“ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19” เป็นนวัตกรรมจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บสารคัดหลั่งต่างๆ จากคอหอยและโพรงจมูกของคนไข้มาตรวจ
ตามปกติเชื้อไวรัส COVID-19 จะแพร่กระจายทางฝอยละอองจากการพูด การจาม หรือการไอ มีระยะของการกระจายอยู่ที่ 1-2 เมตร ซึ่งวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจสามารถกระตุ้นให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคในอากาศได้ในระยะไกลและไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ ในขณะที่ห้องความดันลบที่ใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก และไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล
“แต่ในช่วงเวลานี้จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรองรับผู้ป่วย รวมไปถึงห้องความดันลบตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงก็มีจำนวนไม่เพียงพอ”
อ.นพ.พสุรเชษฐ์ สมร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 การเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ตู้ความดันลบสำหรับใช้เก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาขึ้นนี้เป็นตู้ความดันลบตามมาตรฐานของการเก็บสิ่งส่งตรวจ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคให้อยู่แต่เฉพาะในตู้นี้เท่านั้น สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อความสะดวกในการใช้งาน วัสดุที่ใช้ทำตู้เป็นอะคริลิกหนา 15 มิลลิเมตรซึ่งทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ มีลักษณะใส สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ภายในตู้มีเครื่องดูดอากาศผ่าน HEPA Filter เกรดที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กเท่าไวรัสได้ 99.995% โอกาสที่ไวรัสจะหลุดรอดจากฟิลเตอร์แทบจะเป็น 0% นอกจากนี้ยังมีการฆ่าเชื้อด้วยหลอด UV-C ทำให้ไวรัสหมดความสามารถ ในการก่อโรค เมื่อเทียบกับหน้ากาก N95 ที่สามารถกรองอนุภาคได้ขนาด 0.3 ไมครอน ตู้นี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสมากกว่า 1 พันเท่า
ขณะนี้ได้มีการนำตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่มาใช้งานจริงแล้วที่หอผู้ป่วย COVID-19 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นตู้ที่สามารถเคลื่อนที่ไปที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อ.นพ.พสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตู้นี้ยังทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเชื้อไม่ต้องกังวลในเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ที่มาใช้งานต่อ เพราะอากาศที่ฟุ้งกระจายในตู้จะถูกดูดออกโดยอนุภาคฟิลเตอร์และมีการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C นอกจากนี้ยังมีการพ่นแอลกอฮอล์และเช็ดทำความสะอาดทุกครั้ง ปัจจุบันได้มีการผลิตตู้ มาใช้งานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว 8 เครื่อง จำนวนตู้ที่ผลิตทั้งหมด 50 เครื่อง ซึ่งจะใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 10 เครื่อง ที่เหลือจะกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการผลิตตู้ละ 100,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท TCP ในส่วนของการออกแบบสร้างตู้สำหรับตรวจ COVID-19 หากมีผู้ที่สนใจต้องการจะนำไปผลิตหรือปรับปรุงเพื่อใช้งานทางการแพทย์ ก็สามารถนำไปใช้ต่อได้”
“ตู้นี้เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ และหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้วัสดุที่ผลิตและหาได้ง่ายในประเทศ เมื่อสถานการณ์วิกฤต COVID-19 คลี่คลายลง ก็ยังสามารถนำตู้นี้ไปใช้ในระยะยาวในการเก็บสิ่งส่งตรวจจากโรคทางด้านทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันเราประสบปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน ใครที่พอจะมีกำลังที่จะทำได้ก็ขอให้ช่วยกัน แต่ถ้าขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้ใช้งานจริงก่อนจะดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน” อ.นพ.พสุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นพ.คณิต วงศ์อิศเรศ นิสิตแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในตู้ความดันลบนี้ว่า นอกจากเครื่องดูดอากาศที่ใช้กรองอนุภาคขนาดเล็กแล้ว ยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ถุงมือ ไม้พันสำลีที่ใช้เก็บตรวจสารคัดหลั่ง หลอดแก้วสำหรับบรรจุสิ่งเก็บตรวจ และถังขยะ ส่วน ถุงมือก็จะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง เมื่อผู้มาตรวจเชื้อเข้าไปในตู้ จะมีการเปิดเครื่องดูดอากาศ แพทย์ทำการตรวจสารคัดหลั่งจากคนไข้และเก็บสิ่งส่งตรวจใส่ในหลอดแก้ว จากนั้นก็จะหักปลายไม้พันสำลีทิ้งลงในถังขยะ จากนั้นจะทำความสะอาดตู้ทั้งหมด
“ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จำนวนคนไข้ที่มากขึ้น แพทย์อายุรกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บสิ่งส่งตรวจอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ สุดท้ายแล้วมีแนวโน้มที่แพทย์ในสาขาอื่นจะต้องช่วยกันทำงานด้านการคัดกรองตรวจเชื้อ ไม่เว้นแม้แต่แพทย์ประจำบ้าน ซึ่งเราก็ต้องทำหน้าที่นี้ ให้ได้ นวัตกรรมนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อต้องมาเก็บสิ่งส่งตรวจหรือสัมผัสกับคนไข้ ช่วยลดความกังวลในการปฏิบัติงานได้มากครับ” นพ.คณิต กล่าวทิ้งท้าย