นักข่าวอาวุโส “ประวิตร” ตั้งคำถามเวทีม็อบธรรมศาสตร์ไม่ใช่ถูกๆ แหล่งเงินเอามาจากไหน เจออีกฝ่ายด่ากลับ กังขาจัดม็อบแสงสีเสียงราวละครเวที ลดทอนการต่อสู้ดูดัดจริต ด้าน “ใบตองแห้ง” ห่วงจัดใหญ่แบบเปิดหน้า เกินจำเป็น ล่อฝ่ายตรงข้ามมากไป กลัวกระทบการเคลื่อนไหววันข้างหน้าจะลำบาก และไม่รู้จะจบอย่างไร
จากกรณีที่กลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ปรากฏว่าในช่วงท้ายของการชุมนุมมีการเปิดคลิปของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง และออกข้อเรียกร้องพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทั่งนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ต้องประกาศขออภัยที่เนื้อหาการชุมนุมเลยขอบเขตไป ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (11 ส.ค.) รายงานข่าวระบุว่า นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ หรือข่าวสดอิงลิช โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @PravitR ระบุว่า ข้อสังเกตการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน คือ 1. เวทีแสงสี ทีมถ่ายทอดสดจ้างทีมมืออาชีพทำ ซึ่งไม่ถูก เงินจากไหน? ใช้แบบนี้คุ้มไหม? 2. กันแกนนำอยู่เต็นท์หลังเวที ห้ามสื่อถ่ายภาพ มี รปภ. ขอนักข่าวลงทะเบียนพิเศษ ทำให้นึกถึงม็อบ นปช. และ กปปส. 3. เด็กมัธยมปิดป้ายชื่อและโรงเรียน เพราะกลัวล่าแม่มด
ข้อสังเกต #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 1) เวทีแสงสี+ทีมถ่ายทอดสดจ้างทีมมืออาชีพทำ ซึ่งไม่ถูก เงินจากไหน? ใช้แบบนี้คุ้มไหม? 2) กันแกนนำอยู่เต็นท์หลังเวที+ห้ามสื่อถ่าย+มี รปภ.+ขอนักข่าวลงทะเบียนพิเศษ ทำให้นึกถึงม็อบ #นปช #กปปส 3) เด็กมัธยมปิดป้ายชื่อ+โรงเรียน เพราะกลัวล่าแม่มด #ป— Pravit Rojanaphruk (@PravitR) August 10, 2020
เมื่อมีผู้ติดตามถามกลับว่ามาตั้งคำถามเรื่องแหล่งที่มาเงินทุนในการจัดชุมนุม นายประวิตรตอบกลับว่า “ผมไม่เป๋ ตรวจสอบตั้งคำถามทุกฝ่าย ถ้าถามเรื่องเงินจัดแสงสีถ่ายทอดชุมนุม ความเหมาะสม ม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทนไม่ได้ ก็ไปร่วมกับฟาสซิสต์ หรือสนับสนุนมาตรา 112 ที่ไม่เอื้อให้สงสัยถาม...ดีกว่า ด่าดูถูกผมได้เต็มที่เลย ผมรีทวีตฝั่งเผด็จการ ด่ามาเยอะ แค่นี้สิวๆ และอีกนิด ถ้าฝ่ายที่อ้างตนว่าเรียกร้องประชาธิปไตย ทนไม่ได้กับคำถามตรงไปตรงมาของผมเกี่ยวกับแหล่งเงิน ความเหมาะสมในรูปแบบการใช้เงิน (บริจาค) เพื่อจัดงานม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน คนที่เป๋คงไม่ใช่ผมหรอก เพราะสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงย่อมเห็นค่าคำถามและความเห็นต่าง”
นายประวิตรยังกล่าวอีกว่า “ภาษาอังกฤษมีคำว่า Mob mentality หรือความคิดแบบเป็นม็อบที่คนหมู่มากคิดว่าพวกตนผูกขาดความจริงความถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว สูญเสียความเป็นปัจเจกจนกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหมู่มาก” และบางช่วงบางตอนระบุว่า “ถ้าใครคิดว่าไล่ประยุทธ์เสร็จ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมาตรา 112 แล้ว ไทยจะเป็นประชาธิปไตย ฉับพลันคงคิดผิด ตราบใดที่สังคมยังไม่ฟูมฟักวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่มีขันติต่อความเห็นต่างและรู้ค่าคำถามจากต่างมุม ไทยก็เป็นได้เพียงประชาธิปไตยแบบผิวเผิน”
ภายหลัง นายประวิตรกล่าวว่า “ถ้าผมตั้งคำถามเรื่องแหล่งเงินงานธรรมศาสตร์จะไม่ทนไม่ได้ ถามว่าใช้เงินจัดงานเหมือนคอนเสิร์ตเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ไม่ได้ พวกดิ้นทนคำถามไม่ได้ก็ไม่ต่างจากพวกเผด็จการที่ไม่ยอมให้ตั้งคำถามเรื่องบทบาท...สักเท่าใด เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นง่าย เป็นประชาธิปไตยนั้นยากกว่ามาก พวกคุณจะอวดรวยว่าจัดงานธรรมศาสตร์จะไม่ทน แบบคอนเสิร์ต มีซับคอนแครทดูแสงสีเสียง ฯลฯ นั่นก็สิทธิคุณ ส่วนผมก็มีสิทธิตั้งคำถามว่าใช้เงินบริจาคสาธารณะแบบนี้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้เหมาะสมไหม? ผมไม่คิดว่าเวทีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จำเป็นต้องจัดเหมือนกีฬาสี
"เห็นคนรุ่นใหม่ถล่มด่าผมเรื่องถามเกี่ยวกับแหล่งทุนและความเหมาะสมในการจัดเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน แบบคอนเสิร์ตกึ่งละครเวทีแล้วขอบอกเลยว่า ความหวังจะเห็นไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยยังอีกไกล เพราะมันเริ่มที่ตัวเรา เริ่มจากความโปร่งใสรับฟังความเห็นต่าง มิใช่ผูกขาดความชอบธรรมไว้" นายประวิตร ระบุ
เมื่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด อดีตแกนนำกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ระบุว่า ทีแรกค่อนข้างแปลกใจที่เห็นเวทีเต็มรูปแบบขนาดนี้ แต่เมื่อดูงานโดยรวมคิดว่าคุ้มค่าและการออกแบบบนเวทีสอดคล้องกับการลงทุนที่ลงไป ไม่สูญเปล่า สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความคิดในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ มีความลงตัว นายประวิตรก็กล่าวว่า เห็นต่างถกเถียงกันได้ แต่หาว่าผมดูถูกเพียงเพราะผมถามเรื่องแหล่งทุนงานธรรมศาสตร์จะไม่ทน ผมว่ามันออกอาการฟาสซิสต์ ทำให้นึกถึงคนที่สนับสนุนมาตรา 112 ที่ด่าผมมาตลอด 20 ปี ความเป็นเผด็จการมันแทรกซึมอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกทั้งสองฝ่าย
"บอกตรงๆ จัดงานธรรมศาสตร์จะไม่ทน แบบคอนเสิร์ตปนละครเวทีหรือ Super Bowl (การแข่งขันชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลอาชีพประจำปีของ NFL) ผมว่ามันลดทอนความดิบของการต่อสู้ มันดูดัดจริต และ Artificial (ปลอม) เหมือนแคมเปญหาเสียงพรรคการเมือง แต่นั่นก็จริตผม ถ้าใครทนไม่ได้ก็ด่าทอผมต่อได้เลย ผมบ่ยั่น" นายประวิตรกล่าว และตอบกลับบางคนไปว่า "คุณน้องคิดว่าสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ดีอย่างที่ประยุทธ์ กล่อมหรือ แล้วเงินบริจาคสาธารณะไม่ควรใช้ให้คุ้มค่ากว่านี้หรือ คิดว่าไม่ต้องม็อบอีกหลายรอบ เมื่อวานถามพนักงานภาพเสียงจากบริษัทหนึ่ง เขาบอกซับคอนแทรคเยอะมาก"
"ความดิบของการต่อสู้ สำหรับผม มันคืออะไรที่ไม่ใช่ละครเวทีที่ต้องจัดฉากมากมาย = Staged Event ถ้าเปรียบเป็นการจัดสวน มันก็คือสวนแบบสวนพระราชวังแวร์ซายส์ เป็น Formal Garden ต่างจาก Naturalistic Garden" นายประวิตร กล่าว
ด้านนายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด และนักจัดรายการโทรทัศน์ช่องวอยซ์ ทีวี ระบุว่า "อะไรที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ธรรมศาสตร์ ในทัศนะของผม คือผมเตรียมความคิดไว้แล้วว่า อานนท์ (นายอานนท์ นำภา ทนายความและผู้ต้องหาคดียุยงปลุกปั่น มาตรา 116) จะขึ้นพูดย้ำข้อเสนอเดิม การเพิ่มข้อเรียกร้อง 10 ข้อ โดยสาระที่จริงก็ทำได้ ถ้านำเสนออย่างรัดกุม แต่การจัดใหญ่ไฟกระพริบขนาดเจ้าของมาร์เก็ตเพลส (นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์) โผล่มาด้วย หรือองค์ประกอบอื่นๆ มันเกินจำเป็น มันล่อมันเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามมากไป
ที่ผมพูดถึงความกลัว ไม่ใช่กลัวอันตรายเพราะเชื่อว่าทุกคนกล้าอยู่แล้ว แต่กลัวมันกระทบการเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะจัดชุมนุมในธรรมศาสตร์ไม่ได้อีกแล้ว การชุมนุมในมหาวิทยาลัยอื่นก็จะถูกจำกัด การจัดชุมนุมวันที่ 16 ส.ค. นอกจากถูกขัดขวาง ก็จะมีปัญหาเรื่องการระดมคนเข้าร่วม เมื่อข้อเรียกร้องและท่าทียกระดับจนพังเพดาน สถานการณ์จากนี้จะเป็นเกมวัดใจอีกขั้น คือต้องแสดงให้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าจำนวนมาก พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ที่ทำให้เขาต้องคิดหนักถ้าจะทำอะไร ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็จะระดมกันออกมาโจมตีให้ร้ายสกัดขัดขวางอย่างหนักหน่วง โดยยังไม่รู้จะว่าจะจบอย่างไร นั่นแหละคือความเสี่ยง กลายเป็นว่าพลังคนรุ่นใหม่มาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องไปให้สุด โดยยังไม่รู้จะจบอย่างไร"