เรื่องนี้ต้องเริ่มเล่าที่ หม่อมเนื่อง ฤทธิสงครามรามภักดี นามเดิมคือ เนื่อง นนทนาคร ธิดาของ หลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทนาคร) และเป็นหลานลุงของ หลวงรามัญนนทเขตร์คดี (เจ๊ก นนทนาคร) นายอำเภอปากเกล็ดคนแรก ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล “นนทนาคร” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองมอญกับ “พระยาเจ่ง” เจ้าพระยามหาโยธา
หลวงนราบริรักษ์ได้นำบุตรสาว0ไปถวายตัวรับใช้ในวังเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศร์ จนกระทั่งอายุได้ ๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราขทานให้เป็นชายาของ สุลต่านอับดุล ฮามิด แห่งรัฐเตดาห์ หรือไทรบุรี ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของไทย และสุลต่านฮามิดมีตำแหน่งเป็น เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามราชภักดี ซึ่ง ตนกูอามีนา พี่สาวของสุลต่านฮามิด ก็ชื่นชอบธิดาของหลวงนราบริรักษ์คนนี้มาก่อน และเคยเอ่ยปากขอให้ไปอยู่ไทรบุรีในฐานะบุตรบุญธรรมมาแล้ว
หม่อมเนื่องเป็นชายาคนที่ ๔ ของสุลต่านอับดุล ฮามิด และเป็นชายาคนโปรด เนื่องจากเป็นกุลสตรีที่ฉลาดหลักแหลม จนมีโอรสธิดากับสุลต่านถึง ๑๒ คน แต่หม่อมเนื่องก็ไม่ได้เปลี่ยนศาสนาเข้ารีตอิสลามตามสวามีด้วย และเมื่อมารดาของท่านเสียชีวิต หม่อมเนื่องก็ขออนุญาตสุลต่านสร้างวัดไทยขึ้นที่เมืองอลอสตาร์ เมืองหลวงของรัฐเคดาห์ ซึ่งสุลต่านก็อนุญาต ทั้งยังไปร่วมพิธีด้วย ทำเอาเป็นงงไปตามกัน ที่สุลต่านอิสลามไปร่วมสร้างวัดพุทธ วัดนี้ก็คือ วัดราชานุประดิษฐ์ ซึ่งยังอยู่ในรัฐเคดาห์จนทุกวันนี้
สุลต่านฮามิดและหม่อมเนื่องได้ส่งบุตรชาย ๒ คน คือ ตนกูยูซุป และ ตนกูยิหวา มาเรียนที่กรุงเทพฯตั้งแต่เล็ก โดยเป็นนักเรียนของโรงเรียนราชวิทยาลัยในพระบรมอุปถัมภ์ยุคแรก ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ “มาแล..มลายู” ของ ชมรมประวัจิศาสตร์สร้างสรรค์ มหาวิทยาลับราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ว่าเพื่อนๆร่วมห้องของตนกูยูซุปต่างตกตะลึงเมื่อเห็นหน้าตนกูเหมือนกับสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ราวกับเป็นพี่น้อง ทั้งต่อมาเมื่อตนกูยูซุปได้รับทุนพระราชทานไปเรียนที่อังกฤษ ยังไปร่วมชั้นกับเจ้าฟ้าประชาธิปกฯที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกด้วย โดยเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงเรียนวิชาทหารม้าปืนใหญ่ ส่วนตนกูยูซุฟเรียนวิชาทหารช่าง และจบติดยศนายทหารพร้อมกัน ตนกูยูซุปได้กลับมารับราชการไทย เพราะตอนนั้นรัฐเคดาห์ตกไปเป็นของอังกฤษแล้ว
ตอนกลับมาจากอังกฤษก่อนจะเข้ามารับราชการไทย ตนกูยูซุฟได้พาภรรยาแหม่มแวะคารวะบิดามารดาที่รัฐเคดาห์ และเห็นว่าน้องชายคนเล็กอายุ ๑๐ ขวบ คือ ตนกูอับดุล เราะห์มาน ซนเหลือกำลัง ชอบหนีไปสนุกกับเพื่อน แม้ในแม่น้ำที่มีจระเข้ก็ยังลงไปว่ายเล่น ทำให้บิดามารดาเหนื่อใจ เลยขอรับไปเรียนที่กรุงเทพฯด้วย และฝากเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ตนเคยเป็นศิษย์เก่ามาก่อน
