xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “เสี่ยวิชัย” DSI รับคดี MTC กรณีปล่อยสินเชื่อและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่ กม.กำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีเอสไอ รับคดี MTC กรณีปล่อยสินเชื่อและเรียกเก็บ ดบ.เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

วันนี้ (29 มิ.ย.) นางวาสนา เนินสลุง ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ส่งเรื่องร้องเรียนกับ DSI ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2561 เกี่ยวกับบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท เมืองไทยลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)) ทำการปล่อยเงินกู้ และ เรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 15% ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้กลุ่มผู้ที่ไปกู้เงินได้รับความเสียหาย จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าตามที่กฎหมายกำหนด และได้ไปติดตามผลการสอบสวนคดีที่ DSI ตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจค้นสถานที่ 3 แห่งของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล ถนนจรัญสนิทวงศ์ และ ศูนย์ประมูลรถ จังหวัดราชบุรี และ ชลบุรี โดยได้ตรวจพบพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการสืบสวน

นางวาสนา เนินสลุง กล่าวต่อว่า ได้รับจดหมายแจ้งจาก DSI เลขที่ ยธ 0805/939 ลงวันที่วันที่ 29 มิถุนายน 2563 โดยผอ.กองคดีการเงิน และ การธนาคารและการฟอกเงิน พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ ว่า กรณีการร้องเรียนดังกล่าว ขณะนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสอบสวนตาม พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

“จะเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมต่อไปในทุกช่องทาง เนื่องจากตนเองและกลุ่มผู้เสียหายถูกเอาเปรียบที่โดนเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ความเสียหายเหล่านั้น เกิดขึ้นก่อนปี 2562 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาควบคุมดูแลธุรกิจจำนำทะเบียนรถ อยากเรียกร้องให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และ คืนดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้ผู้เสียหายทุกคน”

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา การสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น หากอ้างอิงจากคดีที่ผ่านๆ มา เกี่ยวกับการปล่อยเงินเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่ DSI ได้ดำเนินการมาในอดีต คือ คดีของเสี่ยวิชัย ปั้นงาม ที่คณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 59 เกี่ยวกับขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี และมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 86 สาขา โดยใช้ระบบแม่ข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ในกรณีของเสี่ยวิชัย ดูจะมีขนาดเล็กกว่า บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 4,200 สาขาทั่วประเทศ มีพนักงานมากกว่า 9,700 คน มีลูกค้ามากกว่า หนึ่งล้านราย อ้างอิงจากรายงานประจำปีที่ และ เอกสารนำเสนอบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน ทาง บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล ได้นำส่ง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์

นางวาสนา เนินสลุง กล่าวอีกว่า กำลังจะนำเรื่องไปปรึกษาสภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือในส่วนของแง่มุมกฎหมาย และ ขอให้เข้าไปเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีชั้นศาล เนื่องจากคู่กรณี เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เจ้าของเป็นผู้ร่ำรวยระดับประเทศ และ มีอิทธิพล และ เพื่อนฝูงอยู่ในทุกวงการ ส่วนผู้เสียหาย เป็นคนจน และยังถูกเอาเปรียบ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ทางกลุ่มมีผู้เสียหายจากการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล มากกว่า 1,000 ราย โดยความผิดดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี ทางกลุ่มจะทยอยดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมายจนครบทุกราย

นอกจากคดีของ เสี่ยวิชัย ปั้นงาม เจ้าพ่อเงินกู้รายใหญ่แล้วนั้น ยังมีคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดย เดือนมีนาคม 2563 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ตัดสินคดีดำ เลขที่ 276/2563 ที่อัยการจังหวัดขอนแก่น พร้อมผู้เสียหายรวม 11 คน ยื่นฟ้องเมื่อปี 2561 หลังนายเสถียร มามุข กับพนักงานรวม 4 คน ให้กู้ยืมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับการคิดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้จำเลยทั้งสี่ได้ไป ซึ่งทรัพย์จากผู้เสียหายโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตัดสินโทษจำคำคุกคนละ 20 ปี และคืนเงินดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหาย

อีกคดีที่ ศาลจังหวัดนครพนม พิพากษาคดีลูกหนี้ 42 คน ร่วมกันยื่นฟ้อง น.ส.สุนภา เรืองสุวรรณ เจ้าหนี้เงินกู้รายใหญ่ และ พนักงานอีกสองคน ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดสำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 60 หลังลูกหนี้ได้รวมตัวแจ้งความ โดยอ้างว่า น.ส.สุนภา ลักลอบปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย และเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระ ก็จะบังคับเอาทรัพย์สินที่ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ หรือ ที่ดินนำมาค้ำประกันโดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก 51 เดือน




กำลังโหลดความคิดเห็น