xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 ส.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.โรงเรียนราชินี ออกประกาศห้าม นร.เคลื่อนไหวการเมือง-ก้าวล่วงสถาบัน หากผู้ปกครองไม่พอใจ นำบุตรหลานลาออกได้!

สถานการณ์หลังสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศ (สนท.) แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้จัดชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ลานพญานาค มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งมีการเรียกร้อง 10 ข้อในลักษณะจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ผู้ชุมนุมที่เรียกร้องเกินเลย และในส่วนของผู้บริหาร มธ.ที่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ส่งผลให้ทางผู้บริหาร มธ.ต้องขออภัย แต่ยังไม่มีการรับผิดชอบใดๆ ต่อกรณีดังกล่าว ขณะที่ผู้ปราศรัยไม่เหมาะสมบนเวทีดังกล่าวบางคนเริ่มถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว เช่น นายอานนท์ นำภา ทนายความฯ และแกนนำกลุ่มปลดแอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำเยาวชนปลดแอก และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย

ต่อมา (16 ส.ค.) กลุ่มประชาชนปลดแอกได้จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมด้วย โดยช่วงหนึ่ง กลุ่มปลดแอกประกาศว่า ขอบคุณคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมในวันนี้ ขอประกาศว่า เราจะขอรวมกันผนึกกำลังเรียกร้องประชาธิปไตยดังเช่นที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องมาก่อน

วันเดียวกัน (16 ส.ค.) กลุ่มศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) หรือกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน นำโดยนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู ได้รวมตัวแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน แต่คนละฝั่งกับกลุ่มประชาชนปลดแอก ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน

นายสุเมธ กล่าวว่า พวกตนมาอย่างสันติ อหิงสา โดยเน้นจับตากลุ่มแฟลชม็อบคณะเยาวชนปลดแอกว่า มีการพูดหรือกระทำการไม่เหมาะสมหรือไม่ โดยส่งคนแฝงตัวเก็บหลักฐาน หากมีการกระทำไม่เหมาะสมจะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป ยืนยันว่า กลุ่มของตนจะไม่เคลื่อนตัวอย่างเด็ดขาด แม้จะถูกยั่วยุ เพราะมาด้วยใจ ไม่เกี่ยวการเมือง ไม่ได้มาปกป้องนักการเมือง การโจมตีรัฐบาล พวกตนไม่ยุ่ง แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับประเด็นที่มากไปกว่านั้น พวกตนยอมไม่ได้ “ผมขออยู่เฉพาะจุดนี้ ถ้าเคลื่อนตัวไปจากตรงนี้ แสดงว่าไม่ใช่พวกเรา คนไทยไม่ทำร้ายกัน เชื่อว่าเยาวชนถูกชักจูงให้หลงเชื่อโดยอาจารย์ที่ไม่ดี มีแนวคิดย้อนยุค... เรามาเพื่อปลุกความรักชาติ อยากให้บ้านเมืองสงบ ถ้าอีกฝ่ายหยุดการกระทำไม่เหมาะสม จะสลายตัว...” อย่างไรก็ตาม ภายหลังกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันได้ยอมยุติการชุมนุม หลังตำรวจประสานขอความร่วมมือ

ขณะที่เวทีกลุ่มปลดแอก ได้มีแกนนำหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำกลุ่มปลดแอกได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วย โดยยืนยันข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากเวทีชุมนุมที่ มธ.รังสิตเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

ด้าน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน กล่าวในที่ชุมนุมกลุ่มปลดแอกวันที่ 16 ส.ค.ว่า กลุ่มประชาชนปลดแอกไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อจากเวทีชุมนุม มธ.รังสิต กลุ่มประชาชนปลดแอกยืนยันจะเดินหน้า 3 ข้อเรียกร้อง คือ.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา และ 2 จุดยืนคือ ไม่เอารัฐประหารและไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ส่วนข้อเสนอ 10 ข้อที่ตนเองเคยนำเสนอก็จะเดินหน้านำเสนอในเวทีอื่นต่อไป

