กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือ 24 มหาวิทยาลัย ลงนามเอ็มโอยูเฝ้าระวัง ประเมินสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” 10 ประเภทสื่อ 37 สาขา หวังสร้างความยั่งยืนให้กับสื่อน้ำดี พร้อมเปิดกว้างผู้ผลิตสื่อเสนอโครงการ
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมบันยันทรี ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เรื่อง การเฝ้าระวังและการประเมินสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 24 แห่ง โดยมี นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์, นายพนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และ นายวรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรรค์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกองทุนฯ และมหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการ พร้อมด้วยโครงการ “รางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”
นายธนกร กล่าวว่า แนวคิดของโครงการนี้มี 2 ประการ คือ การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และการประเมินสื่อต้นแบบที่เป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้สื่อที่ได้รับการประเมินได้นำไปสู่แรงจูงใจของการผลิตสื่อ นำไปสู่การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ซึ่งกองทุนฯ จะทำงานร่วมกันกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ลงนามในบันทึกข้อตกลง ต่อจากนี้จะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อไป โดยคณาจารย์ที่เป็นภาคีเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการในคณะนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งสอนทางด้านสื่ออยู่แล้ว จะทำหน้าที่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 10 ประเภทสื่อ รวม 37 สาขา และต่อยอดนำองค์ความรู้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปขยายผลในสถาบันการศึกษา ทั้งในมิติการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีการสื่อสาร และสาขาที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
ในภายหลัง นายอิทธิพล ให้สัมภาษณ์ว่า ในนามของกองทุนฯ ในวันนี้ได้มีการเชิญภาคีเครือข่ายโดยสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 24 แห่งทั่วประเทศ ลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการและการเชิดชูเกียรติสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งในยุคปัจจุบันสื่อมีผลต่อบริบทของสังคม มีการให้คุณ และเกิดความเสี่ยงในการให้โทษแก่สังคม หากเป็นสื่อที่ไม่ได้มีเนื้อหามาจากความจริง หรือมีการบิดเบือน ในนามกองทุนฯ จึงอยากเห็นการเชื่อมโยงโดยการนำศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ร่วมกันเฝ้าระวัง ที่สำคัญเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรที่เป็นอนาคตในการทำงานด้านสื่อต่อไป จึงถือว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้เป็นความสำคัญยิ่ง โดยคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์เป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงการตั้งคณะทำงาน อนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรรค์
ทั้งนี้ กองทุนฯ มุ่งเน้นให้เกิดสื่อที่เป็นสื่อดีให้กับสังคม คนทุกกลุ่ม ทุกวัยได้รับทราบข้อมูลที่เป็นความจริง ข้อมูลที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ นำไปต่อยอด ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถนำสื่อดีไปสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตสื่อ และผลผลิตของสื่อที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในความร่วมมือนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในตลอดปี 2563 จะดำเนินการเพื่อนำไปสู่การประเมินเชิดชูเกียรติสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำไปสู่ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากเครือข่ายทั้ง 24 สถาบัน โดยอนุกรรมการทั้ง 3 กลุ่มจะร่วมงานและสนับสนุน จึงฝากผู้ที่สนใจในการผลิตสื่อ ทางกองทุนฯ เปิดกว้างรับโครงการที่จะนำไปสู่การผลิตสื่อที่ดีต่อไป ในแต่ละปีจะมีการสนับสนุนทุนที่ทำให้เกิดผลงานที่สร้างสรรค์มาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
