xs
xsm
sm
md
lg

Reuse “หน้ากาก N95” ทางรอดกองทัพสู้โควิด-19รองรับอุปกรณ์ขาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ อุปกรณ์ป้องกันตัวถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งหน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือชุด PPE ซึ่งแม้ขณะนี้ไทยจะจัดหาและสั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ในระยะยาวก็อาจไม่เพียงพอ

เพราะขณะนี้แนวโน้มของการระบาดขยายวงไปทั่วโลก และทุกประเทศมีความต้องการอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้จำนวนมาก แต่การผลิตหน้ากากและชุดป้องกัน ไม่ได้ผลิตมาเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ดังนั้น หากถึงจุดที่ทุกประเทศมีความต้องการ อุปกรณ์ป้องกันตัวเหล่านี้จะหายากและขาดแคลนอย่างที่สุด แม้จะมีงบประมาณก็ไม่อาจหาซื้อได้

การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วยความประหยัดและจำเป็น รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำจึงเป็นคำตอบของทางรอดนี้


ปกติแล้วหน้ากาก N95 มักใช้เพียงครั้งเดียวในสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อถึงภาวะขาดแคลนแบบนี้การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) จึงเป็นทางเลือก จึงมีการศึกษาเรื่องการฆ่าเชื้อบนหน้ากากเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ

ผศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิธีที่จะนำมาใช้ซ้ำที่คิดว่าน่าจะทำลายเชื้อโรคได้ คือ การอบความร้อน และการฉายรังสียูวี โดยวิธีที่จนำมาะฆ่าเชื้อบนหน้ากากนั้น จะพิจารณาใน 3 เรื่อง คือ ต้องฆ่าเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมจากหน้า และต้องไม่ทำลายโครงสร้างหน้ากาก

การอบร้อนมีการศึกษามาก่อนหน้านั้นว่า การอบร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงพอ เวลานานพอ คือ มากกว่า 65 องศาเซลเซียส และใช้เวลามากกว่า 15 นาที จะฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่จะทำลายหน้ากากหรือไม่ต้องมีการทดสอบ ซึ่ง ผศ.นพ.ม.ล.ทยา ระบุว่า จากการใช้เครื่องอบจานกับหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 โดยอบร้อนนาน 240 นาที หรือ 4 ชั่วโมง แล้วเอาหน้ากากไปส่องขยายใหญ่ประมาณ 1,000 เท่า พบว่า ไม่มีความแตกต่างของตัวเส้นใหญ่หรือโครงสร้างของหน้ากากทั้งสองแบบ จึงสรุปว่า การอบร้อนด้วยอุณหภูมิเกิน 65-75 องศาเซลเซียส ไม่ได้มีปัญหาต่อเส้นใยหรือโครงสร้างของหน้ากาก


สำหรับอีกวิธี คือ การฉายแสงยูวี (UV-C) ผศ.นพ.ม.ล.ทยา กล่าวว่า ได้มีการใช้เครื่องฉายยูวีที่ซื้อได้ตามท้องตลาดและมาทดลองดู โดยเอาหน้ากากที่พ่นเชื้อเอาไว้ใส่เข้าไปแล้วฉายแสงยูวีนาน 20 นาที ก็ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้ ส่วนฆ่าแบคทีเรียได้หรือไม่ ก็เอาไปเพาะเชื้อดูก็พบว่า ฆ่าได้ส่วนใหญ่ เหลือแค่บางตัวเท่านั้น จึงมาหาคำตอบว่า ทำไมไม่ตาย จึงพบว่า เชื้อแอบตรงรอยพับหน้ากาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่เจอทั่วไปในใบหน้าคน ไม่ได้เป็นตัวก่อเชื้อร้าย ส่วนยูวีทำลายเส้นใยหรือไม่ ก็ได้ลองฉาย 240 นาที และส่งหน้ากากแต่ละชิ้นที่โดนเวลาไม่เหมือนกันไปตรวจ เมื่อขยาย 1,000 เท่า พบว่า เส้นใยไม่มีปัญหา โครงสร้างยังดีอยู่ ยังกันเชื้อโรคได้ดี

ด้าน ผศ.พญ.ดรุณี โชติประสิทธิ์สกุล อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การอบร้อนไม่ควรเกิน 75 องศาเซลเซียส เพราะหากร้อนเกินไปอาจมีผลกับเส้นใยหน้ากากได้ ส่วนยูวี ต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ 1.กำลังของหลอดไฟยูวี เพราะแต่ละเครื่องมีกำลังไม่เท่ากัน อย่างที่ รพ.รามาฯ ใช้มีขนาด 4 วัตต์ แต่บางเครื่องอาจมีความแรงถึง 30 วัตต์ ดังนั้น การคำนวณว่าจะฆ่าเชื้อได้หรือไม่ ต้องดูความแรงของหลอดไฟด้วย 2.ระยะทาง หรือความห่างของหลอดไฟ เพราะยิ่งระยะห่างจากหลอดไฟ กับวัสดุผิวที่ต้องการทำลายเชื้อ พบว่า ยิ่งใกล้กันการทำลายเชื้อยิ่งดีขึ้น และ 3.ระยะเวลา คือ ยิ่งนาน การฆ่าเชื้อก็ดีขึ้น ที่สำคัญ หากอยู่ในมุมอับ ไม่โดนแสง เช่น รอยพับ เชื้ออาจถูกทำลายแต่ก็ไม่เท่ากับการโดนแสงเต็มที่ ต้องพยายามวางหน้ากากในตำแหน่งไฟที่สุด ทุกส่วนโดนไฟทั่วถึง

