xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมนูญ” ชี้ “องค์กรอนามัยโลก” ทำงานล่าช้า เชื่อไม่ค่อยได้ ยกเคส PM 2.5 ทำคนไทยตื่นตระหนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ กล่าวถึงการทำงานของ “องค์กรอนามัยโลก” ที่บางครั้งข้อมูลก็คลาดเคลื่อน เชื่อถือไม่ได้ เผยการระบาดขอโควิด-19 ทำคนไทยตาสว่าง รู้ว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกล่าช้า ยกกรณี PM 2.5 ออกมาเตือนเกินความเป็นจริงทำให้คนไทยตื่นตระหนกค่าฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป

วันนี้ (15 มิ.ย.) เพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีคำแนะนำของ “องค์การอนามัยโลก” ที่บางครั้งก็ล่าช้าไม่สามารถเชื่ถือได้ โดย “หมอมนูญ” ได้ยกเคสของ ฝุ่น PM 2.5 และโควิด-19 มาอธิบาย โดยได้ระบุข้อความว่า

“โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้คนไทยตาสว่าง ตื่นรู้ว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกล่าช้า บางครั้งกลับไปกลับมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีแถลงการณ์จากองค์การอนามัยโลก คนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถ้าไม่มีอาการ โอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นน้อยมาก เพียง 2 วันหลังจากมีแพทย์จากหลายประเทศออกมาโต้แย้ง องค์การอนามัยโลกก็กลับลำเปลี่ยนคำแถลงการณ์ใหม่ คนไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ (ดูรูป) ประเทศไทยทำถูกต้องแล้วที่แนะนำให้คนไทยสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคนเวลาออกนอกบ้าน เราไม่จำเป็นต้องทำตามองค์การอนามัยโลกทุกเรื่อง

ผมเคยทำงานเป็นแพทย์ที่สหรัฐอเมริกานาน 18 ปี ผมสังเกตว่าแพทย์ในสหรัฐฯ ไม่ให้น้ำหนักและความสนใจต่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) และสมาคมต่างๆ ของสหรัฐฯ จะออกคำแนะนำการดูแลรักษาโรคต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะเขาเห็นว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกไม่เหมาะกับสหรัฐฯ ใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเท่านั้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีงบประมาณจำกัด และระบบสาธารณสุขไม่ดีเพียงพอ เขาไม่สนใจคำติชมจากองค์การอนามัยโลก

ปกติเวลาออกคำแนะนำ องค์การอนามัยโลกจะตั้งค่ามาตรฐานสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาไว้ให้ต่ำกว่าประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถปฏิบัติตามได้ ยกเว้นคำแนะนำเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) องค์การอนามัยโลกกำหนดค่าตัวเลขของฝุ่น PM 2.5 ไว้ต่ำมากๆ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 ขนาดประเทศที่เจริญแล้วเช่นสหรัฐอเมริกายังปฏิบัติตามไม่ได้ สหรัฐอเมริกากำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 35 ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 12 สำหรับประเทศไทยกำหนดค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 (ดูรูป)

องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์อันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก คาดการณ์ว่าทั้งโลกแต่ละปีมีคนเสียชีวิต 4.2 ล้านคน (คนไทยเสียชีวิต 5 หมื่นคน) จากการหายใจฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมลพิษทางอากาศจากสิ่งแวดล้อม ตัวเลขนี้มากกว่าการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค และอุบัติเหตุทางถนนรวมกัน โดยส่วนตัวผมยังไม่สามารถบอกได้เลยว่าคนไข้ของผมคนไหนเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ผมเชื่อว่าตัวเลขของการเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ไม่มีหลักฐานรองรับ เป็นการคาดเดา เพื่อทำให้คนกลัวมากกว่า

คำแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกร่วมกับการผลักดันโดย NGO ทำให้คนไทยตื่นตระหนกค่าฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป เราไม่จำเป็นต้องเร่งรีบลดค่าฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก คนไทยควรร่วมมือลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ดูแลสภาพรถ ไม่ปล่อยควันดำ ไม่เผาทุกอย่างโดยไม่จำเป็น เป้าหมายของเราควรจะเป็นค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของสหรัฐอเมริกามากกว่าขององค์การอนามัยโลก”


กำลังโหลดความคิดเห็น