xs
xsm
sm
md
lg

สื่อถึงยุค “สังคมโครงข่าย” แนะหาสมดุลเสรีภาพ-รับผิดชอบ ผลักดัน “สื่อน้ำดี” เปลี่ยนแปลงสังคม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวทีเสวนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อนุกรรมการจากกองทุนสื่อฯ ระบุ ต้องเข้าใจหลักการดำเนินชีวิต ตระหนักรู้เท่าทันสื่อ เชิดชูสื่อน้ำดีไล่น้ำเสีย สร้างสิ่งดีงามในสังคม ชี้ ยุคนี้เด็กสื่อสารเป็นเน็ตเวิร์ก ถึงยุคสังคมโครงข่ายปะทะกัน ปัจเจกอย่างเดียวรับมือทัวร์ลงไม่ได้ อีกด้านแนะบทบาทวิชาการต้องชี้นำสังคม ยืนยันความถูกต้อง

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ในการเสวนา เรื่อง “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เรื่อง การเฝ้าระวังและการประเมินสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับสถาบันอุดมศึกษา 24 แห่ง และการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือการเฝ้าระวัง และการประเมินสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดขึ้นโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ณ โรงแรมบันยันทรี ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า นิยามของคำว่าสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ทำให้เกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในอดีตที่ผ่านมาเด็กได้ดูสื่อที่ปลอดภัยแต่ไม่สร้างสรรค์ ดูแล้วน่าเบื่อเพราะไม่มีนวัตกรรม อาจจะเป็นนวัตกรรมทางความคิดหรือสื่อที่ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยสื่อไม่ปลอดภัย เรากังวลเรื่องเพศ ภาษาความรุนแรง แต่ความสร้างสรรค์เกิดขึ้นตั้งแต่การคิด วิเคราะห์ การจัดทำสื่อ การเขียนบท การจัดทำเอฟเฟกต์ การตัดต่อ

โดยขั้นตอนมาจากการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ มีทั้งระดับที่รุนแรง ระดับที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เช่น ประเภท ท. รายการทั่วไป ประเภท น.13 เป็นรายการที่ผู้ใหญ่แนะนำ และประเภท ฉ. เป็นรายการเฉพาะไม่เหมาะให้เด็กดู ซึ่งมีในต่างประเทศเวลาไพรม์ไทม์ แต่ในประเทศแม้จะจัดระดับความเหมาะสม แต่มาถึงปีนี้คงไม่ได้ผล เพราะมีสื่อเข้ามามากมาย เช่น ยูทูป เด็กสามารถชมย้อนหลังได้ หรือในช่องทางต่างๆ เป็นฟาสต์แทร็กที่เด็กเข้าไปดู ทำให้สิ่งที่กำหนดไว้ในอดีตซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คือ วัฒนธรรม การที่จะทำให้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แบบยั่งยืน คงเริ่มต้นจากตัวคน คือ ผู้ผลิตที่ตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันสื่อ จากคนที่มีประสบการณ์ก่อนบอกเด็กหรือผู้ใหญ่ว่า อะไรดูได้ ดูไม่ได้ ซึ่งจะมาเกี่ยวข้องกับการประเมินสื่อ บางคนอาจจะไม่เชื่อว่าทำสื่อสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ต้องปลอดภัยด้วย แต่การทำสื่อปลอดภัยเฉยๆ ธุรกิจก็อาจจะเสียหายได้เพราะไม่มีโฆษณา ไม่มีใครอยากดู

”สมัยก่อนที่รณรงค์ร่วมกับสื่อ สื่อก็จะโจมตีว่า ละคร ภาพยนตร์ หรือสื่อต่างๆ ไม่ใช่แกงจืด จะให้ปลอดภัยเป็นกระดาษขาวเลยไม่ได้ แต่จริงๆ เราไม่ต้องการตรงนั้น เข้าใจในเรื่องของวิถีชีวิตที่มีทั้งบวกและลบ แต่การนำเสนอต้องมีนวัตกรรมในเชิงความรู้ ว่าจะทำภาพยังไงให้ดูแล้วจากเรื่องราวเป็นลบกลายเป็นบวกก็ได้ หรือการจินตนาการให้เกิดสังคมที่ดีก็ได้ อยู่ที่ความคิดและการรับผิดชอบต่อสังคม” น.ส.ลัดดา กล่าว


