ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยเคสตัวอย่างคนไข้เด็กถูกตัวหมัดไชเท้าจากการเดินเล่นเท้าเปล่าบริเวณคอกหมู ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบและมีอาการคัน ปวดบวมแดง เกิดหนอง หากไม่ได้รับการรักษาที่ดีอาจทำให้ติดเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด ผิวหนังตายได้
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เพจ “PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” ได้เผยภาพสยองเป็นเท้าของเด็กที่เดินไม่สวมรองเท้า มีตุ่มเต็มเท้าซึ่งเกิดจากหมัดไชเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบและมีอาการคันมาก โดยระบุรายละเอียดว่า “เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ มีตุ่มนูนจำนวนมากที่ฝ่าเท้า และมีอาการเจ็บ บริเวณตรงกลางตุ่มมีจุดสีดำ ผู้ป่วยมีประวัติเดินเล่นเท้าเปล่าบริเวณคอกหมูแห่งหนึ่งในชนบทของประเทศบราซิลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์
ทั้งนี้ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนัง Tungiasis เกิดจากติดเชื้อปรสิต คือ หมัดทราย หรือหมัดคน รักษาด้วยการคีบเอาหมัดออก รักษาแผล และให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก จากนั้นอาการก็ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า หมัด T. penetrans มีขนาดเล็กมากประมาณ 1 มิลลิเมตร มีชื่อเรียกได้หลายแบบ อาทิ Sand flea, chigoe, jigger, nigua ก่อให้เกิดโรค Tungiasis จากการที่หมัดตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วไชเข้าไปในผิวหนัง วางไข่แล้วก็ตาย สามารถวางไข่ได้ครั้งละ 100-200 ฟอง และตัวอ่อนหมัดก็จะไชตามผิวหนังทำให้เกิดอาการต่างๆ ซึ่งผิวหนังบริเวณที่มีหมัดไชจะอักเสบ บวมแดง ตรงกลางจะมีดำ รอบข้างสีขาว มีการหลุดลอกของผิวหนัง เกิดอาการอักเสบของผิวหนัง ทำให้มีอาการคันมาก ปวดมาก บวมแดง เกิดหนอง หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผิวหนังตาย เนื้อตาย และอาจต้องตัดนิ้วหรืออวัยวะนั้นๆ ได้ โรคนี้มักพบในพื้นที่ห่างไกลในเขตร้อนของแอฟริกา หมู่เกาะคาริบเบียน อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และอินเดีย ท่านใดเดินทางไปเที่ยวพื้นที่ดังกล่าว ควรมีการป้องกันตนเองให้ดีด้วยการแต่งกาย สวมใส่รองเท้ามิดชิด