เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (29 พ.ค.) เปิดเผยว่าเขากำลังตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับองค์การอนามัยโลก หน่วยงานของสหประชาชาติที่เขากล่าวหาว่าไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระยะแรกๆ จนกระทั่งมันลุกลามไปทั่วโลก
แรกเริ่ม ทรัมป์ ระงับเงินอุดหนุนที่มอบแก่องค์การอนามัยโลกเมื่อราว 1 เดือนก่อน กล่าวหาหน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติว่าบริการจัดการผิดพลาดในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ของโลก จากนั้นเมื่อ 10 วันที่แล้วเขากล่าวหาองค์การอนามัยโลกว่าเป็นหุ่นเชิดของจีน และบอกว่าคำสั่งระงับเงินสนับสนุนอาจกลายเป็นการหยุดให้เงินอุดหนุนอย่างถาวร จนกว่าจะมีการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 30 วัน
“เพราะว่าพวกเขาล้มเหลวทำตามคำขอและจำเป็นต้องปฏิรูปขนานใหญ่ วันนี้เราจะยุติความสัมพันธ์ของเรากับองค์การอนามัยโลก” ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้แล้ว ผู้นำจากรีพับลิกันยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเส้นทางเงินอุดหนุนที่เคยมอบแด่องค์การอนามัยโลก ไปยังองค์กรอื่นๆ ทั่วโลกและความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุขโลกที่คู่ควร “โลกต้องการคำตอบจากจีนเกี่ยวกับไวรัส เราจำเป็นต้องโปร่งใส”
ปักกิ่งปฏิเสธด้วยความเดือดดาลต่อคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ที่กล่าวหาจีนว่าพยายามกลบกระแสความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามของไวรัส เมื่อครั้งที่มันอุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยบอกว่าวอชิงตันพยายามเบี่ยงเบนประเด็นความล้มเหลวของตนเองในการตอบสนองต่อวิกฤต แล้วโยนความรับผิดชอบไปยังองค์การอนามัยโลก
สหรัฐฯ คือผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในงบประมาณขององค์การอนามัยโลก โดยเมื่อปีที่แล้วได้มอบเงินอุดหนุนอย่างน้อย 400 ล้านดอลลาร์
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งมูลนิธิใหม่ สำหรับขยายฐานการรับเงินบริจาคจากแหล่งใหม่ๆ รวมไปถึงจะเปิดรับบริจาคเงินจากสาธารณชนทั่วไปเป็นครั้งแรก เพื่อรับมือปัญหาขาดแคลนเงินงบประมาณขององค์การอนามัยโลกที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากปัญหาต่างๆ
มูลนิธิใหม่นี้จะเปิดทางให้องค์การอนามัยโลกสามารถควบคุมเงินบริจาคจากภาคเอกชนและภาครัฐได้โดยตรง เพื่อนำไปจัดการกับปัญหาเร่งด่วนทั้งหลาย อย่างเช่นวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่
แหล่งเงินบริจาคแต่ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก คือต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากชาติสมาชิก 194 ชาติ แต่มีความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากไม่มีการกำหนดจำนวนเงินบริจาคที่ตายตัวของแต่ละชาติ โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ
เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ชี้แจงว่า การจัดตั้งมูลนิธิใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับคำขู่ของทรัมป์ “มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นเงินสนับสนุนเมื่อเร็วๆ นี้” พร้อมบอกว่าความยืดหยุ่นทางการเงินคือหนึ่งในแผนปฏิรูประยะยาวที่เขาวางเป้าหมายเอาไว้รับตั้งแต่เข้ามากุมบังเหียนองค์การแห่งนี้ในเดือนกรกฎาคม 2017