น.ส.ลัดดา กล่าวว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าบัญญัติศีล 5 ไว้ จะเห็นว่าสื่อไม่ปลอดภัยคือการย้อนแย้งกับศีล 5 ทั้งหมด ภาพที่รุนแรงเราไม่ควรนำเสนอ อย่างเพศ ภาษา ความรุนแรง ก็อยู่ในการละเมิดศีล 5 ทั้งนั้น เราทำให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อเยาวชน และเด็กที่จะต้องเติบโตต่อไปในปัจจุบันและอนาคต ทุกวันนี้จะเห็นว่าเด็กก้าวข้ามหลักในการดำเนินชีวิต ก่อนที่จะดำเนินการผลิตสื่อ ถ้าไม่เข้าใจหลักการดำเนินชีวิต ถือเป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ของผู้ผลิต อาจารย์ผู้สอนจะต้องชี้สิ่งที่ดีงามให้กับเด็กในฐานะผู้บริโภค จากวันนี้เราอยากเห็นสื่อที่ดี มีคุณภาพ ส่งเสริมประสบการณ์ วิถีชีวิตในเชิงบวก และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตั้งแต่วิธีการคิด วิธีการเล่าเรื่อง มองไปถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องเติบโตและพัฒนาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต และผู้บริโภคที่อาจจะกลับมาเป็นผู้ผลิต ถ้าขาดหลักในการดำเนินชีวิต หรือความตระหนักรู้ความเข้าใจในการเสพสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ จะมีโทษกับสังคมอย่างไร

ทั้งนี้ อยากเห็นการเติบโตของการรู้เท่ากันสื่อของคนในสังคม การเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่ง แต่อาจารย์มีเด็กอยู่ในมือ ถ้าได้เรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ก็เป็นสื่อสารมวลชนที่ดี เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในอนาคต เนื่องจากกองทุนฯ มีกฎหมายที่จัดทำขึ้น คนมักจะเข้าใจว่าการเฝ้าระวังเป็นมือปราบฯ แต่ตนเปรียบเหมือนแพทย์ที่ตรวจพบเชื้อโรคแล้วให้วัคซีน แต่จะเฝ้าระวังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีการทำสื่อที่ดี มีความฝันว่าสื่อของประเทศไทยจะไปขายในต่างประเทศได้ เพื่อให้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยและเรียนรู้สิ่งที่ดี อยากให้เด็กไทยมีการ์ตูนดีๆ ดู และไม่เฉพาะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ศาสตร์แขนงอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยสามารถทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ ส่วนอุตสาหกรรมสื่อ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และทำตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งตอนนี้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว และมีคณะกรรมการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี เราจะเข้าไปเติมเต็มในสิ่งที่สังคมขาดไป ถ้าได้ผนึกกำลังกัน เชื่อว่าไม่นานสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ดีงามจะหมดไป


ถึงปีนี้เราพัฒนามาไกลมาก วันนี้มีกระทรวงดิจิทัลฯ และมีข้อบังคับมาตรการทางกฎหมาย สมัยก่อนมีแค่เสนอสื่อลามกปรับ 500 บาท วันนี้ถึงจุดที่ตำรวจเข้าใจแล้ว เพราะให้ดูมาตรการเชิงรุกในการแก้กฎหมาย ยังไงกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอาวุธ ไม่มีกลไกและมาตรฐานทางสังคม ทุกคนก็จะวิ่งนอกลู่กัน เรามีกลไกบังคับให้อยู่ในลู่ สังคมต้องให้โอกาส ค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนา ตอนนี้การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมหรือเฝ้าระวังสื่อไม่ต้องไปวิ่งจับ ทุกคนร้องเรียนกันเอง เรามีพลัง มีม้าเร็ว และอนุฯ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ กองทุนฯ กลายเป็นเศรษฐีหาคนดีๆ มาช่วยทำสื่อดีๆ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ส่วนผู้ผลิตนั้น นอกจากจะขาดทุนทรัพย์แล้ว สิ่งที่อยากได้คือการยกย่องเชิดชูเกียรติ จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ คนที่ทำสื่อดีเราก็ไม่ทอดทิ้ง ให้รางวัลเกียรติยศชมเชย ส่วนคนที่ทำสื่อไม่ดี ก็ให้สังคมบอยคอตไป ท้ายที่สุดสื่อน้ำดีจะเพิ่ม ค่อยๆ ไล่น้ำเสียออกไป เมื่อทำงานมาตอนแรกๆ เราเห็นภาพที่ไม่ดีจำนวนมาก กระทั่งค่อยๆ จัดการไป ตอนนี้ถึงเวลาที่วิ่งไล่จับก็เหนื่อย เราสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม เพื่อที่จะอยู่กับสังคมที่ดีงาม ในระบบนิเวศสื่อที่ดี

นายพนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สื่อมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในอดีตมีการพูดถึงสื่อน้ำดี น้ำเน่า และพยายามจะทำกันมาตลอดแต่ไม่ง่าย และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กองทุนฯ เริ่มต้นมาประมาณ 6 ปี ตั้งหลักและจัดทำระบบภายในอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้ค่อนข้างจะมั่นใจว่าเราน่าจะเริ่มต้นได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เรามอง งานของเราตอนนี้มีอยู่ 3 เฟส ในการสู้กับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น ก่อนการผลิต ระหว่างการผลิต และหลังการผลิตแล้ว ซึ่งเกี่ยวพันกับการให้รางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกิดคำตอบและการป้อนกลับว่าสื่อดีหรือไม่ดี สร้างขวัญและกำลังใจ แต่เป็นเพียงส่วนเดียว เพราะยังมีส่วนอื่นด้วย เช่น การศึกษาความต้องการของคน ปัญหาของสื่อ หรือในเชิงวิชาการ ทำอย่างไรถึงจะดี

“บางทีถ้าปล่อยให้เป็นธรรมชาติ สังคมก็เปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้วถ้าเปรียบอุปมาอุปมัยกับอาหาร ภาคอีสานมีปัญหาโรคมะเร็งตับซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ มาจากกินปลาดิบ เราก็กินก้อย มันแซ่บ มันอร่อย แต่มันมีพิษมีภัย เวลาเราเปลี่ยนแปลงคน คนมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่าย โดยเฉพาะของที่เข้าทางปากมันเปลี่ยนยาก ความสวยความงามต่างๆ ทุกวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันไป มันจะมีสิ่งที่มนุษย์ทุกคนดูเหมือนกันไม่ได้มากมายอะไรนัก ตรงนี้เป็นความเคยชินที่เราต้องทำ เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องเปลี่ยน” นายพนา กล่าว


นายพนา กล่าวว่า เวลาทำงานตรงนี้ สังคมใหญ่โตมาก ไม่ได้คิดว่ากองทุนฯ จะทำอะไรได้มากมาย ในแง่ของกองทุนฯ หรือพันธมิตรอย่าง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถ้าพวกเราทุกคนออกแรงร่วมกัน ช่วยกันก็ทำได้ ถ้าสังเกตตอนนี้เด็กสื่อสารเป็นโครงข่าย ในยุคนี้เป็นยุคของเน็ตเวิร์ค ถ้าสื่อสารกันมันไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง มันเป็นทั้งโครงข่าย เวลาปะทะกัน โครงข่ายปะทะกับโครงข่ายได้ แต่ถ้ามองเป็นปัจเจก เป็นคนใดคนหนึ่งไม่สามารถรับมือได้ ถ้ากระทบกับโครงข่ายเปรียบได้กับทัวร์ลง รับมือไม่ไหว เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ในยุคนี้เป็นยุคสังคมโครงข่าย ในทางวิชาการเรียกว่า เน็ตเวิร์ก โซไซตี (Network Society) บางทีนักวิชาการก็ทำเน็ตเวิร์ค อะนาไลซิส (Network Analyst) เป็นพวกยุคใหม่ที่กำลังจะมา ตรงนี้การเข้ามาร่วมมือกัน ทำงานด้วยกันตรงนี้จะมีส่วนช่วยให้เราเข้มแข็งมากขึ้น

มหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ถือเป็นพันธมิตรทางวิชาการ แต่บทบาทนักวิชาการที่สำคัญคือการชี้นำสังคม ยืนยันความถูกต้อง เผยแพร่แนวคิด ต้องแยกความเป็นครูกับนักวิชาการ แม้ครูจะสำคัญมาก แต่นอกจากการสอนแล้ว การเป็นนักวิชาการต้องค้นคว้า ต้องหาสิ่งที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า เวลาที่สอนหนังสือเรามักเห็นนักวิชาการสมาทานกับคนที่ทำสื่อ แต่การเป็นอาจารย์ยืนอยู่บนทฤษฎี จะต้องมีคุณค่า ซึ่งนักวิชาการจะต้องคิดค้น และไม่ควรหยุดนิ่ง ต้องชี้นำและเผยแพร่ออกไป ในอดีตสื่อไม่เปิดโอกาส ถ้าสื่อไม่เอาไมค์มาก็ไม่ได้พูด บางทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดก็ไม่สัมภาษณ์ แต่เดี๋ยวนี้เป็นยุคของโซเชียล ทุกคนเป็นสื่อได้ ไม่ต้องรอแพลตฟอร์มอื่น อาจารย์เป็นแพลตฟอร์มได้ ถ้าสื่อโซเชียลฯ มีผู้ติดตาม 3 แสนคน ถือว่าเยอะกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้ว ซึ่งก็มีอาจารย์พยายามทำอยู่ พวกเราทุกคนถ้าช่วยกันทำ แทนที่จะรับจากคนอื่น รับมาได้แต่ต้องสังเคราะห์และสร้างขึ้นมาใหม่ และต้องชี้นำออกไป ถ้าอะไรไม่ถูกต้องก็ต้องพูดกับสังคม ความเป็นเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ ยุคนี้แนวความคิดเป็นการปะทะกันระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย ในระดับประชาคมโลกที่แสวงหากลุ่มต่างๆ ก็เป็นสร้างเครือข่ายระดับประเทศและระดับชาติ การใช้สื่อก็สามารถมีเครือข่ายได้

“ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนเร็วมาก สื่อเมื่อก่อนไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ มีสคริปต์ยังไงก็สอนกันมา ตั้งแต่ยุควิทยุโทรทัศน์แรกๆ แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ผมยังเคยมีคนมาให้อ่านงานวิชาการอยู่ ผมก็คอมเมนต์ออกไปเพราะสิ่งที่เขาเขียนมาเหมือนสมัยที่ผมเรียน แล้วมาของานวิชาการ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ มันเปลี่ยนไปเยอะ จนผมเหนื่อยที่จะวิ่งตาม แล้วคุณเป็นคนรุ่นใหม่ เอาของเก่าๆ มามันไม่ใช่” นายพนา กล่าว


ในตอนท้าย นายพนา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะถามก็คือ ปัญหาบ้านเราตอนนี้เป็นเรื่องเสรีภาพสื่อ หรือความรับผิดชอบสื่อ ถ้าเราเลือกผิด ก็จะผิดในเรื่องยุทธศาสตร์ใหญ่ ตนเห็นว่าทั้งสองส่วนต้องหาความสมดุลให้ดี ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่พยายามแก้ไขกันมาตลอดชีวิต แต่ในแวดวงสื่อเห็นว่าเรายังหาความสมดุลไม่ดี และความสมดุลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงฝากสถาบันการศึกษาไว้ตรงนี้ด้วย ส่วนหนึ่งที่บอกว่า ครั้งหนึ่งเราเคยพูดถึงการปฏิรูปสื่อ แล้วเราปฏิรูปครั้งใหญ่ ลองฉุกคิดดูว่าที่ปฏิรูปถูกไหม เราเคยบอกว่าทีวีจะต้องมีหลายช่อง แล้วมีเยอะเกินไป ตอนที่เราไปเรียกร้องเราต้องทำยังไง แล้วเราไม่ได้รับผิดชอบด้วย ทีวีเยอะกระทั่งที่เคยบอกว่าละครเป็นมหาอำนาจ วันนี้เราถูกละครต่างชาติเข้ามาเยอะ เพราะละครของเราไม่สามารถเข้มแข็งพอที่จะปะทะกันได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่การผลิตคุณภาพสู้ต่างประเทศได้ต้องมีเงินทุน และต้องการตลาดใหญ่พอสมควร เวลาทำตรงนี้ต้องเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้

