“หมอมนูญ” ระบุ WHO ทำงานล่าช้า หลังเพิ่งออกประกาศให้ทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 แนะถึงเวลาแล้วที่ WHO ต้องปฏิรูป รับฟังความเห็นต่าง เพื่อให้คำแนะนำในการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น
วันนี้ (9 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเผยว่า องค์การอนามัยโลก กลับลำแนะทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนมากพอว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงคนไม่ป่วย ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย มาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเวลาออกไปในที่สาธารณะ
คำประกาศใหม่ถือว่าล่าช้าเกินไป เนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ได้มีการแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้านก่อนหน้านี้แล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ล่าช้า WHO เพิ่งเตือนถึงผลเสียของการฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคพื้นที่กว้างใหญ่นอกอาคาร บนทางเดิน ถนน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายต่อผู้สัมผัส สิ้นเปลืองไม่ได้ประโยชน์ ทางกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ก่อนหน้าองค์การอนามัยโลกแล้ว
ย้อนหลังไป ค.ศ. 1997 องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์การตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำไม่ได้ สิ้นเปลือง และเปล่าประโยชน์ ผมออกมาโต้แย้งในปี ค.ศ. 1998 ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องตรวจ เพราะถ้าไม่ทราบผลความไวต่อยา อาจให้ยารักษาไม่ตรงกับเชื้อ ทำให้เชื้อยิ่งดื้อยามากขึ้น แพร่ระบาดให้คนอื่นต่อไป ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ขณะนั้นตอบว่า การแนะนำของผมขาดความรับผิดชอบ เพราะต้องดึงเงินจากงบประมาณอื่นมาใช้
ผมได้ก่อตั้งทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ในปี ค.ศ. 2001 ทำการตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคให้ รพ.ของรัฐฟรีทุกแห่ง ในที่สุด องค์การอนามัยโลกก็เปลี่ยนคำแนะนำใหม่ให้ทุกประเทศตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาก่อนเริ่มการรักษา แต่คำแนะนำนี้ล่าช้าเกินไป หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้วิจารณ์ความผิดพลาดในการทำงานขององค์การอนามัยโลกเรื่องวัณโรคในปี ค.ศ. 2012 (ดูรูป)
ในอดีต องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำความปลอดภัยทางถนน เน้นสาเหตุเฉพาะ เมา เร็ว เคารพกฎจราจร ใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ที่นั่งสำหรับเด็ก ผมออกมารณรงค์ง่วงอย่าขับ หลังจากดูแลคุณบิ๊ก ดีทูบี ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากง่วงหลับใน ปี ค.ศ. 2003 ผมได้ก่อตั้งทุนง่วงอย่าขับในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดีปี ค.ศ. 2005 ได้ทำการศึกษาอุบัติการง่วงหลับในของคนขับรถโดยสารและรถบรรทุก ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2006 (ดูรูป) รณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายจากง่วงแล้วขับ วิธีการแก้ไข ความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ และประโยชน์ของการงีบหลับ องค์การอนามัยโลกแถลงการณ์เพิ่ม ง่วงหลับใน ยาบางชนิดทำให้ง่วง การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในปี ค.ศ.2015 นี่คือ อีกหนึ่งความล่าช้าขององค์การอนามัยโลก
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนประเทศสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก และงดเงินสนับสนุน เนื่องจากองค์การอนามัยโลก “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” ในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และเป็นองค์กรที่อยู่ “ใต้เงาจีน”
ถึงเวลาแล้วองค์การอนามัยโลก ต้องมีการปฏิรูป ปรับปรุง รับฟังความเห็นต่าง เพื่อให้คำแนะนำในการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น