ในปี ๒๔๔๐ คราวเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปครั้งแรก มีเป้าหมายที่จะเยือน ๑๒ ประเทศในยุโรป คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย สวีเดน เดนมาร์ค อังกฤษ เบลเยี่ยม เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน มีกำหนดเวลาประมาณ ๙ เดือน ประเทศที่สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงมุ่งหวังมากที่สุด ก็คือ รัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกันมาก่อน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง พระเจ้าซาร์ทรงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และส่งภาพไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรปทุกฉบับ ภาพนี้จึงสั่นสะเทือนยุโรป และแสดงว่าสยามไม่ได้ด้อยพัฒนาจนต้องให้มหาอำนาจยุโรปมาช่วยปกครอง อย่างที่อังกฤษและฝรั่งเศสอ้าง
ที่อังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงพบกับพระนางเจ้าวิกตอเรีย และเยี่ยมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เก็บเอกสารประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไว้มาก รองอธิการบดีได้ถวายพระกระยากระหารกลางวันและกล่าวสุนทรพจน์ว่า มหาวิทยาลัยนี้เคยมีการเลี้ยงครั้งสำคัญมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ยิ่งใหญ่เหมือนครั้งนี้ “...ด้วยเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมมหาวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกให้ติดกับพระนครฝ่ายตะวันออก”
หลังจากนั้นต่อมาอีก ๒ เดือน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ส่งปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มาถวาย โดยผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน
ส่วนเหตุผลในการถวายปริญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนี้ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้กราบทูลเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศมาในจดหมายที่ส่งมาพร้อมกับปริญญาบัตรว่า
“ด้วยที่ปฤกษาการในออกซเฟิดยูนิเวอซิตี ประชุมพร้อมกันเห็นสมควรจะถวายดีกรีอย่างสูงของออกซเฟิด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเกียรติยศในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียน เปนผู้มีพระบรมเดชานุภาพ และพระเกียรติคุณอันประเสริฐพระองค์หนึ่งที่เขาได้พบ ทั้งได้มีพระมหากรุณาธิคุณทรงจัดการศึกษาและสรรพวิทยาให้แพร่หลายแก่ประชากรกุลบุตรในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ให้รุ่งเรืองขึ้น...”
ต่อมาในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๕๐ ได้เสด็จไปเยือนประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงพบกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ และเสด็จเยือนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่อมามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงได้กำหนดจะจัดพิธีมอบปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถวายในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๕๐ แต่ทรงปฏิเสธไปโดยทรงอ้างว่าติดหมายกำหนดการอื่น แต่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงเบื้องหลังของการปฏิเสธว่า
“วันที่ ๒๕ เปนวันจะได้รับดีกรีเคมบริช เรื่องรับดีกรีนี้ประดักประเดิดมาก เหตุด้วยเวลาไม่เหมาะตามโปรแกรม ทั้งรพีแลจรูญตักเตือนว่าการที่จะไปรับนั้นบางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก ไม่ไปเหนจะดีกว่า ฉันจึ่งได้กะเวลาคลาศเสีย”
รพี ก็คือ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ๒๔๓๗
ส่วน จรูญ ก็คือ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เช่นกัน ในปี ๒๔๓๙
เหตุที่ทั้งสองพระองค์ทรงกราบบังคมทูลทักทักท้วง ก็เพราะทรงรู้พฤติกรรมของนักศึกษาอยู่ข้างจะคะนอง มักจะโห่ร้องล้อเลียนผู้ที่มหาวิทยาลัยมอบปริญญากิติมศักดิ์ ซึ่งจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังพยายามขอพระบรมราชานุภาพจัดถวายเป็นการพิเศษที่ห้องบอลรูมของตำหนักเดวอนเชียร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของดุ๊กเดวอนเชียร์ ผู้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเตมบริดจ์ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
คำประกาศเกียรติคุณในประกาศเกียรติคุณในการถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์ครั้งนี้ มีข้อความว่า
“ในบรรดากษัตริย์แห่งสยามประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ตั้งพระราชปณิธานในการดำรงพระชนมชีพว่าจะดำเนินพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรของพระองค์ ไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง...มีพระมหากรุณาธิคุณทำนุบำรุงราษฎร ปกปักรักษา ตลอดจนพระราชทานเสรีภาพและการศึกษาแก่อาณาประชาราษฎร์
สิ่งสำคัญประการแรกในรัชสมัยของพระองค์คือ จะต้องไม่มีผู้ใดเกิดเป็นทาส หรือถูกบังคับให้เป็นทาสในภายหลัง ประการที่สอง มนุษย์ทุกคนที่มีสติรู้ตัวเป็นปกติตามธรรมชาติ จักต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการใช้เล่ห์เพทุบายนานา โดยชาวต่างชาติที่ขาดสติลืมตัว ประการที่สาม การเรียกเก็บภาษีทุกชนิดจักได้รับการลดทอนลงถึงระดับที่เหมาะสมที่สุด
และประการสุดท้าย พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งทรงพระเกษมสำราญใต้ร่มพระบารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์มายาวนาน ก็ยังถูกส่งไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฮาร์โรว์ รวมทั้งโรงเรียนอื่นๆที่มีชื่อเสียง ตลอดจนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของเราหลายแห่งอยู่เนืองๆ...”
อีก ๑๐๐ ปีต่อมา ในวันที่ ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังได้ทรงรับการประกาศเกียรติคุณในระดับนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง โดยองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ถวายพระเกียรติยศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสวันฉลองพระราชสมภพ ๑๕๐ ปีของพระองค์ ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๖ สาระแห่งคำประกาศเกียรติคุณนั้นมีว่า ในรัชสมยของพระองค์ ประเทศชาติได้พัฒนาทุกด้าน ทรงปฏิรูปการเมืองการปกครอง ทรงปรับปรุงกฎหมายและการศาล การแพทย์การสาธารณสุข การคมนาคม เศรษฐกิจการคลัง การศึกษา การศาสนา ทรง)ฏิรูปสังคม เปลี่ยนแปลงขนบประเพณีต่างๆ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้ชาติตะวันตกยอมรับ โดยเฉพาะการเลิกทาสให้ทุกคนเป็นไทย ประชาชนชาวไทยจึงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ทรงนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาฯนิคมของชาติตะวันตก ทรงยอมเสียดินแดนแต่บางส่วนเพื่อแลกกับอธิปไตยของชาติ จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระปิยะมหาราช”
นี่คือบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ทรงนำพาประเทศฝ่าวิกฤติครั้งสำคัญของชาติ รอดพ้นจาก “การใช้เล่เพทุบายนานาโดยชาวต่างชาติที่ขาดสติลืมตัว” ด้วยวิเทโศบายของพระองค์ ทำให้ปืนเรือก็ไม่สามารถคำรามได้