ทั้งนี้ วันต่อมา (17 ส.ค.) นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน พร้อมแนวร่วม ได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขอให้พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเพิกถอนการประกันตัวผู้ต้องหา 3 คน คือ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก และขอให้เร่งเอาผิดดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายอื่นๆ และผู้ร่วมสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำผิดละเมิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่มีนักเรียนนักศึกษาหลายสถาบันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชู 3 นิ้วต่อต้านเผด็จการ ก็มีหลายสถาบัน รวมถึงประชาชนที่รักชาติรักสถาบันออกมาปกป้องสถาบันเช่นกัน เช่น ที่ จ.เพชรบุรี นายสมพร ทัพนาค ประธานคณะอนุรักษ์นิยมแห่งชาติ นำชาว จ.เพชรบุรีและใกล้เคียง รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ประกาศจุดยืนปกป้องสถาบันและยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ เพื่อร้องเรียนและขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน กรณีมีบุคคลปราศรัยพาดพิงสถาบัน

ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี ออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ว่า มหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบศาลายา หากมีการกระทำโดยแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทางมหาวิทยาลัยขอแจ้งว่า มหาวิทยาลัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว

ขณะที่โรงเรียนราชินีได้ออกหนังสือประกาศเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ถึงผู้ปกครองนักเรียน โดยระบุว่า ขณะนี้มีการเรียกร้องทางการเมือง โดยอ้างประชาธิปไตยโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งมีนักเรียนของโรงเรียนราชินีเข้าร่วมการชุมนุมด้วย ทางโรงเรียนจึงขอชี้แจงดังนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2447 เพื่อให้กุลสตรีไทยได้มีโอกาสเล่าเรียน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนราชินี จัดการเรียนการสอนโดยยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พื้นที่โรงเรียนไม่เคยใช้ในทางการเมือง และไม่อนุญาตให้กลุ่มบุคคลใดมาใช้พื้นที่ ไม่ว่าจะอ้างเป็นขบวนการประชาธิปไตยอื่นใดในทางการเมือง เพราะโรงเรียนต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ปรากฏว่า ในช่วงเวลานี้มีนักเรียนหลายคนใช้พื้นที่โรงเรียนเพื่อประเด็นทางการเมือง มีความฝักใฝ่ขบวนการการเมืองนอกโรงเรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย สร้างความไม่สงบภายในโรงเรียน

โดยนักเรียนกลุ่มดังกล่าวกลับกระทำการที่ไม่เป็นหลักประชาธิปไตย ใช้วิธีข่มขู่นักเรียนอื่นที่เห็นต่าง ที่สำคัญก้าวล่วงสถาบันหลักของประเทศ ทำให้สังคมเข้าใจว่า โรงเรียนราชินี สนับสนุนการไม่มีสถาบันกษัตริย์ อันขัดต่อจุดยืนของโรงเรียน โรงเรียนราชินีจึงขอใช้สิทธิ์ไม่อนุญาตให้นักเรียนก้าวล่วงสถาบัน และกระทำการใด ที่ขัดต่อระเบียบโรงเรียน ไม่ว่าการเคารพธงชาติ ข่มขู่นักเรียนอื่น หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎระเบียบ หากผู้ปกครองไม่พอใจที่โรงเรียนแจ้งนี้ โรงเรียนยอมรับสิทธิ์ ที่จะนำนักเรียนลาออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ได้แถลงข่าวออกหมายจับ 6 แกนนำกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ประกอบด้วย 1.น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 2.นายภาณุพงศ์ จาดนอก 3.นายอานนท์ นำภา 4.นายณัฐชนน ไพโรจน์ 5.นายธนวัฒน์ จันผลึก (พิธีกร) 6.นายสิทธิ์นนท์ ทรงศิริ (พิธีกร) เนื่องจากมีผู้กล่าวโทษ และพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

