xs
xsm
sm
md
lg

โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย เผยแนวทางการรับมือ และแผนฟื้นฟูธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. มร.อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายธุรกิจทั่วโลกต่างกำลังเผชิญอยู่กับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการหลายธุรกิจ ต่างต้องหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนพนักงานในภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ภาวะบริษัทที่ได้ปิดตัวไปอย่างถาวร หรือมีการหยุดกิจการชั่วคราว ต่างก็ได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตในสภาพการว่างงาน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและครอบครัวลดลง

มร.อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย กล่าวว่า “ในฐานะที่ โซเด็กซ์โซ่ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนกว่า 470,000 คน ที่ปฏิบัติวงานประจำใน 67 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเหตุการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน จึงทำให้ โซเด็กซ์โซ่ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงาน ด้วยการตอกย้ำในความปลอดภัยของพนักงานระหว่างการปฏิบัติงาน และความมั่นคงในด้านรายได้ของพวกเขาเป็นหลัก”


การทำงานจากบ้าน (Work from Home)
ผมได้พูดคุยกับผู้บริหารหลายบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีวิธีการรับมือต่างกันไป เช่น บางบริษัทยังคงให้พนักงานเข้าออฟฟิศตามปกติ บางบริษัทให้พนักงานทำงานจากบ้าน 100% ไปจนกว่าจะแน่ใจว่ามีพนักงานจะมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งผมคิดว่าหลายบริษัทได้ใช้มาตราการคล้ายคลึงกัน และขณะนี้มีบริษัทเป็นจำนวนมากได้เริ่มทยอยเข้าออฟฟิศบ้างแล้ว ส่วนตัวผมเองที่ต้องทำงานในเมืองอย่างกรุงเทพฯ คิดว่าการทำงานจากบ้านก็เป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ดี เพราะนอกจากจะลดปัญหาการจราจรแล้ว ยังทำให้มีเวลาทำงานได้มากขึ้น แต่เนื่องจาก โซเด็กซ์โซ่ เป็นธุรกิจที่ให้บริการจึงต้องมีการทักทายพูดคุย และในส่วนของการพบปะลูกค้าผมก็ได้ปรับเปลี่ยนมาทำผ่านวิดีโอคอลจากระยะไกล (Video Conference) แทน ซึ่งก็สามารถทำงานต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

การยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน โซเด็กซ์โซ่ ทั่วโลก
เมื่อปีที่แล้ว หนึ่งในวาระสำคัญที่ โซเด็กซ์โซ่ สำนักงานใหญ่ ได้มีนโยบายให้พนักงานเลือกที่จะทำงานจากบ้านได้เดือนละ 2 วัน ด้วยการแจ้งล่วงหน้าและต้องได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าเสียก่อน ซึ่งนโยบายนี้มาจากการที่บริษัทเห็นว่าพนักงานต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงในการเดินทางไป-กลับออฟฟิศทุกวัน ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ปีที่แล้ว และยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งทำให้เป็นตัวเร่งให้การทำงานจากบ้านเป็นเทรนด์ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำงานจากบ้านไม่ได้มีข้อเสียหายอะไร เพียงแค่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ถ้าบริษัทไม่มีการประชุมหรือมีผู้ตรวจสอบงานก็อาจจะมีผลต่อคุณภาพงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมได้ ดังนั้น หากจำเป็นต้องทำงานที่บ้านในระยะยาวหรือตลอดไป เราคงต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าตำแหน่งใดบ้างที่สามารถทำงานที่บ้านต่อไปได้ และแน่นอนว่า เราต้องการขยายนโยบายการทำงานจากบ้านจากเดิมเดือนละ 2 วัน อาจจะเป็นอาทิตย์ละ 2 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อพนักงานต้องเปลี่ยนมาทำงานจากบ้าน บริษัทจึงได้ทำการลงทุนในเรื่องไอทีเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และถ้าการลงทุนดังกล่าวเป็นประโยชน์ผมก็ยินดีที่จะให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อ ปัจจุบัน โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย มีพนักงานประมาณ 4,000 คน และเมื่อเร็วๆ นี้ มีพนักงานจำนวน 90-100 คน ได้กลับมาปฏิบัติงานตามเดิมที่ออฟฟิศแล้ว ส่วนพนักงานกว่าครึ่งที่เป็นพนักงานในตำเเหน่งที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ เช่น พนักงานฝ่ายโภชนาการในโรงพยาบาล หรือการบริการตามหน้างานของลูกค้าต่างๆ คงจำเป็นต้องออกมาทำงานตามปกติด้วยมาตราการความปลอดภัยขั้นสูงสุดของบริษัท

วัฒนธรรมและประสิทธิภาพของการสื่อสารผ่านทางออนไลน์
ผมคิดว่าการทำงานจากที่บ้านไม่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมของไทย เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาททั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานเป็นอย่างมาก แต่จะมีข้อจำกัดหนึ่งที่ผมได้ประสบมา คือ ผมคิดว่าในการประชุมผ่านทางวิดีโอคอลสำหรับกลุ่มคนที่มีมากกว่า 15 คน ทำให้ประสิทธิภาพในเนื้อหาจะลดลง ดังนั้น ผมคิดว่าการประชุมแบบออนไลน์น่าจะเหมาะสมกับการประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การพบปะกับลูกค้าอาวุโสยังคงมีความจำเป็น ยังควรมีปฏิสัมพันธ์พูดคุย หรือรับประทานอาหารร่วมกันเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่สามารถทำได้จากระยะไกล


ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งให้แนวโน้มในการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนช่วงโควิด-19 เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายมักมีแผนการเดินทางไปยังออฟฟิศ โซเด็กซ์โซ่ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยๆ และในช่วงโควิด-19 เราได้พิจารณาถึงความจำเป็นซึ่งก็แสดงให้เห็นชัดว่าการเดินทางของพนักงานที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงนั้นไม่มีความจำเป็นเลย เพราะการเดินทางไปในแต่ละครั้งมักจะเป็นเพียงแต่การพูดคุยปัญหาภายในเท่านั้น นอกจากนี้ ในแต่ละสำนักงานย่อยนั้นเราก็มีพนักงานประจำที่สามารถให้บริการอยู่แล้วในหลายๆ ตำแหน่ง ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายขายเท่านั้น เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายการเงิน ที่พวกเขาสามารถบริหารงานดูแลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางครั้งจะดูแลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วยเช่นกัน แต่เป็นที่ทราบอยู่ว่าสำหรับธุรกิจบริการบางครั้งไม่สามารถปิดการเจรจาได้ภายใน 1 วัน ซึ่งบางกรณีอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานถึง 6-12 เดือน เพราะต้องมีการพูดคุย อธิบาย ตอบคำถามอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ บริษัทฯ จะต้องพิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติของพนักงานในแต่ละตำแหน่งด้วยทักษะการทำงานที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้มีการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การดูแลด้านรายได้ของพนักงาน โซเด็กซ์โซ่
โซเด็กซ์โซ่ มีพนักงานกว่า 470,000 คน ใน 67 ประเทศ ติดอันดับ 1 ใน 20 บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนในแถบภูมิภาค 4 ประเทศที่ผมเป็นผู้ดูแล คือ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีพนักงานกว่า 10,000 คน จากสถานการณ์ปัจจุบัน ในฐานะที่ โซเด็กซ์โซ่ เป็นผู้นำด้านงานบริการแบบเอาท์ซอร์ส ดังนั้นลูกค้าจึงยังต้องการงานบริการที่เชี่ยวชาญจากเราอย่างต่อเนื่อง เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด หรือช่างเทคนิค ทำให้เห็นว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันนับว่าเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับบริษัทเอาท์ซอร์สอย่างเรา แต่ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลเสียในระยะสั้นด้วยเช่นกันที่สามารถสังเกตุได้จากประสบการณ์ของ โซเด็กซ์โซ่ เองที่ผ่านมา เช่น หากมีภาคธุรกิจหนึ่งปิดตัวลง เช่น โรงเเรมปิดตัวลง เรายังสามารถย้ายพนักงานจากธุรกิจโรงเเรมไปทำงานในภาคส่วนอื่น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้สถานการณ์แย่หนักกว่าเดิมเพราะทุกภาคส่วนหยุดชะงัก หรือบางธุรกิจต้องปิดตัวเร็วกว่าธุรกิจอื่น ซึ่งรวมไปถึงโรงเรียนเเละโรงพยาบาล ที่ โซเด็กซ์โซ่ ให้บริการอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ตามโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะว่างเปล่า เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจำนวนผู้ใช้บริการจะขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้น เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวในบริการส่วนนี้จึงลดลงหรือปิดชั่วคราว รวมทั้งในส่วนของผู้ป่วยในประเทศที่หากผู้ป่วยที่ไม่ได้บาดเจ็บร้ายเเรงก็มักจะเลื่อนการรักษา ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีรายได้ลดลงและกระทบกับเราเช่นกันในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านอาหารในโรงพยาบาล อย่างเช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีรายได้ลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะมีมาตราการช่วยเหลือพนักงานของเราอย่างไร ที่ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 30,000-40,000 คนทั่วโลกที่ต้องว่างงาน และจำนวนกว่า 200 คนในประเทศไทยที่ไม่มีงานทำจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น หนึ่งในมาตราการที่ช่วยเหลือพนักงาน โซเด็กซ์โซ่ จึงได้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือพนักงานทั่วโลกสำหรับพนักงานที่ต้องหยุดงานและไม่มีรายได้ ซึ่งสถานการณ์ในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันออกไป เรามีพนักงานปฏิบัติงานใน 67 ประเทศ ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่รัฐบาลของเขามีมาตราการช่วยเหลือที่ดีมากสามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ต้องหยุดงานโดยไม่มีรายได้ถึง 82% ของรายได้ แต่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย พนักงานเหล่านั้นจะไม่ได้รับเงินชดเชยเลย และไม่สามารถลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากโครงการของรัฐบาลได้ รวมทั้งจะไม่ได้ชดเชยรายได้ 62% จากประกันสังคมอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นว่ามาตราการการช่วยเหลือจะได้มากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับมาตราการของประเทศนั้น ๆ โดยหลักการการจัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือพนักงานของ โซเด็กซ์โซ่ เป็นการนำเงินที่ต้องจ่ายเป็นโบนัสที่ตัดถูกออกจากบริษัททั่วโลก กล่าวคือเเทนที่เราจะจ่ายโบนัสปลายปีเราก็นำเงินนั้นมาช่วยเหลือให้พนักงานของเราเพื่อความอยู่รอด ซึ่งตามปกติเเล้วบริษัทต้องจ่ายเงินโบนัสอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเงินเดือนขั้นต่ำของแต่ละประเทศ ในประเทศจีนจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาท ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะน้อยไปจึงเพิ่มให้เป็น 7,000 บาท ซึ่งผมคิดว่ามันพอเพียงสำหรับพนักงานของเราพอที่จะอยู่รอดไปก่อนในช่วง 1-2 เดือนนี้ ดังนั้นพนักงานที่ว่างงานช่วงนี้ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากเรา 7,000 บาท เพราะเราเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานคน ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์อะไร ซึ่งผมรู้สึกภูมิใจว่าบริษัทไม่ได้เลิกจ้างพนักงานในประเทศไทยเลย ในช่วงวิกฤตินี้พนักงานหลายคนของเราทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลอาคาร ทำอาหาร ดูแลรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอัตราการลาออกสูงซึ่งเราเองก็พยายามลดการลาออกนี้อยู่เช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพนักงานบางคนที่ตัดสินใจลาออกในช่วงโควิด-19 นี้ เราจึงต้องให้พนักงานในหน้าที่อื่นหมุนเวียนมาทำหน้าที่เหล่านั้นแทน ซึ่งนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในการรับมือกับสถานการณ์นี้ และเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่เลิกจ้างพนักงาน ตลอดจนมีเงินเดือนให้พวกเขาพอที่จะอยู่รอดในวิกฤติครั้งนี้

