xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศูนย์ร้องทุกข์ พปชร.ยกเคส “แหลมเกตซีฟู๊ด” ตั้งใจโกงประชาชนไม่กลัวกฎหมาย เสนอบทลงโทษต้องรุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (12 มิ.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า หลังศาลอาญามีคำพิพากษาคดีแหลมเกตซีฟู๊ด ในฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน โดยผู้ต้องหาเปิด บริษัท แหลมเกต อินฟินิท จำกัด จำหน่ายอาหารทะเล และมีคนจองเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีการยกเลิกให้บริการ ทำให้ผู้เสียหายรวมตัวเข้าแจ้งความ กระทั่งศาลตัดสินให้จำคุก เจ้าของร้านอาหาร และกรรมการบริษัท รวม 3 คนๆ ละ 1,446 ปี ความผิด 123 กระทง ในความผิดร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จกับฐานหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนมีอัตราโทษเท่ากัน

นายสามารถ กล่าวอีกว่า การลงโทษฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341, 83 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทง ให้จำคุกจำเลยที่ 2, 3 ทุกกระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมปรับ 3,615,000 บาท แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ลงโทษคนละ 20 ปี นั่นคือ กฎหมายไม่สามารถลงโทษเป็นหลัก 1,000 ปีได้ ซึ่งในอดีตคดีแชร์แม่ชะม้อย ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุกแม่ชะม้อย 150,005 ปี แต่ติดจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน ดังนั้น พบว่า คดีประเภทนี้จะจำคุกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น สะท้อนว่า กฎหมายของประเทศไทยต้องมีการพัฒนาให้ทันกับยุคสมัยเพราะปัจจุบันประชาชนการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมิจฉาชีพเองไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษ


นายสามารถ กล่าวต่อว่า ผู้เสียหายคดีแหลมเกตซีฟู๊ด ก็ยังไม่ได้รับเงินคืน เนื่องจากตามกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 85 การคืนได้นั้นจะต้องให้ศาลเป็นผู้สั่งคืน แต่คดีนี้ถ้าตำรวจไม่ได้อายัดทรัพย์สิน ก็เป็นการยากที่จะได้เงินคืน แต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานฟอกเงินและไม่มีหมดอายุความ ตำรวจสามารถส่งเรื่องให้ ปปง. ติดตามยึดทรัพย์ได้ หรือผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องกับ ปปง. ได้ด้วยเช่นกัน แต่กว่าจะได้เงินคืนต้องดำเนินการหลายขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งตนได้หารือกับ ส.ส.หลายท่าน ตั้งญัตติศึกษาการแก้ปัญหาการฉ้อโกงประชาชนแล้วเสนอกฎหมายป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบที่มีความเสียหายจำนวนมาก เสนอเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว

“ผมเป็นห่วงพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ต้องเสียทรัพย์สิน เพราะถูกหลอกซื้อโปรโมชัน ฉะนั้น ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับการปกป้อง โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาการฉ้อโกงประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เน้นย้ำคณะทำงานพรรคเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว แต่ยังมีการหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง”


นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาต้องให้ความรู้กับประชาชน ต้องตรวจสอบบริษัทที่เข้ามาลงทุนหรือค้าขายกิจการ และต้องปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้อาชญากรรมลดน้อยลง ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาคดีฉ้อโกงประชาชนนั้น ออกมาตั้งแต่ปี 2500 แต่ปัจจุบันพบว่ามีการหลอกลวงประชาชนเป็นจำนวนมาก ต้องมีการทบทวนและพัฒนากฎหมาย ทั้งนี้ นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พปชร. เคยพูดอภิปรายในสภาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตนจึงคิดว่าประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพราะเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน โดยในช่วงภายใน 3 วันที่ผ่านมา ตนได้เห็นข่าวคดีฉ้อโกงประชาชนมากมาย เช่น คดีพีบีสมาทฟาร์เมอร์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบมีผู้เสียหายกว่า 50,000 คน ความเสียหายมากกว่า 3,000 ล้านบาท ถ้ามองถึงความเดือดร้อน 1 คน ที่ตกเป็นเหยื่อมีคนรอบข้างต้องเดือดร้อนด้วย นั่นคือ ปัญหาที่ต้องเร่งช่วยเหลือ อีกคดีปลอมแปลงเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน และอีกกรณีที่ภาคอีสานมีการหลอกลวงโกงเงินกองทุนเผาศพเสียหายกว่า 10 ล้านบาท นี้คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใน 3 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปัญหาการฉ้อโกงประชาชนนั้น มีการทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ต้องแก้ปัญหานี้ทั้งระบบ เพราะถือเป็นภัยความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ตนได้หารือกับ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ก็จะช่วยตั้งญัตติในการแก้ปัญหานี้ในสภาด้วย

“ก่อนหน้านี้ ได้มี ส.ส.พยม พรหมเพชร เคยหารือปัญหานี้ไปไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว ที่สภาผู้แทนราษฎร ผมเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน การแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทุกมิติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้แชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ 7 ต.ค. 2560 แต่วันนี้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ การฉ้อโกงประชาชนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จึงต้องรวมศูนย์ให้มีเจ้าภาพดำเนินการ และ เร่งมาตรการติดตามทรัพย์สินมาคืนกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว ผมได้รับเรื่องจากศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ ว่าชาวบ้านจำนวนมาก เคยนำเรื่องดังกล่าวหารือและเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีแล้ว เพื่อนำปัญหาเสนอ นายกรัฐมนตรีแล้ว ในส่วนกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ลงพื้นที่รับฟังการปัญหาและได้ทำความเห็นควรเสนอตั้งคณะกรรมการที่มี รองนายกฯ เป็นประธานโดยเฉพาะ เหมือนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ทำได้เป็นรูปธรรมแล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น