“รพ.รามาฯ ก็ขาดแคลนหน้ากาก N95 จึงเริ่มนำ 2 วิธีนี้ คือ ความร้อนจากเครื่องอบร้อน และหม้ออบยูวี ไปวางตามจุดต่างๆ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้บุคลากรต้องใช้หน้ากาก N95 เพื่อทำลายเชื้อและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลรามาธิบดีมีหม้อในลักษณะกว่า 35 เครื่อง กระจายอยู่ตามหอผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การนำหน้ากากกลับมาใช้ใหม่ ต้องเก็บหน้ากากให้ดีด้วย ซึ่งไม่แนะนำให้เก็บหน้ากากลงในถุงพลาสติก เพราะเวลาเราพูด น้ำลายจะสะสมอยู่ด้านในหน้ากาก ทำให้มีความชื้น จึงควรเก็บในถุงกระดาษเพื่อให้ระบายความชื้นได้” ผศ.พญ.ดรุณี กล่าว


ผศ.พญ.ดรุณี กล่าวว่า นอกจากนี้ การนำหน้ากากกลับมาใช้ซ้ำ การล้างมือทุกครั้งหรือใส่ถุงมือมีความสำคัญ ส่วนจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้กี่ครั้งนั้น เท่าที่เราคำนวณน่าจะอย่างต่ำคือ 8 ครั้ง แต่จะ 8 ครั้งหรือไม่ ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของหน้ากากด้วย คือ หน้ากากจะต้องแนบกระชับใบหน้า อย่าง N95 ที่ใส่อยู่แล้วหายใจสะดวก แสดงว่าหน้ากากไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าใส่แล้วขาดความแน่นกระชับ ประสิทธิภาพหน้ากากลดลง ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากตัวหน้ากากเส้นใยยังดี แต่เส้นยางหลวมไปแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้ ยกเว้นจะแก้ปัญหานี้ต่อไป

ขณะที่ ภญ.สุรัชนี เศวตศิลา ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ได้ดำเนินการทดสอบเช่นเดียวกับ รพ.รามาฯ โดยเรื่องการอบร้อนแห้ง เราใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ดำเนินการทดสอบประมาณ 4 ครั้ง แล้วเอามาดูเส้นใยเหมือนกัน พบว่า เส้นใยเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่เมื่อมีการทดสอบการผ่านของอนุภาคเป็นอย่างไรก็ได้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาดำเนินการทดสอบให้

“สิ่งสำคัญไม่ใช่ลักษณะเส้นใย แต่ คือการผ่านของอนุภาค ซึ่งการอบร้อน 1-4 ครั้ง แทบไม่มีความแตกต่างกันของการผ่านของอนุภาค คืออยู่ที่ 99.99% เมื่ออบครั้งเดียวเท่ากับการใช้ครั้งแรก แต่อบไป 4 ครั้งก็ลดไป 0.01% คือประสิทธิภาพเหลือ 99.98% แปลว่าการใช้ 4 ครั้งยังใช้ได้ แต่ต้องทำเรื่องฟิตเทสต์ดูว่ากระชับกับใบหน้าหรือไม่” ภญ.สุรัชนีกล่าว


ภญ.สุรัชนี กล่าวว่า อีกวิธีคือเครื่องตาม รพ.ใหญ่ๆ ที่มีการใช้สารเรียกว่าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ในเรื่องการฆ่าเชื้อ เช่น ในตู้ที่ใช้ผสมยามะเร็ง จะมีละอองของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เอาไว้ฆ่าเชื้อในตู้อยู่แล้ว จึงลองวิธีนี้ เพราะ อย.สหรัฐรับรองว่าวิธีนี้ใช้ฆ่าเชื้อได้ผล จึงทดสอบประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก ซึ่งก็พบว่าให้ผลออกมาดี ผลของการทดสอบการผ่านอนุภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกับการอบร้อน โดยเครื่องนี้หลาย รพ.มีใช้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

ในยุคที่อุปกรณ์หายากและขาดแคลน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงกระจายอุปกรณ์และเวชภัณฑ์เหล่านี้ไปให้ รพ.และบุคลากรที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไปก็จะเน้นหน้ากากอนามัย เพราะ สธ.มองว่า หากบุคลากรทั้งหมดหันมาใช้หน้ากาก N95 ทั้งหมด โดยที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความจำเป็น เมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมาก็อาจไม่มีใช้อย่างเพียงพอ








กำลังโหลดความคิดเห็น