รายงานพิเศษ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 ของทหารจากประเทศอียิปต์ ที่ไม่ผ่านกระบวนการกักตัวเข้ายังสถานที่กักกันของรัฐ ระหว่างนำเครื่องบินมาจอดพักที่สนามบินอู่ตะเภา สร้างความหวั่นไหวต่อชาวไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ใน จ.ระยอง หลังทราบว่าทหารกลุ่มนี้ซึ่งมี 1 คนติดเชื้อ ได้ออกจากที่พัก คือ โรงแรมดีวารี ดีว่า เซ็นทรัล ระยอง ไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งห้างสรรพสินค้า
หลังการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต้องออกมาแถลงชี้แจงรายละเอียด เพราะถูกสังคมวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนักว่า เหตุใดภาวะ “การ์ดตก” จึงเกิดขึ้นจากหน่วยงานของรัฐเอง
พร้อมแสดงความเห็นว่าทหารกลุ่มนี้เป็นแขกวีไอพี (VIP) หรือไม่ จึงได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องถูกกักตัว
และแม้ว่าในการแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. จะมีคำ “ขอโทษ” ต่อประชาชนหลายครั้ง ช่วยอธิบายข้อข้องใจไปได้พอสมควร แต่ก็ยังมีหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ยังไม่ถูกอธิบาย นั่นคือ
“ทำไม ไทยจึงต้องยอมให้ทหารอียิปต์ ไม่ต้องกักตัวใน State Quarantine?”
ย้อนกลับไปดูที่คำแถลงของโฆษก ศบค. จะพบคำอธิบายบางอย่าง ตั้งแต่เหตุผลที่ต้องไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา
โฆษก ศบค. บอกว่า ตามปกติ เครื่องบินลำนี้จะต้องไปจอดพักที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้กำหนดโรงแรมที่พักไว้ที่ จ.สมุทรปราการ แต่เป็นเพราะการจราจรที่สุวรรณภูมิหนาแน่น จึงต้องมาลงที่สนามบินอู่ตะเภาแทน เป็นเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนที่พักไปเป็นโรงแรมที่ จ.ระยองแทน พร้อมอธิบายเหตุผลที่ใช้โรงแรมดีวารี ดีว่า เป็นที่พักของทหารอียิปต์ มาจากการประสานงานของสถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย
คำถามใหญ่ 3 ข้อ ก็คือ หนึ่ง จ.ระยอง มีสถานที่ที่เป็น State Quarantine หรือไม่?
ข้อสอง เหตุใดต้องไปใช้ที่พักเป็นโรงแรมดีวารี ดีว่า ซึ่งมีคนทั่วไปเข้าพักตามปกติ?
และข้อสาม เหตุใดการประสานงานเพื่อหาที่พักให้ทหารต่างชาติกลุ่มนี้ จึงถูกปล่อยให้ดำเนินการโดยสถานทูตอียิปต์ ทั้งที่ควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของไทยใช่หรือไม่?
สายข่าวในทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า ในการแถลงของ ศบค. วันนี้ ได้พูดถึงการกักตัวผู้ที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสอบสวนโรค หรือ PUI (Patient Under Investigation) ใน จ.ระยอง ให้ไปกักตัว ณ สถานที่กักกันของรัฐ ซึ่งระบุชื่อสถานที่ชัดเจน หมายความว่า จ.ระยอง มีสถานกักกัน หรืออาจมี Alternative State Quarantine อยู่แล้ว
แต่ทหารอียิปต์กลุ่มนี้ ไม่ได้ถูกนำไปที่นั่น...เพราะอะไร ??
และการอ้างว่า ต้องเปลี่ยนที่จอดจากสนามบินสุวรรณภูมิมาที่สนามบินอู่ตะเภา การเปลี่ยนจากสมุทรปราการมาที่ระยอง ก็ไม่ได้หมายความว่าระยองไม่มี State Quarantine ใช่หรือไม่??
คำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด คือ ทหารกลุ่มนี้ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศฉบับที่ 7 (5) คือ ผู้ควบคุมยานพาหนะที่มีกำหนดเข้ามาตามภารกิจ มีการทำตามมาตรการ และตรวจหาเชื้อจากประเทศต้นทางมาแล้ว
ซึ่งนั่นอาจเป็นช่องโหว่ทำให้ทางการไทย ไม่สามารถบังคับให้ทหารกลุ่มนี้ไปยัง State Quarantine ตามกติกาได้ จนทำให้มีการประสานจากสถานทูตไปยังโรงแรมดีวารี ดีว่า เพื่อให้ทหารอียิปต์เข้าพักในวันที่ 10 ก.ค.
