พบนายทุนจีนปล่อยกู้ดอกโหด ตั้งชื่อแอป “ทรู แคช” แอบอ้างให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นของค่ายมือถือยักษ์ พบลักษณะก่อเหตุคล้ายกัน คือ หลอกให้สมัครสินเชื่อ ไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน แต่โอนเงินให้ไม่ครบ กลับต้องจ่ายเต็ม ถ้าจ่ายช้าโดนทวงหนี้โหด ส่ง SMS ประจานให้อับอาย แถมดอกเบี้ยสูงล้นพ้นตัว เดือดร้อนระนาว
ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน
วันนี้ (22 มิ.ย.) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า บริษัทที่ชื่อว่า “ทรู ฟินเทค” รวมทั้งแอปพลิเคชันที่ใช้ชื่อว่า TRUE CASH และ TRUE CASH PRO ไม่ใช่ธุรกิจของกลุ่มทรู และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ
บริษัทธุรกิจการเงินของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น มีเพียง “แอสเซนด์ กรุ๊ป” ที่ประกอบธุรกิจวอลเล็ตที่ชื่อว่า “ทรู มันนี่” เท่านั้น
เรื่องของเรื่องก็คือ ตำรวจศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ไปจับกุมกลุ่มนายทุนชาวจีน 5 ราย ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการปล่อยเงินกู้ผ่านแอพพลิเคชัน แล้วเรียกเก็บดอกเบี้ยโหด
บังเอิญ แก๊งปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหดรายนี้ ตั้งชื่อบริษัทว่า “ทรู ฟินเทค” พร้อมกับปล่อยแอปพลิเคชันใช้ชื่อว่า “TRUE CASH” และ “TRUE CASH PRO” ปล่อยเงินกู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยมีข้อดีคือไม่ต้องส่งเอกสารทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือน
เมื่อมีประชาชนหลงเชื่อดาวน์โหลดและสมัคร โดยกรอกเบอร์โทรศัพท์ กรอกชื่อ ข้อมูลส่วนตัว เงินเดือน บิลค่าไฟ อาชีพ รายได้ และให้ยินยอมใส่เบอร์โทรผู้ติดต่อ ใส่บัญชีธนาคารที่จะโอนเงินกู้
ปรากฏว่า แม้จะผ่านการอนุมัติ แต่เมื่อกู้ผ่านแล้วจะถูกหักค่าธรรมเนียม 22-28% แต่ลูกหนี้ยังต้องชำระเงินเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระตามกำหนดเวลา จะมีการทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ ด่าทอ คุกคาม
แถมมีการส่งข้อความ SMS เกี่ยวกับการเป็นหนี้ให้แก่บุคคลที่สาม ทำให้ผู้กู้ได้รับความอับอาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง
จากการสืบสวนของตำรวจ พบว่า แอปพลิเคชัน TRUE CASH PRO ดำเนินการโดยกลุ่มนายทุนต่างชาติ มีเงินหมุนเวียนในระบบต่อเดือน สูงถึงกว่า 100 ล้านบาท มีบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องในระบบหลายสิบบัญชี และมีบัญชีลูกหนี้นับหมื่นราย
เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีการโอนย้ายเงินไปยังบัญชีต่างๆ แบบสลับซับซ้อน ตามลักษณะการใช้งาน เช่น บัญชีรับโอนชำระหนี้, บัญชีโอนเงินกู้ให้ลูกค้า, บัญชีเพิ่มทุนในระบบ และบัญชีสำหรับแบ่งผลประโยชน์
และเวลาทวงหนี้ ยังได้ว่าจ้างบริษัททวงหนี้แห่งหนึ่ง ย่านโชคชัย 4 ให้ดำเนินการทวงถามหนี้ให้ โดยได้รับรายชื่อลูกหนี้ ให้ติดตามเดือนละประมาณ 5,000 ราย หากเก็บเงินกู้ได้ครบจำนวนจะจ่ายค่าจ้างให้รายละ 580 บาท
คดีในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เคยจับกุมนายทุนชาวจีนและสาวไทยปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหดผ่านแอปฯ BAHTLOAN
โดยมีการกระทำความผิดในลักษณะคล้ายกัน คือ ปล่อยกู้ผ่านแอปพลิเคชัน สมัครและอนุมัติได้เงินกู้ไม่ครบ แต่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด ถ้าจ่ายช้าจะมีพนักงานติดตามทวงหนี้ ใช้วาจารุนแรงและส่งข้อความ SMS ประจานเพื่อนๆ จนได้รับความอับอาย
ข้อมูลที่กลุ่มนายทุนได้มา ก็มาจากตอนที่สมัครสินเชื่อ ตั้งแต่ใส่เบอร์โทร.ผู้ติดต่อ ถ้าไฮเทคขึ้นมาหน่อย แอปกู้เงินจะขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะรายชื่อผู้ติดต่อ ข้อมูลการโทรเข้า-ออก และข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการใช้เงินกู้ ควรเลือกใช้บริการสินเชื่อที่เชื่อถือได้ ถูกกฎหมาย โดยสังเกตว่าได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำหรับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์)
อย่าเพิ่งหลงเชื่อรีวิวในอินเทอร์เน็ตว่า ปล่อยกู้ง่าย ได้เงินจริง เพราะอาจเป็นเพียงคำโฆษณาให้เราหลงเชื่อ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงินจะมีหลักในการพิจารณาหลายประการ และที่ผ่านมา ภาครัฐได้ช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น
ส่วนใครที่ตกเป็นเหยื่อแอปฯ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหด ติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 1 อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปทุมวัน หรือสายด่วน 1599 และ 0-2255-1898