ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์กฎหมาย 3 ฉบับ จัดตั้ง “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ขึ้นมาใหม่ รับผิดชอบคดีไซเบอร์ทั่วราชอาณาจักร หลังคดีพุ่งหลายพื้นที่ และโครงสร้างเดิมไม่เอื้ออำนวย ใช้อาคารสอบสวนกลางแห่งใหม่ เมืองทองธานี เป็นสำนักงาน
วันนี้ (10 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563, กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2563 และ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2563 โดยพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นับเป็นการจัดตั้งกองบัญชาการใหม่อีกครั้ง ต่อจากกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา
สำหรับโครงสร้างองค์กรของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบด้วย 1. กองบังคับการอำนวยการ ประกอบด้วย ฝ่ายธุรการและกำลังพล, ฝ่ายยุทธศาสตร์, ฝ่ายส่งกำลังบำรุง, ฝ่ายงบประมาณและการเงิน, ฝ่ายกฎหมายและวินัย, ฝ่ายกิจการต่างประเทศ และฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ 2. กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1-5 แต่ละกองบังคับการ ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ, กองกำกับการ 1-4, กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ และกลุ่มงานสอบสวน 3. กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ, กลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล, กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์, กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต
สำหรับอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แก่ 1. เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผนควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและหน่วยงานในสังกัด 2. ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร 3. ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 4. ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ สนับสนุนส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นในการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีความรู้ ความสามารถในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
5. ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ และวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี 6. ดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานต่างๆ 7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปราม และงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 8. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย
พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดให้เขตอำนาจการรับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร โดยมีสถานที่ตั้งคือ อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแห่งใหม่ เมืองทองธานี ถนนป๊อบปูล่า ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แบ่งเป็นกองบังคับการ 1 รับผิดชอบพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการ 2 รับผิดชอบพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1, ภาค 2 และภาค 7 (ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก), กองบังคับการ 3 รับผิดชอบพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองบังคับการ 4 รับผิดชอบพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 และภาค 6 (ภาคเหนือ) และกองบังคับการ 5 รับผิดชอบพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 (ภาคใต้) ส่วนกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล, กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์, กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต มีเขตอำนาจการรับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เหลือเพียง ฝ่ายอำนวยการ, กลุ่มงานฝึกอบรมทางเทคโนโลยี, กลุ่มงานอินเทอร์เน็ต, กลุ่มงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี และกลุ่มงานตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานทางเทคโนโลยี เท่านั้น โดยเป็นการแยกกลุ่มงานวิจัยพัฒนา และกลุ่มงานฝึกอบรมออกจากกัน ขณะที่กลุ่มงานตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี คาดว่าส่วนหนึ่งจะย้ายไปอยู่ในกองบัญชาการที่ตั้งขึ้นมาใหม่แทน
สำหรับเหตุผลในการก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลอย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นช่องทางให้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ และมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตามกฎหมาย กระทบสิทธิของผู้อื่น หรือความมั่นคงของประเทศ ซึ่งโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวมีความซับซ้อนและกระจายอยู่หลายพื้นที่ รวมทั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สมควรจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งแก้ไขอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อรองรับภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลงไป