คนที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะต้องรู้จัก “ขบวนการไทยถีบ” เป็นอย่างดี และถือว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ เพราะคนเหล่านี้ทำไปด้วยความรักชาติมากกว่าต้องการทรัพย์สิน รวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วเสี่ยงชีวิตแอบซ่อนตัวขึ้นไปในขบวนรถไฟที่ขนยุทธสัมภาระของกองทัพญี่ปุ่น บางครั้งก็ซ่อนตัวไปใต้ท้องรถ พอได้จังหวะก็ปีนขึ้นไปงัดเปิดตู้รถไฟ ถีบของในตู้ลงมาข้างทางโดยไม่ต้องดูว่าของข้างในจะเป็นอะไร เพื่อขัดขวางการทำงานของกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น แล้วให้พรรคพวกที่ตามมาหรือชาวบ้านย่านนั้นเก็บไป กลุ่มคนเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ ต่างกลุ่มต่างทำงานโดยอิสระ ไม่มีใครเป็นหัวหน้าขบวนการเหมือนขบวนการใหญ่เสรีไทย รวมตัวกันด้วยจิตใจรักชาติเท่านั้น...นี่แหละคนไทย
ในตอนที่ผู้เขียนอายุ ๑๐ ขวบ ได้อพยพหนีระเบิดจากกรุงเทพฯไปอยู่ที่สวนบางบำหรุ ฝั่งธนบุรี ยังเห็นชาวบ้านไปเก็บลังที่ไทยถีบๆทิ้งไว้ใกล้ๆสถานีรถไฟบางบำหรุ ข้างในเป็นหลอดแก้วใหญ่กว่าหลอดกาแฟหน่อย ยาวราวฟุตเศษๆ ไม่รู้ว่าญี่ปุ่นจะเอาไปใช้อะไร แต่ไทยแจกจ่ายกันไปใช้ดูดอุจากโอ่งที่หมักกันเองแก้เหงาในยามสงครามได้อร่อยไป
วีรกรรมที่ดังที่สุดของขบวนการไทยถีบ เกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ก่อนที่สงครามจะสงบในวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ ต่อมาอีกไม่กี่วัน ขบวนการไทยถีบได้ปฏิบัติการกับขบวนรถไฟขนยุทธสัมภาระของญี่ปุ่นที่มาจากสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยึดครองแล้วเปลี่ยนชื่อสิงคโปร์เป็น “โชนัน” ในระหว่างที่ขบวนรถไฟผ่านสถานีบางน้ำจืดจะไปสถานีท่าฉางของสุราษฎร์ธานี กลุ่มไทยถีบก็ลงมือปฏิบัติการณ์ โหนตัวลงมาจากหลังคา เกาะบานประตูตู้ ตญ. หรือตู้ใหญ่ และเลื่อนสลักเปิดประตู พบลังกระดาษอยู่เต็มตู้ จึงช่วยกันถีบลงข้างทางจนหมดตู้ ก่อนขบวนรถจะเข้าสถานีท่าฉาง
เมื่อผู้ติดตามและชาวบ้านข้างทางมาเก็บ เปิดลังดูต่างก็ต้องผงะ เพราะข้างในบรรจุธนบัตรไทยที่พิมพ์ใหม่เต็มทุกลัง เป็นธนบัตรชนิดราคา ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท และ ๑๐๐ บาท ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดเผยในภายหลังว่ามีจำนวนถึง ๘,๑๔๖,๘๐๐ บาท
ที่มาของธนบัตรจำนวนนี้ก็คือ ตอนก่อนสงคราม ไทยได้จ้างบริษัท โทมัส เดอ ลา รู ของอังกฤษเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร แต่เมื่อเกิดสงครามอังกฤษกับไทยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน การติดต่อต้องขาดตอน ต่อมาไทยเริ่มขาดแคลนธนบัตรจึงติดต่อขอให้ญี่ปุ่นพิมพ์ โรงพิมพ์ธนบัตรของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นตอนนั้นก็งานล้นมือ ต้องเร่งพิมพ์ธนบัตรที่เอาไปใช้ในดินแดนที่ยึดครอง เช่น มลายู และพม่า จึงส่งต่อให้บริษัท มิตซุย บุชซันไกซา รับไปต่อ ซึ่งบริษัทนี้เลือกไปพิมพ์ที่อินโดเนเซียมีโรงพิมพ์ที่ฮอลันดาสร้างไว้ ซึ่งจะขนมาสิงคโปร์ได้ง่ายกว่าขนจากญี่ปุ่นที่ต้องฝ่าการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร
ธนบัตรที่ถูกถีบลงมานี้ ส่วนใหญ่เป็นใบละ ๑๐ บาท ตัดเป็นใบๆมาเรียบร้อย แต่ไม่มีหมายเลขและลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระมรวงการคลัง ซึ่งรัฐบาลไทยจะพิมพ์เองเพื่อป้องกันการพิมพ์เกินจำนวน แต่เรื่องนี้ไม่เกินความสามารถ บางกลุ่มที่ได้ไปจัดการพิมพ์หมายเลขขึ้นเอง และปลอมลายเซ็น นายเล้ง ศรีสมวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการตลัง ในรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ โดยใช้หมึกจีนฝนกับน้ำส้มให้ติดทน บางรายใช้มันเทศแกะลายเซ็นของ รมต.คลัง เป็นแม่พิมพ์ปั๊มลงไป เรียกกันว่า “แบงค์ไทยถีบ” หรือ “แบงค์เล้งท่าฉาง” เอาไปใช้กันอย่างเบิกบาน และหอบมาใช้ถึงกรุงเทพฯ แตกเป็นแบงค์ดีกลับไป แต่ส่วนใหญ่ก็เอาไปขายกันในสภาพเดิมในราคาถูก อย่างธนบัตรราคา ๑๐๐ บาท ๑๐๐ ใบขายกันแค่ ๔๐ บาทเท่านั้น
เรื่องนี้แทนที่จะเป็นผลเสียแก่กองทัพญี่ปุ่น กลับทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหนักยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงประกาศขอให้นำมาคืน เพื่อเห็นแก่ความมั่งคงทางเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งก็มีคนจำนวนมากคืนให้แต่โดยดี แต่ก็ขาดจำนานไปมากเช่นกัน รัฐบาลได้นำธนบัตรเหล่านี้ไปพิมพ์ลายเซ็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ คือ พระยาศรีวิศาลวาจา และพิมพ์หมึกดำทับราคาเดิมเหลือแค่ ๕๐ สตางค์ เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนธนบัตร
นี่ก็เป็นเกล็ดหนึ่งในสงครามมหาเอเซียบูรพา ที่มาของคำว่า “แบงค์ไทยถีบ” และ “แบงค์เล้งท่าฉาง” ที่โด่งดังในอดีต