วันต่อมา (20 ส.ค.) ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้ควบคุมตัวแกนนำกลุ่มปลดแอกที่ขึ้นเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ถูกจับกุมเพิ่มอีก 5 คน มาคุมขังก่อนส่งศาลฝากขัง ประกอบด้วย 1.นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ 2.นายเดชาธร บำรุงเมือง หรือฮอคกี้ แร็พเปอร์เพลงดังประเทศกูมี 3.นายธานี สะสม 4.นายทศพร สินสมบุญ และ 5.นายธนายุทธ ณ อยุธยา แร็พเปอร์วงอีเลฟเว่นฟิงเกอร์ ในความผิดเดียวกันฐานยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และอื่นๆ รวม 7-8 ข้อหา โดยก่อนหน้านั้น ตำรวจได้จับกุมนายบารมี ชัยรัตน์ นางสุวรรณา ตาลเหล็ก สมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย มาแจ้งข้อหาก่อนแล้ว ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ขอประกันตัวผู้ถูกจับกุม

ซึ่งต่อมา ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด โดยตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน


2.ก.อ. อุ้ม “เนตร นาคสุข” ไม่ตั้งอนุ กก.ตรวจสอบสั่งไม่ฟ้อง “บอส” ด้าน “สมยศ” ปัดเอี่ยวคดีบอส!

(บน) นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) (ล่าง) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นตอนการดำเนินคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เผยว่า ผลการประชุมสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้ ได้ไปถึงมือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เรียบร้อยแล้ว และว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ชี้แจงไปแล้วว่า ความบกพร่องเกิดตรงจุดไหน ขั้นตอนไหน ส่วนมีใครบ้างต้องรับผิดชอบในความบกพร่อง ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ผบ.ตร.ว่าจะมีการสั่งการอย่างไร ได้รับบทลงโทษมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าในเร็ววันนี้ น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน
วันต่อมา (19 ส.ค.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ เผยอีกครั้งว่า จะเสนอรายชื่อตำรวจ 20 นาย ส่งให้ ผบ.ตร.พิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนวินัย โดยพบตำรวจที่มีความบกพร่องเป็นชุดที่ทำสำนวนครั้งแรก 11 นาย และชุดหลังอีก 9 นาย ซึ่งใน 11 นาย มีผู้ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลไปแล้ว แต่คณะกรรมการมาตรวจสอบ ก็พบความผิดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดหลัง มีตำรวจตั้งแต่ยศ พล.ต.ท. พล.ต.ต. บางส่วนเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งผิดเรื่องการไม่ควบคุมสำนวนการสอบสวนให้เคร่งครัด ซึ่งต้องส่งให้กองวินัยพิจารณา ถ้าเป็นคดีอาญา หากอายุความยังไม่หมด ต้องดำเนินคดี หากยังรับราชการอยู่ ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และหากพบความผิดทางอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการสอบสวนทางวินัยจะส่งเรื่องไป ป.ป.ช. ถ้าไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ก็ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้เลย

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ที่ถูก พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีบอส อยู่วิทยา ระบุว่า เป็นผู้พานายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ที่อ้างว่าคำนวนความเร็วรถบอสว่าไม่เกิน 80 กม./ชม.มาพบ ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่นายกฯ ตั้งขึ้น โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดย พล.ต.อ.สมยศ ยืนยันว่า ไม่รู้จักนายสายประสิทธิ์ และตนไม่ได้อยู่เมืองไทยในช่วงดังกล่าว โดยตนเดินทางไปประชุมฟีฟ่าที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-28 ก.พ.2559 ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศ ได้นำไทม์ไลน์การเดินทางในช่วงดังกล่าวมอบให้คณะกรรมการด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ข้อมูลของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ถือเป็นเท็จหรือไม่นั้น พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ใครพูดอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ พล.ต.อ.สมยศ จะเข้าชี้แจงคณะกรรมการ 1 วัน นายวิชา ประธานคณะกรรมการสอบฯ ได้แสดงความเป็นห่วง พ.ต.อ.ธนสิทธ์ แตงจั่น โดยระบุว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ถือเป็นพยานสำคัญที่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย และควรจะได้รับความคุ้มครองในฐานะพยานจนไปถึงชั้นศาล

