นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชื่อดัง เผยเสียงสะท้อนจากคนสุโขทัย พูดถึงบางคนพูดแต่คำว่า “แม่ยมไม่มีเขื่อน” ไม่เคยโทษเขื่อนเรียงหินอัปยศ ถมแม่น้ำสร้างถนน แถมพนังที่ฮั้วมาไม่เรียบร้อย พบสัปดาห์ที่ผ่านมาปลุกกกระแสสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกรอบ แม้จะถูกคัดค้านนานถึง 30 ปี
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เสียงจากคนสุโขทัย ว่าใครสักคน ไม่เคยโทษ เขื่อนเรียงหินโครงการอัปยศที่ชุมชุนวังหิน บีบแม่น้ำให้แคบลง ไม่โทษโครงการถมแม่น้ำสร้างถนนหลังโตโยต้าถึงวัดไทยชุมพล ไม่โทษการถมน้ำมีขยายถนนสายหลังธนาคารกสิกรไทยจนถึงวัดศรีเศวต ไม่โทษพนังที่ลูกหม้อที่ฮั้วในการสร้างพนังกั้นน้ำที่ทำงานไม่เรียบร้อย พูดแต่ว่า “แม่ยมไม่มีเขื่อน” ไม่เคยบอกชาวบ้าน น้ำท่วม คือ มวลน้ำที่ มาจาก อ.เมืองแพร่ กับ อ.วังชิ้น ที่อยู่ใต้เขื่อน”
นอกจากนี้ นายศศิน ยังได้แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก Padung Yingpaiboonsuk ของ พล.ท.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข กรรมการเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ระบุว่า “เหตุจากน้ำท่วม น้ำแล้ง พะเยา แพร่ เขาพยายามแก้ปัญหาตนเอง สุโขทัยไม่ทำอะไรเลย ที่ทำ คือ 1. แก้มลิงบรรจุลม 2. คลองตันแต่มีอาคารอัดน้ำตัวละ 8 ล้านบาท ประมาณ 40 ตัว 3. ทำคลองทิ้งน้ำไปแม่น้ำน่าน คลองเอาน้ำให้ชาวบ้านไม่ทำ 4. พนังก้นน้ำในเมืองยกสูงๆ ให้น้ำท่วมเหนือเมือง ท้ายเมือง 5. ที่แล้งตอนหน้าฝนไม่สนใจ สนใจจ้องกันแต่ตรงน้ำท่วม ถ้ารัฐบาลมีมันสมอง ไม่สงสัยบ้างหรือว่ามันเกิดอะไรขึ้น ... เวรกรรม ... อย่าไปศึกษาให้เปลืองเงิน”
ข้อความดังกล่าว สืบเนื่องมาจากจังหวัดสุโขทัยประสบปัญหามวลน้ำในแม่น้ำยมเข้าท่วมในพื้นที่ อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองฯ และ อ.ศรีสัชนาลัย ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา รวม 4 อำเภอ 27 ตำบล 122 หมู่บ้าน โดยมวลน้ำดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 20 ส.ค. ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย ดินโคลนถล่ม และดินสไลด์ ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 11 จังหวัด
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามปลุกกระแสการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาใหม่ โดยเตรียมเข้าไปคุยกับกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเอาจริงเอาจัง หรือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ถึงกระนั้น นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ มองว่า หากจะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต้องถามชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และต้องศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำโจทย์เรื่องน้ำท่วมครั้งล่าสุดมานั้นไม่ถูกต้อง ต้องสังเคราะห์และวิเคราะห์ทุกมิติ เรื่องแก่งเสือเต้นพูดกันมานาน แต่ชาวบ้านไปไกลมากแล้ว อย่าดึงปัญหาให้ถอยหลัง ควรดูทั้งลุ่มน้ำและดูทุกมิติมากกว่า
สำหรับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น พื้นที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแแพร่ เป็นเขื่อนชนิดหินถมดาดคอนกรีต (Concrete Faced Rockfill Dam) สูง 69 เมตร พร้อมอ่างเก็บน้ำขนาด 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร เดิมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ภายหลังกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตั้งแต่ปี 2528 มีการศึกษาทั้งทางด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีหลายสมัย แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากองค์กรเอกชนและราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการมานานถึง 30 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ออกแถลงการณ์เสนอปิดตำนาน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และผลักดันการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน รวมทั้งที่ผ่านมามีแผนยุทธศาสตร์เรื่องน้ำในส่วนของลุ่มน้ำยม การบริหารจัดการน้ำโดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง แก้มลิง และโครงการทางระบายน้ำ ยม-น่าน รวมทั้งบางระกำโมเดลที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องคืนความสุขให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนและหวาดผวา กับโครงการเขื่อนที่จะมาทำลายป่าสักทองกว่า 30,000 ไร่ และทำร้ายวิถีชีวิตชุมชน ตำบลสะเอียบ ทั้ง 4 หมู่บ้าน กว่า 1,000 ครัวเรือน