xs
xsm
sm
md
lg

“ย่าบุญเหลือ” คือใคร จึงเป็นที่เคารพนับถือของคนโคราช! ต้นตำรับระเบิดพลีชีพที่ทุ่งสัมฤทธิ์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


การแสดงละครเกี่ยวกับวีรกรรมของย่าบุญเหลือ
เรื่องของ “ย่าบุญเหลือ” กลับมาโด่งดังอีกครั้งในวันนี้ เมื่อนักจัดรายการทีวีที่อ้างว่าส่องเห็นผีได้ และติดต่อกับวิญญาณของคนที่ตายไปเป็นร้อยๆปี สร้างประวัติศาสตร์ฉบับนั่งทางใน ให้แตกต่างกับประวัติศาสตร์ฉบับอื่นๆ ด้วยการอ้างว่า “ย่าบุญเหลือ” วีรสตรีที่ร่วมกับ“ย่าโม” ท้าวสุรนารี เมื่อครั้งสงครามที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ก็คือเมียน้อยของ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา สามีของย่าโมนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นที่ว่าเป็น บุตรบุญธรรม

เรื่องราวของย่าบุญเหลือเกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏเจ้าอนุ” ในครั้งนั้น เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งไทยเป็นผู้แต่งตั้งให้ครองกรุงเวียงจันทน์ และเป็นผู้สนิทชิดเชื้อกับพระราชวงศ์ไทยอย่างมาก ได้มาร่วมพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะขอพวกละครผู้หญิงกับครอบครัวคนลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กลับไปเวียงจันทน์ แต่รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่า คนเหล่านั้นอยู่เมืองไทยมานานจนเป็นคนไทยไปแล้ว จึงไม่โปรดพระราชทาน ทำให้เจ้าอนุวงศ์รู้สึกเสียหน้า เกิดความไม่พอใจ

เมื่อกลับถึงเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์หันไปฝักใฝ่ข้างญวน และคิดจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ ด้วยเห็นว่ากำลังผลัดแผ่นดิน อาจจะเกิดความขัดแย้งแตกแยกกันได้ เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์คุมกองทัพมีกำลัง ๓,๐๐๐ คน ออกจากเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมาเมื่อวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ อ้างว่าทางกรุงเทพฯมีหนังสือเรียกให้ไปช่วยรบกับอังกฤษ แล้วส่งกำลังส่วนหนึ่งล่วงหน้ามาสระบุรี อีก ๓ วันต่อมาเจ้าอนุวงศ์ก็ตามมาถึงนครราชสีมา ตั้งค่ายถึง ๗ ค่ายที่ทะเลหญ้าทางตะวันออกของเมือง ปล่อยข่าวว่ามีกำลังถึง ๘๐,๐๐๐ คน

ตอนนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา พระยาปลัด และกรมการเมืองส่วนใหญ่ไม่อยู่ ไประงับเหตุวิวาทเจ้าเมืองขุขันธ์กับน้องชาย เจ้าอนุวงศ์จึงเรียกพระยาพรหม ยกกระบัตรเมือง ออกมาพบ สั่งให้กวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไปเวียงจันทน์ภายใน ๔ วัน พระยายกกระบัตรแอบส่งข่าวไปทางเมืองขุขันธ์แล้วจัดต้อนรับเจ้าอนุวงศ์อย่างดี เจ้าอนุวงศ์ให้ทหารเก็บเครื่องศาสตราวุธของชาวนครราชสีมาทั้งหมด แม้แต่มีดพร้าก็ไม่ให้เหลือ

เมื่อทางเมืองขุขันธ์ทราบข่าว พระยาปลัดก็ขอกลับมาดูแลทางนครราชสีมาเอง และเมื่อมาถึงก็เข้าพบเจ้าอนุวงศ์บอกว่าพระยานครราชสีมาหนีเข้าเขมรไปแล้ว ตนทิ้งครอบครัวไม่ได้จะขอไปเวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์หลงเชื่อจึงให้พระยาปลัดกับพระยาพรหมฯ คุมครอบครัวไทยไปเวียงจันทน์ แต่ทั้งสองแกล้งถ่วงเวลาให้เดินช้า
พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ บันทึกไว้ว่า


“พระยาปลัด พระยาพรหม ยกกระบัตร กรมการ จึงคิดอ่านอุบายจัดหญิงสาวๆ ให้นายทัพนายกองที่ควบคุมครั้งนั้นทุกคน จนชั้นไพร่จะชอบใครก็ไม่ว่า เห็นว่าพวกลาวกับครัวไทยสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าแล้ว พระปลัด พระยาพรหมยกกระบัตรขึ้นมาหาเจ้าอนุวงศ์ที่ค่ายใหญ่ แจ้งว่าอพยพครอบครัวไปได้ความอดอยากนัก ขอมีด ขวาน ปืน สัก ๙ บอก ๑๐ บอก พอได้ยิงเนื้อมากินเป็นเสบียงเลี้ยงครอบครัวไปตามทาง เจ้าอนุวงศ์ก็ยอมให้ ครั้นได้มีดขวานปืนไปแล้ว เดินครัวไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์
พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร พูดเป็นอุบายว่าขอพักครัวอยู่ที่นั่นก่อน ด้วยครอบครัวเมื่อยล้าเจ็บไข้ล้มตายได้รับความลำบากนัก ครั้นครัวมาถึงพร้อมหน้ากัน พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร กรมการ คิดอ่านกันเป็นความลับ ครั้นเวลากลางคืนดึกประมาณ ๓ ยามเศษ ก็ฆ่าพวกลาวตายเกือบสิ้น”