ตนกูยูซุปพาภรรยาและน้องไปอยู่ที่บ้านเพื่อนชื่อ แฉล้ม คุปตารักษ์ ซึ่งเคยเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกันที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แฉล้มก็มีน้องชายชื่อถวิล อายุรุ่นราวคราวเดียวกันตนกูอับดุล เราะห์มาน เลยได้คู่สนุก มีจักรยานขี่ไปโรงเรียนคนละคัน พอโรงเรียนเลิกก็เถลไถลไปด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นเพื่อนที่เข้ากันได้สนิท
ต่อมาตนกูยูซุปได้สร้างบ้านของตัวเองขึ้นไม่ห่างจากโรงเรียนเทพศินินทร์มากนัก พาภรรยาและน้องไปอยู่ ตนกูยูซุฟเข้าเป็นทหารติดยศร้อยเอก แต่ต้องทำงานเป็นตำรวจภูธรปราบปรามโจรผู้ร้าย บางวันกลับบ้านมีรอยกระสุนเฉี่ยวติดที่เสื้อมาด้วย เนื้อตัวไม่เคยบาดเจ็บ แต่วันหนึ่งตากฝนกลับมาเกิดเกิดเป็นปอดบวม เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ทำให้ภรรยาและน้องชายรวมทั้งบิดามารดาที่รู้ข่าวต้องเสียใจอย่างที่สุด ตนกูอับดุล เราะห์มานและพี่สะใภ้แหม่มไม่สามารถอยู่บ้านที่ขาดพี่ชายได้ ต้องกลับไปอาศัยบ้านของตระกูลตุปตารักษ์อยู่อีก รอจนกว่าทางไทรบุรีจะส่งคนมารับกลับ ส่วนศพของร้อยเอกยูซุฟถูกฝังไว้ที่สุเหร่ามหานาค
ตนกูอับดุล เราะห์มานต้องเศร้าสลดอีกครั้ง เมื่อจำใจต้องจากโรงเรียนและเพื่อนสนิท ทางเคดาห์ไม่ได้ส่งท่านเข้าเรียนในโรงเรียนเดอะมาเลย์คอลเลจ ที่ลูกเจ้านายของรัฐต่างๆศึกษากันมาก รวมทั้งพี่ชายของท่านก็ศึกษาอยู่ที่นั่น แต่กลับส่งท่านไปเรียนที่ปีนัง ซึ่งเป็นที่เรียนของคนสามัญที่มีฐานะ มีทั้งคนมาเลย์ คนจีน และคนไทยเรียนกันมาก จนอายุได้ ๑๖ ปี ตนกูอับดุล เราะห์มานก็ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ และสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้
ที่หอพักในลอนดอน ตนกูยังได้พบเพื่อนนักเรียนไทยอยู่ที่นั่นด้วยกันอีก ๓ คน และเป็นเพื่อนขี่จักรยานเที่ยวกัน ก่อนที่จะอ้อนวอนขอเงินหม่อมแม่ที่ได้แบ่งมรดกในเมืองไทย เอาไปลงทุนพัฒนาที่ดินในอลอร์สตาร์ได้กำไรมาก มาซื้อรถยนต์สปอร์ทคันงามได้ตามฝัน
เรียนอยู่ ๕ ปี ตนกูอับดุล เราะห์มาน ก็ได้ปริญญานิติศาสตรบัณฑิตจากเคมบริดจ์ แต่เมื่อเดินทางกลับบ้าน ทางราชการเห็นว่าอายุยังน้อยเพียง ๒๓ ปี จึงให้กลับไปศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตอีก แต่ครั้งนี้ตนกูกลับไปติดทั้งแหม่ม ม้า และคาสิโน ครบ ๓ ปีเลยต้องกลับบ้านมือเปล่า
ตนกู อับดุล เราะห์มาน กลับมารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอชายแดนหลายแห่ง และไปมีผลผลงานเด่นที่เกาะลังกาวี จึงได้ย้ายไปอยูเมืองสุไหงปาตานี เมืองอันดับสองรองจากอลอร์สตาร์ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นยึด มาเลเซียได้ คืนรัฐมลายู ๔ รัฐให้ไทย รัฐเคดาห์ก็กลับมาใช้ชื่อไทรบุรี ผลงานของตนกูอับดุล เราะห์มานในช่วงนี้ ก็คือการช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์จากภัยสงคราม เปิดค่ายผู้ลี้ภัยเป็นที่พักฟื้นกรรมกรทาสที่ถูกเกณฑ์แรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ไทยต้องคืนรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส กลับไปให้อังกฤษ ตนกูอับดุล เราะห์มาน แม้อายุขึ้นเลขสี่แล้ว เลยถือโอกาสกลับไปเรียนเนติบัณฑิตที่อังกฤษอีกจนสำเร็จ กลับมาเป็นอัยการผู้ช่วยที่กัวลาลัมเปอร์ แล้วก้าวหน้าจนเป็นประธานศาลชั้นต้น
