xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเทวดา” ชี้ออกหมายจับ “บอส อยู่วิทยา” ข้อหา “เสพโคเคน” ซึ่งเป็นคดีเดิม กม.ไม่เปิดช่องให้ตำรวจทำได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทนายชื่อดัง ชี้ออกหมายจับ “บอส วรยุทธ” คดีเสพโคเคน กฎหมายไม่เปิดช่องให้ตำรวจทำได้ เหตุคดีเก่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีเสร็จขาดไปแล้ว หมายจับเดิมถูกถอนไปโดยผลของกฎหมาย

วันนี้ (26 ส.ค.) ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความชื่อดัง และปรมาจารย์ด้านกฎหมายแห่งเมืองไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ว่า คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ออกหมายจับ นายวรยุทธ ในคดีเดิมที่ยังไม่ได้ถอนหมายจับ โดยขอให้ศาลแก้ไขเพิ่มเติมในหมายจับและเพิ่มข้อหา “เสพโคเคน” ไม่มีกฎหมายรองรับให้ตำรวจทำได้ เพราะคดีเก่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเสร็จขาดไปแล้ว หมายจับเดิมเพิ่งถอนไปโดยผลของกฎหมาย

แม้ศาลยังไม่ได้ถอนหมายจับในคดีอัยการได้วินิจฉัยว่า เป็นเหตุสุดวิสัยและถือเป็นที่สิ้นสุดไปแล้ว หมายจับในคดีก็ต้องถูกเพิกถอนไปในตัว หมายจับ"จึงไม่มีผลตามกฎหมายอีกต่อไป การที่ตำรวจร้องขอให้ออกหมายจับเพิ่มเติมข้อหา “เสพโคเคน” ในคดีเดิมทั้งอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว มีแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่า เมื่อพนักงานอัยการหรือตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว จะกลับมาเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมเป็นคำสั่งฟ้องอีกไม่ได้ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 1821/2557

ประเด็นการเสพโคเคนเมื่อพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏความได้ว่า เป็นเพียงสารที่เกิดจากกระบวนการสลายตัว (Metabolite) ที่ทำการตรวจเลือดเพียงครั้งเดียว และไม่ใช่เกิดจากการได้รับสารโคเคนเข้าสู่ร่างกายโดยตรง และแม้จะพบสารโคเคนในร่างกายของ นายวรยุทธ ขณะขับขี่การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิด ฐานขับขี่เสพโคเคนตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2558 อยู่ดี

ความผิดฐาน “เสพยาเสพติด” ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไว้เป็นแนวทางว่าตำรวจจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาที่ 5377/2562 ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ตำรวจจะตั้งข้อหานี้ได้จะต้องมีประจักษ์พยานรู้เห็น หรือมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์การเสพ ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ต้องหาได้จำนนด้วยหลักฐานปรากฏในสำนวนจริงเท่านั้น ลำพังแค่รายงานการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหานั้น ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดว่าผู้ต้องหากระทำความผิดในข้อหา “เสพยาเสพติด” ซึ่งเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2544

ดร.สุกิจ กล่าวต่อว่า สังคมและสื่อมวลชนอาจจะบอกว่าไปไม่รอด เพราะศาลได้ออกหมายจับในความผิดฐานเสพโคเคนไปแล้วนั้น แต่ก็ต้องเข้าใจกระบวนการยุติธรรมของศาล เมื่อตำรวจอ้างว่าความผิดฐานเสพโคเคน เป็พยานหลักฐานใหม่นั้นศาลท่านก็ต้องรับเป็นคดีใหม่ ไม่ใช่ไปขอแก้หมายจับที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว อีกทั้งในคดีเสพสารเสพติด แม้จะไม่พบพยานหลักฐานในสำนวน แต่การที่ได้มีการสอบสวนพยานในความผิดดังกล่าว และพนักงานสอบสวนได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาไปแล้ว การสอบสวนพยานเพิ่มเติมจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

เหตุที่ศาลออกหมายจับนั้นเป็นเรื่องระหว่างตำรวจกับศาล นายวรยุทธ เพียงตกเป็นผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ตกเป็นจำเลย เมื่อกติกาต้องขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวน จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ทนายความของ นายวรยุทธ ต้องไปโต้แย้งถึงอำนาจการสอบสวน และการขอออกหมายจับของตำรวจว่ามีอำนาจ และปฏิบัติโดยชอบหรือไม่

“สังคมต้องเคารพในกติกาสากล ไม่ใช่กลดันการทำงานของขบวนยุติธรรม กฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น หากทำตามกระแสสังคมก็จะมีการแจ้งความไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คดีก็จะขึ้นสู่ศาลด้วยสาเหตุเดิมๆ เพราะถูกสังคมกดดันนั้น ย่อมกระทำมิได้” ทนายสุกิจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น