การวางแผนกู้ศักดิ์ศรีชาวนครราชสีมาครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ผู้หญิงประกบแม่ทัพนายกองทหารลาวเพื่อให้ตายใจ คุณหญิงโม ภรรยาของพระยาปลัด จึงเป็นแม่งานสำคัญในการวางแผน และสั่งให้ตัดไม้เสี้ยมปลายให้แหลม ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับดาบและปืน

สำหรับ “ย่าบุญเหลือ” นั้น นางเป็นบุตรีของหลวงเจริญ กรมการชั้นผู้น้อย แต่มีความสนิทใกล้ชิดและเคารพนับถือพระยาปลัดกับคุณหญิงโมเป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดและคุณหญิงโมไม่มีบุตรธิดา จึงรักใคร่เอ็นดูบุญเหลืออย่างลูกหลาน ในงานสำคัญครั้งนี้ บุญเหลือได้รับความไว้วางใจให้ประกบ เพี้ยรามพิชัย นายทหารลาวผู้เป็นหัวหน้าควบคุมกองคาราวานเชลย โดยรับหน้าที่ต้องสังหารเพี้ยรามพิชัยให้ได้

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ชาวนครราชสีมาได้เข้าจู่โจมแย่งอาวุธและฆ่าฟันทหารลาว บุญเหลือได้ยินสัญญาณก็คว้าดาบเพื่อจะสังหารเพี้ยรามพิชัยตามแผน แต่ทว่าเพี้ยรามพิชัยเป็นนักรบเจนสนาม ขณะที่บุญเหลือเป็นเด็กสาวในวัย ๒๔ ปี เพี้ยรามพิชัยจึงเป็นฝ่ายแย่งดาบไปได้

บุญเหลือหันไปคว้าดุ้นฟืนที่สุมไฟวิ่งหนี โดยมีเพี้ยรามพิชัยวิ่งตามไปติดๆ เป้าหมายของนางก็คือหมู่กองเกวียนที่บรรทุกกระสุนดินดำ และเมื่อไปถึงนางก็ไม่รอช้า โยนดุ้นฟืนที่ติดไฟเข้าไปที่เกวียนเล่มหนึ่งทันที เป็นผลให้เกิดระเบิดขึ้นแล้วลุกลามต่อไปจนเกวียนดินดำระเบิดหมดทั้ง ๕๐ เล่ม ร่างของวีรสตรีบุญเหลือและศัตรูแผ่นดินคือเพี้ยรามพิชัยแหลกกระจายด้วยแรงระเบิดไปด้วยกัน แสงเพลิงโชติช่วงแดงฉานทั่วทุ่งสัมฤทธิ์ ขวัญกำลังใจของทหารลาวแตกกระเจิง แต่ชาวนครราชสีมาฮึกเหิม ฆ่าฟันทหารลาวจนเกือบหมด ที่เหลือก็แตกหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต

ปัจจุบันที่ “โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์” ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อผ่านประตูโรงเรียนเข้าไป ด้านซ้ายจะเห็นอนุสาวรีย์ของสตรีนางหนึ่งยืนถือดุ้นฟืนชูอยู่บนแท่นเด่นตระหง่าน ครูอาจารย์และนักเรียนต่างเรียกนางว่า “แม่บุญเหลือ” มีป้ายบอกว่าเป็น “อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ” ซึ่งชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีของนาง โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๙

ถือได้ว่า “แม่บุญเหลือ” คือวีรสตรีที่เป็นต้นตำรับ “ระเบิดพลีชีพ” เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองและชาวนครราชสีมา การสละชีวิตของบุญเหลือจึงเป็นผลอย่างมากต่อชัยชนะในครั้งนี้ ชาวนครราชสีมาไม่อาจลืมวีรกรรมอันน่าสรรเสริญของนางได้ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจลืมวีรกรรมของ “คุณหญิงโม” ท้าวสุรนารี

ทางราชการจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดให้วันที่ ๔ มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดีวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และพ่อค้าประชาชน ร่วมกันทำพิธีสดุดี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าตะแบงมานตามสีแห่งปี และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือเป็นประจำทุกปี

คนโคราชเคารพเทิดทูน “ย่าบุญเหลือ” ขนาดนี้ แล้วจะมาสร้างประวัติศาสตร์ฉบับปากพล่อย บิดเบนให้แตกต่างจากฉบับอื่นอย่างเลื่อนลอย ทำให้คนที่เขาเคารพกันทั้งเมืองต้องเสื่อมเสีย กระแทกใจกันอย่างแรงแบบนี้ แล้วจะรับกันไหวหรือ



“ย่าบุญเหลือ” วีรสตรีทุ่งสัมฤทธิ์

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

การแสดงละครเกี่ยวกับวีรกรรมของย่าบุญเหลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น