ต่อมาเมื่อมีการอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง มีพรรคที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นคือ The United Malays National Organization (UMNO) ซึ่งเป็นพรรคของสุลต่าน ขุนนาง ชนชั้นสูง มีนโยบายอนุรักษ์นิยม และคัดค้านระบอบอังกฤษ ตนกูอับดุล เราะห์มานได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย รับตำแหน่งประธานสาขาพรรคของรัฐเคดาห์ จนได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอัมโน
ตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้เขียนในหนังสือพิมพ์รายวัน The Star ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๘๗ ถึงเรื่องการระดมทุนในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ว่า
“ตอนที่เราต่อสู้ในการเลือกตั้งในปี ๑๙๕๕ ผมได้เขียนจดหมายและร้องขอไปยังพวกผู้มีอำนาจ เศรษฐีอาหรับในสิงโปร์ ขอร้องไปยังบรรดามุสลิมในตะวันออกกลางทั้งหมด และเดินทางไปยังประเทศไทยด้วยเพื่อขอความช่วยเหลือ สุดท้ายก็มีแต่เพื่อนที่เมืองไทยเท่านั้นที่ช่วย เราต้องประเคนเงินทั้งหมดลงไปในการเลือกตั้งซึ่งได้ประมาณ ๑๓๕,๐๐๐ เหรียญ”
ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคอัมโนได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตนกูอับดุล เราะห์มาน ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี ภารกิจสำคัญก็คือการเจรจาเรื่องเอกราชของมลายูจากอังกฤษ โดยใช้ความสามารถในการเจรจาจนนำมาสู่การได้เอกราชในที่สุด
ในวันประเทศเอกราชของสหพันธรัฐมลายาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๐ ณ เมอร์เดก้าสเตเดียม ตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้ทำพิธีประกาศเอกราชขึ้น ท่ามกลางสุลต่านจากทั้ง ๙ รัฐ และดยุคแห่งโกลสเตอร์ ผู้แทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ พร้อมทั้งชาวมลายูกว่า ๒๕,๐๐๐ คนมาร่วมเป็นสักขีพยาน ตนกูอับดุล เราะห์มานได้ประกาศก้องว่า “เมอร์เดก้า”
เมื่อประเทศเป็นเอกราชแล้ว ตนกูอับดุล เราะห์มาน จึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งเอกราช”
หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียถึง ๑๓ ปี ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงได้วางมือทางการเมืองในปี ๒๕๑๓ และถึงอสัญกรรมในปี ๒๕๓๓ ขณะอายุได้ ๘๗ ปี
ในวาระที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๘ ตนกูอับดุล เราะห์มาน ได้ส่งสาสน์มาเพื่อระลึกถึงและอวยพร มีข้อความเป็นภาษาไทยว่า