แนวทางการฟื้นตัวของธุรกิจ โซเด็กซ์โซ่
สำหรับการบริการตามสำนักงานในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีลูกค้าหลายแห่งเริ่มกลับเข้ามาทำงานแล้วแม้จะยังไม่ 100% ก็ตาม หน้าที่เราคือปฏิบัติการให้บริการและเตรียมพร้อมตามมาตราการความปกติใหม่ (New Normal) เช่น การดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าตัวอาคาร ติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อภายในอาคาร รวมทั้งให้คำแนะนำการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกค้ามีความต้องการและให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงสถานการณ์แบบนี้ทุกคนต่างกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเอง ดังนั้นจึงทำให้งานบริการด้านความปลอดภัยไม่ลดลง แต่การบริการในด้านความสะอาดและการรักษาบำรุงทั่วไปลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าโรงงานต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็มีการลดชั่วโมงการผลิตลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนเเละโรงเเรมเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจของโซเด็กซ์โซ่มากที่สุด เพราะขณะนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้โรงเรียนกลับมาเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ ซึ่งเรายังต้องรอว่านักเรียนจะกลับมาเรียนได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนในบางประเทศถึงแม้จะเปิดเรียนแต่ก็ลดจำนวนนักเรียนเเละคลาสเรียนลง เพื่อที่จะสามารถรักษาระยะห่างระหว่างเด็กได้ แต่ในส่วนของโรงเเรมผมหวังว่าน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ แต่ในส่วนของธุรกิจโรงพยาบาลที่ขึ้นกับการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพผมคิดว่าคงจะอีกนานกว่าจะกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง เราได้รับผลกระทบหนักตรงที่ลูกค้าโรงพยาบาลขอส่วนลดค่าบริการถึงปลายปี เพราะจำนวนผู้เข้ารักษาลดลง และเราทราบอยู่แล้วว่าจำนวนผู้ป่วยจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นธุรกิจส่วนที่ฟื้นตัวได้ช้าพอๆ กับธุรกิจการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ โซเด็กซ์โซ่ ยังมีการให้บริการแก่ภาคส่วนนอกชายฝั่ง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย เราดูแลในส่วนงานด้านบริการด้านอาหารและดูแลที่พักให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำในแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งการบริการในส่วนนี้เราได้รับผลกระทบ 2 ขั้น หมายความว่าการจำกัดจำนวนพนักงานในพื้นที่ที่จำกัด เพราะจะไม่สามารถทำการรักษาระยะห่างตามกฎหมายได้เลย หากมีคน 1 คนติดเชื้อโควิด-19 ก็จะกระจายไปให้คนอื่นๆ อย่างเร็วเหมือนกับไฟป่า และหากมีการหยุดทำงานในแท่นขุดเจาะเป็นเวลา 1 วัน จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นบริษัทน้ำมันและก๊าซส่วนมากจะพยายามลดจำนวนคนบนเเท่นขุด ซึ่งก็หมายความว่านั่นจะกระทบต่อรายได้ของเราแน่นอน รวมทั้งพนักงานที่เดินทางไปทำงานที่แท่นขุดเจาะจะต้องกักตัวก่อนด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน เพิ่มการลดรายได้อีก 1 ขั้นเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหาการบริการใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มยอดขายได้ เช่น การทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณอาคารที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบริการด้านอาหารที่ปลอดภัย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ โซเด็กซ์โซ่ ได้ริเริ่มทำกันมานานแล้วก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนของ โซเด็กซ์โซ่ ทั่วโลก เราติดอันดับ 1 จากการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในตลอดระยะเวลา 12-13 ปีนี้ และติดอันดับ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมด้านการบริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังนั้น การยึดมั่นในพันธกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเราไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการตลาดเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาของเราเพื่อนำเสนออาหารที่ปลอดภัย เช่น การใช้ไข่ไก่ที่มาจากการเลี้ยงไก่แบบปล่อย รวมทั้งการทำงานร่วมกับองค์กรสหประชาชาติในการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข้อเเนะนำสำหรับการเดินหน้าต่อหลังจากสถานการณ์โควิด-19
สถานการณ์ในขณะนี้เป็นวิกฤตที่ยากลำบากมาก สิ่งที่ผมปฏิบัติกับทุกคนในทีมงาน คือ เมื่อผมได้รับคำสั่งจากสำนักใหญ่ให้ตัดค่าใช้จ่าย ผมมองว่านี่เป็นสิ่งที่ท้าทายที่ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ดังนั้น ผมมาคิดว่าหากต้องถูกตัดค่าใช้จ่ายเราควรจะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นด้วยการนำเสนอการบริการแบบใหม่ ถึงแม้โซเด็กซ์โซ่ ได้สูญเสียรายได้จากธุรกิจอาหารจากโรงเรียนและโรงพยาบาล เพราะโรงเรียนยังไม่เปิดหรือมีจำนวนนักเรียนน้อยลง และจำนวนคนไข้ที่โรงพยาบาลก็น้อยลงเช่นกัน แต่เราจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากพนักงานรักษาความปลอดภัย และการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อ ดังนั้น ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนเเปลงตัวเอง และมองหาโอกาสในวิกฤตครั้งนี้

ผมคิดว่าตอนนี้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ผมไม่ต้องบินไปสิงคโปร์เพื่อประชุม 1 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งที่ผมจะแนะนำคือไม่สำคัญว่าคุณจะทำงานที่ไหน ออฟฟิศหรือที่บ้าน แต่สิ่งสำคัญคือคุณได้ทำงานตามจุดประสงค์ให้สำเร็จหรือไม่ ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการทำงาน ซึ่งในประเทศไทยหลาย ๆ บริษัทยังคงมองวิธีการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น