รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯ ชำแหละการเก็บข้อมูลคนว่างงานล้าหลัง ใช้มา 40 ปี ด้วยการสำรวจในรอบ 1 สัปดาห์ ถ้าคน 1 คน มีงานทำ 1 ชั่วโมง จะได้ตังค์หรือไม่ถือว่ามีงานทำแล้ว ทั้งที่ตัวเลขจริงพุ่งสูงกว่าหลายเท่าตัว จี้รัฐรีบแก้ปัญหาเด็กจบใหม่ตกงาน ถ้าช้าจะกลายเป็นตกงานถาวร เพราะทักษะที่เรียนมาหายหมด
วันที่ 19 ส.ค. 63 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เปิดความจริง ปัญหาว่างงาน โจทย์รัฐบาลประยุทธ์ 2/2”
โดย นายธนิต กล่าวช่วงหนึ่งว่า ตัวเลขว่างงานของเราไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราว กระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูล หลายๆ กระทรวงก็ไม่มี หน่วยงานที่เก็บข้อมูล คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เขาไม่ได้ทำเรื่องนี้เรื่องเดียว วิธีเก็บก็ใช้วิธีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งใช้กันมา 40 ปีแล้ว นิยามง่ายๆ ของเขา คือ ในรอบ 1 สัปดาห์ ถ้าคน 1 คน มีงานทำ 1 ชั่วโมง จะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ก็ถือว่าเป็นคนมีงานทำ นิยามแบบนี้ คนตกงานกลับต่างจังหวัดไปถอนหญ้า 1 ชั่วโมง ถือว่ามีงานทำแล้ว เวลาสำรวจก็เน้นเฉพาะต่างจังหวัด เพราะภาคเกษตรเยอะ แต่หลายประเทศใช้วิธีแยกเมือง กับภาคเกษตร ออกจากกัน แล้วก็นับคนต่างด้าวด้วย ทั้งที่คนต่างด้าวไม่มีงานทำ อยู่เมืองไทยไมได้อยู่แล้ว วิธีสำรวจต้องเปลี่ยนไหม
ตัวเลขว่างงานรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยังไง ก็ขึ้นลงอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขล่าสุดไตรมาส 2 อัตราว่างงาน 1.95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายปี แต่ตัวเลขที่มาที่ไปไม่ชัด หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยสบายใจกับตัวเลข เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ มิถุนายน ปีที่แล้ว คนมีงานทำ 38.38 ล้านคน ปีนี้ 37.4 ล้านคน ลบกันมีคนว่างงานราว 9 แสนคน ไม่ใช่ 7 แสนคน ตามที่คำนวณจาก 1.95 เปอร์เซ็นต์
นายธนิต กล่าวอีกว่า แรงงานในระบบ มาตรา 33 มีประมาณ 11.3 ล้านคน แล้วแรงงานส่วนใหญ่ของเราอยู่นอกระบบด้วย จึงไม่มีตัวเลขแน่นอน กระจัดกระจายอยู่ในภาคแรงงานต่าง ๆ อย่างแค่ภาคการท่องเที่ยว มีเกือบ 3 ล้านคน แต่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ บอกมีเกือบ 10 ล้านคน คิดว่าส่วนนึงคงเป็นพาร์ตไทม์เคลื่อนไปเคลื่อนมา พอมาโควิด นักท่องเที่ยวหายไป มันพลิกเลยนะ
อย่าลืมนักศึกษาจบใหม่ ประมาณ 5 แสนคน ต้องหางานให้ทำโดยเร็ว ส่วนหนึ่งทำงานไปแล้วประมาณ 1 แสนคน พวกนี้จังหวะไม่ดี จบมาช่วงโควิดพอดี ถ้าดูแลไม่ดีจะเป็นคนตกงานถาวร เพราะพื้นฐานเราก็ไม่ได้แข็ง ถ้าว่างงานนานทักษะที่เรียนมาจะไม่เหลือเลย เศรษฐกิจรอบนี้จะกลับมา ไม่น้อยกว่า 2 ปี แล้วปีหน้าจบมาอีก 5 แสนคน บวกกับที่อยู่ในสภาวะว่างงานอยู่แล้ว รวมกันสัก 2 ล้านคน
นายธนิต กล่าวด้วยว่า ประชุม ครม. ที่ผ่านมา มีการรายงานสภาวะทางสังคม โดยเอาเรื่องตกงานมาพูด ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ตนพูดมา 3-4 รัฐมนตรีแล้ว ว่าการแก้ปัญหาแรงงาน แก้โดดๆ ไม่ได้ พาณิชย์ส่งออกไม่ดี โรงงานปิดตัว การลงทุนไม่มา สถาบันการศึกษายังผลิตเด็ก 2.0 อยู่ แต่เราเป็น 4.0 แล้ว ฉะนั้นกระทรวงแรงงานต้องอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ รัฐมนตรีที่มาทำต้องแหลมคม
นอกจากนี้ กรมจัดหางาน กรมสวัสดิการฯ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังโควิดต้องปรับตัว ควรมีบทบาทมากกว่านี้ ตลาดแรงงานไม่เหมือนเดิม การลงทุนรอบใหม่จะไม่เหมือนเดิม ไทยอาจไม่ใช่สาวเนื้อหอมอีกแล้ว เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีผู้สูงวัยมากถึง 1 ใน 5 แล้วตอนนี้ แรงงานสูงวัยค่าแรงสูง ผลงานต่ำ การรับรู้ช้า ซึ่งเวียดนามเหนือกว่าเรา ทำงานได้มากกว่า รวมไปถึงเรื่องที่ดินแพง ระเบียบรัฐหยุมหยิม ฯลฯ