราพัฒนาวัคซีนที่ใช้ไข่ที่ทำมาในอดีตมากกว่า 30 ปี ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนจากไข่ มาเป็นเซลล์ culture เซลล์ที่ทำได้ง่ายกว่าในการเลี้ยงไก่ ทำให้เราตามไม่ทัน เราขาดความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ทำนองเดียวกัน วัคซีนโควิด-19 น่าจะใช้บทเรียนจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 และอุปสรรคในการพัฒนาวัคซีนในอดีต