xs
xsm
sm
md
lg

“สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” วอนสื่อมวลชนไม่นำเสนอชื่อ-นามสกุล เด็กที่ถูกวางยา ห่วงกระทบชีวิตในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชน เรื่องการนำเสนอข่าวกรณีหญิงนำเด็กมาหาประโยชน์ โดยจุดประสงค์ไม่ต้องการให้สื่อนำเสนอชื่อ-นามสกุลของเด็กที่ถูกผู้เป็นแม่กระทำรุนแรง เนื่องจากห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

จากกรณีตำรวจกองปราบปรามบุกรวบสาวใจโหด ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำกรอกปากลูกบุญธรรม อ้างป่วยเป็นโรคประหลาด หลอกรับบริจาคจากได้เงินกว่า 10 ล้าน สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับการร้องเรียนว่าผู้ต้องหารายนี้ได้มีการพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชน โดยการโพสต์ข้อความเปิดรับบริจาคเงินและหลอกขายสินค้า เช่น หน้ากากอนามัยผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่าจะนำเงินไปรักษาลูกซึ่งป่วยเป็นโรคประหลาดมีไม่กี่คนที่เป็น จนมีคนหลงเชื่อจ่ายเงินสั่งสินค้าและบริจาคเงินช่วยเหลือกว่า 3,000 ราย มีการโอนเงินกว่า 8,000 ครั้ง รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

วันนี้ (26 พ.ค.) เพจ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เรื่องการนำเสนอข่าวกรณีหญิงนำเด็กมาหาประโยชน์ ระบุว่าข่าวที่ปรากฏในหลายสื่อมีการเปิดเผยชื่อของเด็ก แม้ว่าจะเป็นชื่อเล่น แต่ก็อาจนำไปสู่การที่ทำให้คนในชุมชนหรือแม้แต่สาธารณชนทราบถึงตัวตนของเด็กและอาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อมวลชนเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเด็ก และเยาวชน จึงขอความร่วมมือมายังสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นสมาชิก เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

1. งดเว้นการเปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ภูมิลำเนาที่อยู่ของเด็ก รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และภูมิลำเนาที่อยู่ของบิดา มารดา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ถึงตัวเด็กได้ โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก

2. ขอให้องค์กรสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวบนช่องทางออนไลน์ ลบข่าวหรือลบชื่อเด็กรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่สามารถทำให้สาธารณชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถทราบถึงอัตลักษณ์ของเด็ก ออกจากระบบฐานข้อมูลข่าวและพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง เพื่อมิให้สามารถเข้าถึงได้ในอนาคต

3. ยุติการนำเสนอข่าวดังกล่าวในประเด็นที่จะกระทบกระเทือนต่อจิตใจและการอยู่ร่วมในสังคมของเด็กในระยะยาว และหากจำเป็นต้องเสนอข่าว ขอให้นำเสนอข่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นความคืบหน้าทางคดีที่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 5 องค์กร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้การทำหน้าที่สื่อมวลชนเป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เคารพกฎหมาย ตลอดจนยึดมั่นในหลักสิทธิเด็ก และเยาวชนโดยเคร่งครัดต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น