มีคำอธิบายตามมาจากกระทรวงการต่างประเทศว่า “เป็นความร่วมมือทางการทูต” ซึ่งตีความได้ว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ “ไทย” ต้องร่วมมือทางการทูต ด้วยการปล่อยให้ “อียิปต์” จัดหาที่พักได้เอง ประสานงานเอง ทั้งที่ประเทศอียิปต์ถือเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19
ที่สำคัญ ทหารกลุ่มนี้ยังเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่น คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน ก่อนจะมาที่ไทยอีกด้วย
แต่แม้จะมีคำอธิบายเช่นนี้ ซึ่งอาจทำให้ไม่มีหน่วยงานใดมีความผิดจากความผิดพลาดครั้งนี้เลย แต่กลายไปเป็นความผิดที่เกิดจากช่องโหว่ในข้อยกเว้น
เช่นเดียวกับกรณีลูกของทูตซูดาน ที่ยอมรับว่าตรวจพบว่าติดเชื้อตั้งแต่สนามบิน แต่ก็ต้องปล่อยไปให้กักตัวเองที่สถานทูต ก่อนจะออกไปพักที่คอนโดมีเนียมย่านสุขุมวิท
และเมื่อพยายามสื่อสารว่า ปัญหาทั้งหมดมาจากกติกาที่เปิดช่องให้มีข้อยกเว้น หรือ สิทธิพิเศษสำหรับคนบางกลุ่ม ศบค. ก็รีบแสดงปฏิกริยาตอบโต้ ด้วยการยกเลิกข้อยกเว้นเหล่านั้นเสีย
แต่ก็ยังมีข้อข้องใจใหญ่ๆ อยู่ดี คือ อียิปต์เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ลูกทูตถูกตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว เหตุใดทางการไทยจึงไม่สามารถบังคับให้ไปอยู่ในสถานที่ที่ควรอยู่ได้ในประเทศไทย เหตุใดจึงต้อง “ยอม” ตามใจผู้มาเยือน
โดยเฉพาะการยอมให้ทหารอียิปต์ ไปยังโรงแรมดีวารี ดีว่า ทั้งที่โรงแรมนี้ ไม่ใช่ทั้ง State Quarantine หรือ Alternative State Quarantine ด้วยซ้ำ แถมยังมีแขกจำนวนมากมาพักอยู่ในโรงแรม
เมื่อมาดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ถูกจัดให้เป็น State Quarantine และ Alternative State Quarantine ต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งการจัดที่พักเป็นห้องพักเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว มีอุปกรณ์ดำรงชีวิตด้วยตัวคนเดียวภายในห้อง ทั้งการกิน การซักผ้า มีอาหารบริการครบทุกมื้อ มีกล้องวงจรปิดเห็นความเคลื่อนไหว ห้ามออกจากห้องเด็ดขาด
มีเจ้าหน้าที่จากสถานพยาบาลอยู่ด้วยตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เฟซชิลด์ ชุด PPE ส่วนสถานที่ต้องไม่เป็นพรม ต้องจัดทำเส้นทางเดินของ PUI ที่จะเข้ากักตัว และทางออกเมื่อครบกำหนดเป็นเส้นทางเฉพาะ รวมทั้งลิฟต์ต้องไม่ใช่เส้นทางเดียวกับเจ้าหน้าที่พยาบาล
ดังนั้น การใช้โรงแรมดีวารี ดีว่า ซึ่งเปิดให้แขกเข้าพักตามปกติ ไม่มีพยาบาล ไม่ได้แยกเส้นทางของ PUI กับบุคคลอื่น เป็นที่พักให้กับกลุ่มทหารอียิปต์ ไม่เป็นไปตามหลักการใดๆ เลย
พิจารณากันง่ายๆ ว่า หากจะ “ยอม” ปล่อยให้ทหารที่มาจากหลายประเทศกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ เข้าไปพักในโรงแรมเอกชนที่ไม่ได้ปิดบริการส่วนอื่น ควรจะต้องแจ้งให้ลูกค้าคนอื่นของโรงแรมได้ทราบถึงสถานการณ์ก่อนหรือไม่ เพราะมีคนจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่ไม่มีโอกาสได้รู้ข้อมูลเลย
และเมื่อพบการติดเชื้อ ลูกค้าที่เข้าพักในวันนั้นหรือวันต่อๆ มา ก็อาจต้องหยุดงาน เสียงาน ต้องกักตัวตามไปด้วย
อย่าลืมว่า VIP กลุ่มนี้ มีสถานะเป็น PUI ควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการที่ทางการไทย “ยอม” ให้ “สิทธิพิเศษ” หรือจะเรียกว่า “ให้เกียรติ” กับทหารอียิปต์กลุ่มนี้ก็ตาม
ถือเป็นการ “ยอม” ที่เสี่ยงเกินไปหรือไม่?