“ขสมก.-สหภาพฯ” เข้าใจตรงกัน! ลุยเดินหน้าแผนฟื้นฟูฯ ยึดประโยชน์องค์กร-ประชาชน พ่วงลดภาระภาครัฐ นำงบพัฒนาภารกิจชาติ หลังไม่ต้องแบกภาระ ขสมก.
วันนี้ (19 มิ.ย) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่วานนี้ (18 มิ.ย. 2563) ได้ประชุมร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) พร้อมคณะผู้บริหาร และตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ตามข้อสั่งการของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงเรื่องการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) เพื่อทำความเข้าใจ หลังจากก่อนหน้านี้ สหภาพฯ ขสมก. ได้ยื่นคัดค้านการจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน ในเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทางนั้น ทั้งนี้ จากการประชุมดังกล่าว ได้สร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และได้เห็นด้วยถึงการดำเนินการในทุกฝ่าย พร้อมที่จะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึง ขสมก. และประชาชน
“ตอนนี้เห็นด้วยทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ อาจจะเข้าใจแผนคลาดเคลื่อนและไม่ได้มาหารือกันก่อน แต่ตอนนี้เห็นตรงกันแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดยหลังจากนี้ จะเดินหน้าตามกระบวนการและแผนที่กำหนดไว้เพื่อนำไปสู่การเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่จะดำเนินการในครั้งนี้นั้น เพื่อเป็นการลดค่าโดยสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ทำให้มีการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น ทั้งผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. และผู้ใช้ถนน เนื่องจากจะมีการปฏิรูปเส้นทางไม่ให้มีการทับซ้อน ส่งผลให้การจราจรไม่ติดขัด ขณะเดียวกัน รถที่จะนำมาให้บริการนั้น จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 รวมถึงจะไม่เป็นภาระของรัฐบาล สามารถนำงบประมาณไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นได้” นายสุระชัย กล่าว
ด้าน นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร ขสมก. และทำความเข้าใจถึงการดำเนินการแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. เมื่อวานนี้แล้วนั้น พบว่า หาก ขสมก. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ได้สำเร็จ จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น อาทิ การใช้บริการโดยมีค่าโดยสารที่ถูกลง หรือราคา 30 บาทตลอดวัน ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ในส่วนของพนักงาน ขสมก. นั้น ยืนยันว่า ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ จะไม่ได้รับผลกระทบต่อสภาพการจ้าง หรือกระทบต่อสิทธิผลประโยชน์ของพนักงาน นอกจากนี้ ในเรื่องการมีส่วนร่วมของสหภาพฯ ขสมก.นั้น หลังจากได้ร่วมประชุมกับฝ่ายบริหาร ขสมก. อนุญาตให้สหภาพฯ ขสมก.ส่งผู้แทนมาร่วมสังเกตการณ์ในกำหนดรายละเอียดทีโออาร์ (TOR) หรือการทำสัญญาจ้างเอกชนมาเดินรถ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่ทำให้ ขสมก.เสียเปรียบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างพนักงานขับรถในอนาคตด้วย