“โรงเรียนเก่าของข้าพเจ้า โรงเรียนเทพศิรินทร์ จะฉลองครบรอบศตวรรษในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ นี่ต้องนับเป็นสถิติอันสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติอันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนไทยทั่วไป และโดยเฉพาะได้รับความเคารพนับถือจากนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเองเป็นนักเรียนเก่ามานานหนักหนาแล้ว จะพูดให้แน่ก็คือ ข้าพเจ้ามาเข้าโรงเรียนนี้ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเก่ามากว่า ๗๐ปีแล้ว และข้าพเจ้ามีความภูมิใจอย่างแท้จริงที่ได้มีส่วน
เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้ ข้าพเจ้ายังจำความเมตตาปราณีและความเอาอกเอาใจของคุณครู และเพื่อนนักเรียน
และเพื่อนเล่นด้วยกันที่แสดงต่อข้าพเจ้าได้ดีมาจนทุกวันนี้ ชีวิตสมัยนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะว่าเราไปโรงเรียนกันตอนแปดโมงเช้า และกลับเวลาบ่ายโมง เราจึงมีเวลาสำหรับเล่นสนุกกันตลอดทั้งบ่าย ข้าพเจ้ามีรถจักรยานคันหนึ่ง และข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนสนิทมากคือ ถวิล คุปตรักษ์ หลวงถวิลเศรษฐพาณิชยการ โดยขี่จักรยานไปเที่ยวทั่วกรุงโดยไม่มีควันน้ำมันมาทำให้อากาศอันบริสุทธิ์เป็นพิษหรือกีดกั้นหนทางของเรา มันช่างผิดกับทุกวันนี้เหลือเกิน
เราเคยไปหาของรับประทานที่บริเวณเชิงสะพานยศเส และข้าพเจ้าจำได้ว่า เนื้อสะเต๊ะไม้หนึ่งเคยมีราคาเพียงสตางค์เดียว และในเวลากลางคืนบางทีเราก็ไปที่ถนนราชวงศ์ เพื่อรับประทานข้าวต้ม ทั้งหมดนี้นับเป็นชีวิตที่แสนสนุกสบาย ในฐานะที่เป็นลูกเสือ เรามักจะมีการพบปะและชุนนุมกันในเมื่อมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมโรงเรียน ข้าพเจ้าเคยมีความภูมิใจในการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ
โรงเรียนได้เติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ และโรงเรียนนี้ได้ผลิตนักเรียนเก่าซึ่งได้เป็นนักการเมือง นายพล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลในวงการทูตมาแล้วมากมาย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันคงจะต้องมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าของเขาเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ในวาระที่ครบรอบร้อยปีนี้ เพื่อนนักเรียนรุ่นข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่อีกสักกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่คงจะมีไม่มากนัก ชีวิตของข้าพเจ้าตอนที่เป็นนักเรียนอยู่ที่นี่จะยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างผาสุกยิ่งตลอดไป
ข้าพเจ้าไม่สามารถจะมาร่วมกับท่านทั้งหลายในโอกาสอันเป็นมงคลและเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับนักเรียนเก่าและใหม่คราวนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งความปรารถนาให้ โรงเรียนประสบความสุขเจริญยิ่งๆขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะร่วมกับนักเรียนปัจจุบันและนักเรียนในอดีตที่จะตั้งความปรารถนาให้โชคดี และสำเร็จบังเกิดแก่โรงเรียนของเราตลอดไป”