ครั้งหนึ่้งเคยอยู่ในแวดวงโทรคมนาคม มีคนบอกว่าทำไมมือถือต้องผูกขาด 3 เจ้า อยากให้มีเยอะแยะ ตนเห็นทั่วโลกไม่มีประเทศไหนเกิน 5 เจ้า เจ้าหนึ่งกำลังตาย ที่มี 4 เจ้า เจ้าหนึ่งจะร่อแร่มากกว่าคนอื่น อยู่ด้วยความยากลำบาก จะมีอยู่ 2-3 เจ้าที่แข่งขันกันเท่านั้น ลักษณะของธุรกิจบางอย่างมีเยอะเกินไปไม่ได้ เพราะถูกจำกัดด้วยระบบของมัน ถ้าเราเรียกร้องให้มีการแข่งขันโดยไม่เข้าใจเราก็จะลำบาก เราเรียกร้องที่จะมีช่องข่าวเยอะแยะ ตนเคยบอกว่า ถ้าทุกคนทำข่าวออกมาดี มันก็จะเป็นข่าวเหมือนๆ กัน ที่แตกต่างไปหาแง่มุม จะหาได้เยอะแยะตรงไหน สถานีข่าวมี 7 สถานีมันไม่รอด แล้วก็ไม่รอดจริงๆ เราอยากให้มีสถานีเด็กและครอบครัว จะแข่งขันในเชิงธุรกิจได้หรือไม่ เพราะเด็กไม่มีกำลังซื้อ เวลาที่ให้เขาเกิดมาแล้ว เวลาที่เด็กกำลังดู ช่องวาไรตี้ทุกช่องก็มาทำรายการเด็ก เวลาเด็กนอนแล้วช่องวาไรตี้ก็ไป ตอนที่จะหารายได้ก็ถูกคู่แข่งเข้ามาเยอะ เวลาที่ไม่มีใครอยู่แล้วเขาก็ต้องเฝ้าตรงนี้ เพราะฉะนั้นการคิดที่จะให้มีเขาขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดี แล้วจะให้เขาอยู่ยังไง สนับสนุนอย่างไร และให้เขามาขอแล้วเราค่อยมาช่วยเขา บางทีตรงนี้ก็ไม่ใช่


นายวรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยไม่มีความตื่นตัวเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาในการผลักดันมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ รัฐมนตรีแต่ละคนพยายามผลักดันแต่ไม่สำเร็จ กระทั่งมีกองทุนฯ ขึ้นมา งานวันนี้ไม่ใช่แค่เชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนของสังคมที่มีพลังผลักดันเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะคณะนิเทศศาสตร์ สามารถรวมพลังภายใต้ความตั้งใจเดียวกัน ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เชื่อว่ากระทรวงฯ หรือมหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ ทำเรื่องวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม พอกองทุนสื่อฯ ตั้งขึ้นมาก็แบ่งงานกัน จากเดิมเป็นการให้ทุนอย่างเดียวฯ ก็มีอนุกรรมการทั้งสามในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีบทบาทต่างกัน เช่น การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เป็นด่านหน้าในการตรวจสอบและดูแล การสร้างเครือข่าย และส่งเสริมนวัตกรรมสื่อ ทำอย่างไรให้ผู้ผลิต หมายถึงลูกศิษย์ออกไปสร้างสื่อที่มีนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย

“นวัตกรรมสื่อ หรือ มีเดีย อินโดเวชัน (Media Innovation) คือสื่อที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากสิ่งเดิม ซึ่งมีคุณค่า เป็นประโยชน์ และกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้โดยง่าย ส่วนอีกสองนิยามซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการอ้างอิง คือคำว่า "นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" หมายถึง นวัตกรรมสื่อที่มีเนื้อหามุ่งเน้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดผลดีต่อสังคม ทั้งทางด้านศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและความมั่นคง ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ความรู้เท่าทันสื่อ การใช้ประโยชน์จากสื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม และไม่มีลักษณะของการเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ส่วนคุณลักษณะของนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แยกเป็น 4 ข้อ คือ 1. เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรือต่อยอดจากสิ่งเดิม 2. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณค่า และใช้ประโยชน์ได้จริง 3. มีเนื้อหาที่เหมาะสมต่อสังคม เป็นที่น่าสนใจ กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้โดยง่าย และ 4. ไม่มีลักษณะของสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์” นายวรัชญ์ กล่าว

อ่านประกอบ : สื่อน้ำดียังมีหวัง! กองทุนสื่อฯ จับมือ 24 มหาวิทยาลัยเฝ้าระวัง พร้อมเชิดชูเกียรติ “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”


กำลังโหลดความคิดเห็น