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันที่ พล.ต.อ.สมยศเข้าชี้แจงคณะกรรมการฯ ทางนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมการตามคำเชิญเช่นกัน โดยนายวงศ์สกุลได้หลบเลี่ยงนักข่าว จึงไม่มีโอกาสสัมภาษณ์แต่อย่างใด ซึ่งต่อมา นายวิชา เผยว่า นายวงศ์สกุลยืนยันว่า การสั่งการของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นการสั่งการโดยที่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้สั่งการคำสั่งเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของนายบอส นายวงศ์สกุล บอกว่า แม้ว่านายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด จะได้รับมอบอำนาจการดำเนินการเรื่องคดีอาญาในเขตของศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ว่าการสั่งโดยนายเนตร กระทบไปถึงกรณีการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องการสั่งในคดี จึงถามว่าคำสั่งของนายเนตรไม่ทับอำนาจกับนายสมศักดิ์หรือ เพราะเขาได้รับมอบอำนาจในการสั่งคดีนี้ อสส.ชี้แจงว่า เป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะกระบวนการในการสั่งร้องขอความเป็นธรรม ไปเกี่ยวพันกับคดีอย่างนี้ นายเนตรมีอำนาจโดยสมบูรณ์หรือไม่ คณะกรรมการฯ จึงขอร้องว่า หากเคยมีคดีลักษณะแบบนี้ ขอให้ช่วยส่งรายละเอียดคดีเหล่านั้นมาให้พิจารณาด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวทางด้านอัยการนั้น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ เรื่องการตั้งกรรมการสอบดุลพินิจของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต

นายอรรถพล เผยว่า ที่ประชุมมีการเสนอชื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เพื่อตรวจสอบดุลพินิจของนายเนตร ตนได้ทำเอกสารเสนอเข้าที่ประชุม พร้อมร่างคำสั่งจัดตั้งผู้ที่เป็นอนุกรรมการในการตรวจสอบ ผลการโหวต เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมไม่เห็นชอบ จึงตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ได้ โดยเหตุผลในที่ประชุม ก.อ.บางส่วนบอกให้มีการชะลอการตั้งอนุกรรมการดังกล่าวไว้ก่อน บางคนไม่มีการอภิปรายแต่โหวตไม่เห็นชอบ โดยมีมติเห็นชอบอยู่ 5 เสียง ส่วนที่เหลือก็มีไม่ออกเสียงและไม่เห็นชอบ จากทั้งหมด 15 เสียง ทั้งนี้ขั้นตอนในการโหวตดังกล่าว นายเนตรต้องออกจากที่ประชุม ส่วนเรื่องที่นายเนตรยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นรองอัยการสูงสุด ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเข้าสู่ที่ประชุม ก.อ. และการที่นายเนตรมาประชุม แสดงว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้อนุญาตให้ลาออก

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า แม้มติที่ไม่ตั้งอนุกรรมการจะจบแล้ว แต่ขณะนี้อัยการสูงสุดเองได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบอยู่คณะหนึ่งแล้ว ส่วนนั้นก็ยังดำเนินการต่อไปได้

รายงานแจ้งว่า อัยการเสียงข้างน้อยที่มีความเห็นให้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร 5 เสียง ประกอบด้วย นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน กอ. นายชาติพงษ์ จิระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ นายไพรัช วรปาณิ กอ.(คนนอก) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี นายชาตรี สุวรรณิน ผู้ตรวจการอัยการ

3.พบหญิงไทย 2 รายติดเชื้อโควิด-19 หลังพ้นระยะกักตัว 14 วัน คาดแค่ซากเชื้อ ไม่ระบาดรอบสอง ด้าน ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน!



เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ขณะนี้ทาง รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้ตรวจพบหญิงไทย 1 ราย ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นเข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โดยคนไทยดังกล่าวเคยทำงานที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนรายละเอียดรอกรมควบคุมโรคเป็นผู้แถลง
ซึ่งในเวลาต่อมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดแถลงพร้อมด้วย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย เป็นหญิงทั้ง 2 ราย ทั้งคู่เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อถึงประเทศไทยได้เข้าสถานกักกันโรคของรัฐครบ 14 วันแล้ว โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 34 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. โดยไม่มีอาการใดๆ และเข้าสถานกักกันโรคของรัฐครบ 14 วัน ตรวจเชื้อครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย แต่ผลถือว่าเป็น “ผลแล็บกำกวม”

ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย. ไม่พบเชื้อ เมื่อครบ 14 วัน จึงอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาที่ จ.ชัยภูมิ และต้องแยกตัวต่ออีก 30 วัน ต่อมาวันที่ 10 ส.ค. มีเหตุต้องเดินทางไปต่างประเทศ จึงเข้ารับการตรวจร่างกายและหาเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.รามาธิบดี เพื่อขอใบรับรองแพทย์ในการเดินทาง และเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ผลตรวจพบสารพันธุกรรมโควิด-19 ในปริมาณน้อย และเมื่อเจาะเลือดตรวจพบว่า มีภูมิคุ้มกันของโรค แพทย์จึงรับเข้ารักษาใน รพ.แล้ว สรุปว่า รายที่ 1 เป็นผู้ป่วยยืนยันรายเดิม และไม่ได้เป็นการติดเชื้อใหม่ พบเพียงซากเชื้อ ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค

ส่วนรายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 35 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. และเข้าสถานกักกันโรคของรัฐเป็นเวลา 14 วัน และผลการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ เมื่อพักในสถานกักกันโรคครบ 14 วัน จึงอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาที่ จ.เลย ต่อมาวันที่ 16 ส.ค. เดินทางเข้า กทม.ด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อเตรียมตัวไปทำงานต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจหาโควิด-19 ที่ รพ.รามาธิบดี เพื่อขอใบรับรองแพทย์ในการเดินทาง ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในปริมาณน้อย ไม่มีอาการป่วยใดๆ และทาง รพ.ได้รับเข้ารักษาในระบบแล้ว แพทย์ยังไม่มีการรักษาด้วยยา เนื่องจากยังไม่มีอาการป่วย และสังเกตอาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นการติดเชื้อในประเทศ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า “ที่มีโอกาสน้อย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทสมามากกว่า 80 วัน และมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกทั้งในน จ.ระยอง จ.สระแก้ว และพื้นที่อื่นๆ ทุกรายให้ผลเป็นลบ รวมถึงผู้เดินทางเข้าประเทศ จะต้องเข้าสถานกักกันโรคฯ ทุกราย โดยขณะนี้มีจำนวนผู้เข้าสถานกักกันโรคฯ สะสมรวมกว่า 8 หมื่นราย พบการติดเชื้อเพียง 400 กว่าราย ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะเป็นการติดเชื้อในประเทศ”

ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องได้มีการเช็กไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 2 ราย เพื่อตรวจคนที่สัมผัสใกล้ชิดว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดยยังไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด

ด้านที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายในเชิงป้องกัน เช่น การควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร การจัดทำระบบติดตามตัว การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคที่ครอบคลุมทุกกิจการกิจกรรม รวมถึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพ สามารถบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหารร่วมปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอตามภารกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมช่วงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยยืนยันว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีผลต่อการชุมนุมแต่อย่างใด

4.ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 10 ปี 4 ผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก ยกฟ้อง 5 จำเลยร่วม!


นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก สาขา 2
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก (WPU) ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง WPU ที่ จ.เชียงใหม่, นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาขา 2, นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัย WPU,นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการใน จ.เชียงใหม่ ดูแลเรื่องการเงิน, นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย, นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัยคนที่ 2, นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธิการบดี WPU สาขานนทบุรี, นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธิการบดี WPU สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและประธานฝ่ายนิติกร WPU และนางวัชราพร ป้องคำสิงห์ ดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จ.ขอนแก่น เป็นจำเลยที่ 1-9 ความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยมิชอบ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 รวมโทษทุกระทงความผิดของจำเลยทั้งหมดแล้ว ให้จำคุกทั้ง 9 คน คนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับใบปริญญา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละราย หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยที่ 1-6 ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 7-9 ไม่ยื่นประกันตัว

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า กรณีจำเลยที่ 5-6 มาร่วมรับปริญญาในภายหลังตามที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้ง และทำข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต อีกทั้งไม่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายให้มารับปริญญา จำเลยที่ 5-6 ปฏิเสธว่า มิได้ลงลายมือชื่อในใบปริญญา และแจ้งความดำเนินคดีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 5-6 พยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยตามสมควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 5-6

ส่วนจำเลยที่ 7-9 ในทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7-9 ทราบเรื่องที่มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง จะถือว่าจำเลยที่ 7-9 ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง หาได้ไม่ จำเลยที่ 7-9 ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงให้ไปรับปริญญากิตติมศักดิ์และแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง แต่อำนาจในการพิจารณาว่า จะให้ผู้ใดเข้ารับปริญญาขึ้นอยู่กับจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับอนุมัติและผู้เสียหายโอนเงินค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 7-9 ผ่านบัญชีจำเลยที่ 9 จะโอนเงินต่อไปให้จำเลยที่ 4 จากพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 7-9

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5-9 ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5-9 นอกจากที่แก้ เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 10 ปี

5.ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เพิ่มโทษจำคุก "เอมี่" ธิดาวานร คดีค้าไอซ์ ด้าน "อัจฉริยะ" แฉ "เอมี่" หนีไปดูไบตั้งแต่ปีที่แล้ว!


น.ส.อาเมเรีย หรือเอมี่ จาคอป และนายปุณยวัจน์ หรือพล หิรัณย์เตชะ
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ศาลอาญามีนบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการคดียาเสพติด เป็นโจทก์ฟ้องนายปุณยวัจน์ หรือพล หิรัณย์เตชะ อายุ 41 ปี และ น.ส.อาเมเรีย หรือเอมี่ จาคอป อายุ 29 ปี นางเอกสาวลูกครึ่งไทย-เนเธอร์แลนด์ อดีตนางเอกละครธิดาวานร และอดีตมิสทีนไทยแลนด์ ปี 2006 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน หรือไอซ์ และยาอี อันเป็นยาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อเสพและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีไอซ์ หนัก 70 กรัม และยาอี 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อเสพและจำหน่าย พร้อมเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิทัล อุปกรณ์ในการเสพ ขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังเสพยาเสพติดภายในห้องพัก ก่อนถูกตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 191 บุกเข้าตรวจค้น และจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 100/84 หมู่บ้านชัยพฤกษ์ ถนนสุขาภิบาล 5 แขวงออเงิน เขตสายไหม กทม.

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 25 ปี 4 เดือน 15 วัน ปรับ 750,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายใน 1 ปี และตรวจสารเสพติดทุกครั้ง รวมทั้งให้ร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้โทษจำคุก น.ส.อาเมเรีย หรือเอมี่ จำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1 ล้านบาท แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและในทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ 33 ปี 4 เดือน ปรับ 666,666.67 บาท

รายงานแจ้งว่า ก่อนหน้าที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ศาลเคยนัด น.ส.อาเมเรีย หรือเอมี่ จำเลยให้มาฟังคำพิพากษา แต่จำเลยไม่เดินทางมา จึงออกหมายจับ และนัดอ่านคำพิพากษาลับหลังเมื่อวันที่ 20 ส.ค.

ด้านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้โพสต์ผ่านแฟนเพจของชมรมว่า เอมี่-อาเมเรีย เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2562 แล้ว และจนถึงตอนนี้ยังไม่กลับมายังประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น