การเฝ้าระวังถือเป็นข้อปฏิบัติหรือประเด็นย่อยที่อยากให้ทุกคนร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ไม่ใช่เพียงแค่เครือข่าย 24 สถาบัน ผู้ชมสื่อสามารถเป็นผู้เฝ้าระวังสื่อไม่ดี เมื่อดูหรือรับทราบสื่อใดมาแล้ว ขอให้คิดวิเคราะห์ว่าเป็นข้อมูลที่เกิดจากความจริง หรือความสร้างสรรค์หรือไม่ ที่สำคัญ ดูแล้วถ้าไม่เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องบิดเบือนก็ไม่ต้องส่งต่อ ไม่ต้องแชร์ต่อ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารและกองทุนฯ อยากให้เกิดความตระหนักรู้และระบบนิเวศสื่อที่ดีต่อไป ขอบคุณทุกสถาบันการศึกษาที่ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน กองทุนฯ ในฐานะเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดสื่อดีได้ในสังคมไทย ฝากทุกคนร่วมกันเฝ้าระวังดูแลให้เกิดสื่อดีในสังคมได้
เมื่อถามว่า รางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความแตกต่างจากรางวัลอื่นอย่างไร นายอิทธิพล กล่าวว่า มีความแตกต่างตรงที่เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 24 แห่ง จะเป็นผู้เฝ้าระวัง มีการคัดเลือกและเชิดชูขึ้นมา เป็นการหยิบยกสื่อที่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเชิดชูเกียรติสื่อที่เกิดจากวัตถุประสงค์การเฝ้าระวังก่อน เดิมจะเป็นผลงานดีเด่นในแต่ละด้าน เช่น เนื้อหาสาระ หรือด้านเทคนิค คราวนี้จะเน้นองค์รวมของสื่อที่จะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนทำสื่อต่อไปได้ ถือว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมสื่อ โดยเฉพาะจากกองทุนฯ อยากจะเป็นอีกหน่วยงานที่สร้างตัวอย่างที่ดีของสื่อ และเป็นแนวทางและแนวคิดให้กับคนทำสื่อต่อไปได้ และอยากให้สังคมได้มีวิจารณญาณในการชมสื่อด้วย คิดว่าเป็นอีกหนึ่งในโครงการให้สังคมได้เห็น แม้การเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อยก็อยากให้รู้ว่าสื่อดีเป็นอย่างไร
อาจจะสร้างตัวอย่างที่มีคนทำสื่อดีๆ มากมาย ให้กำลังใจคนทำสื่อด้วยว่า ทำสื่อดีแล้วมีคนเห็น มีการเชิดชูเกียรติ ผลงานการทำสื่อต่อไปทำให้คุณภาพการทำสื่อดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนสามารถเป็นสื่อได้จากเครื่องมือการสื่อสาร แต่จรรยาบรรณวิชาชีพครอบคลุมได้เฉพาะที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น เราจึงต้องใช้บริบทของสังคมเฝ้าระวัง และร่วมกันการผลิต สื่อสามารถนำเสนอได้ในสองแง่มุม อยู่ที่วิธีการนำเสนอได้ทั้งในแง่มุมดีและมุมไม่ดี ก็อยากให้เกิดการนำเสนอแง่มุมดีๆ สร้างสรรค์ให้กับสังคม รางวัลนี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากก็น้อย แต่คิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อทำให้สื่อของเราเป็นสื่อที่ดีและทำให้เกิดประโยชน์ของสังคมบ้านเมืองด้วย ในการลงนามข้อตกลงจะเป็นระยะ 1 ปี แต่หลังจากนั้นจะมีการต่อเนื่องไปจากการทำงานร่วมกัน การลงนามเป็นการสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นที่ดี ความต่อเนื่องย่อมจะมีต่อเนื่องไปทุกปี
เมื่อถามว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในมุมมองของรัฐมนตรีเป็นอย่างไร นายอิทธิพล กล่าวว่า เริ่มต้นเกิดจากในแง่การนำเสนอเหตุการณ์ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เกิดจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าสื่อเกิดจากการให้ความรู้ การเก็บข้อมูลเป็นหลักฐาน ก็เก็บในแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เอาแง่มุมที่ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือเกิดความขัดแย้งในสังคม เราก็หลีกเลี่ยง ตนมองในมุมที่เป็นคนอ่านสื่อ ผู้ที่เป็นสื่อ และเป็นผู้ที่ผลิตสื่อในบางโอกาส อยากจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมว่า เรามาร่วมกันผลิตสื่อในแง่มุมที่ดี สีก็มีทั้งขาวและดำ เราก็เสนอในด้านสว่างดีกว่า ในเชิงไม่ดีนั้น อะไรที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องทำให้ปรากฎในสังคม แต่ในมุมที่นำเสนอแล้วเกิดการจุดประกายความคิด หรือการปฏิบัติต่อกันไปได้ในแง่มุมที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของความดีในสังคมน่าจะเกิดได้มากขึ้้นในสังคม ก็อยากให้รณรงค์กัน