xs
xsm
sm
md
lg

“หมออารักษ์” โพสต์เตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบของอาการปวดท้อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ เผยเคสผู้ป่วยมีอาการปวดท้องและคิดว่าเป็นเพียงโรคกะเพาะอาหารอักเสบ แต่เมื่อส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร พบเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เฟซบุ๊ก “Arak Wongworachat” หรือ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความเผยเคสผู้ป่วยชายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยระบุว่า “ผู้ป่วยชายอายุเพียง 54 ปี 3 ปีที่ผ่านมามีอาการรู้สึกอาหารไม่ย่อย หรือรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เป็นๆ หายๆ ซื้อยากินเอง พบหมอตามคลินิก เข้าโรงพยาบาลบ้างเป็นบางครั้ง แพทย์แนะนำให้ส่องกล้องในกระเพาะอาหาร คนไข้ก็ผัดผ่อนเรื่อยมา

ต่อมาเริ่มเบื่ออาหาร ไม่อยากกิน พอกินแล้วจุก อาเจียนมีเลือดปนในบางครั้ง อยู่มาวันหนึ่งปวดท้องมากจนทนไม่ไหวต้องเข้าโรงพยาบาล แพทย์ให้นอนโรงพยาบาล งดอาหารและน้ำ นำเข้าห้องผ่าตัดเพื่อส่องตรวจในกระเพาะอาหาร พบว่ามีแผลขอบไม่เรียบ ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ อ่านผลมีเชื้อมะเร็ง และพบมีเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารร่วมด้วย จนนำมาสู่การวางแผนรักษาตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วนในที่สุด

เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการให้ท่านที่ติดตาม ใส่ใจสุขภาพ อย่าคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะอาหารอักเสบธรรดา ถ้าหากอาการที่เป็นไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีการย้อมสีที่เยื่อบุและการขยายภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้ รวมถึงการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา ทางโรงพยาบาลได้ขออนุญาตผู้ป่วยเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ ขอบคุณภาพจากทีมศัลยแพทย์โรงพยาบาลสิชล”

สำหรับ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง รวมถึงมีปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนี้ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

การติดเชื้อ Pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน สูบบุหรี่เป็นประจำ

โพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น