xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 พ.ค.2563

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลวงพ่อสุดใจ ทนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
1.สลด! เพลิงไหม้กุฏิ “หลวงพ่อสุดใจ” เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาดมรณภาพ หลายฝ่ายคาใจทำไมรีบเผา!

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เวลา 13.50 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้กุฏิหลวงพ่อสุดใจ ทนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี หลังเกิดเหตุ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลบ้านตาด ได้นำรถดับเพลิงออกไปช่วยดับไฟ ด้านเจ้าหน้าที่ได้เร่งนำตัวหลวงพ่อสุดใจ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากไฟคลอกส่งโรงพยาบาลอุดรธานี อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อสุดใจทนพิษบาดแผลไม่ไหว ได้มรณภาพระหว่างทาง

ทั้งนี้ นายรุ่งชัย วิริยะบัณฑิตกุลได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากการสอบสวนพระสิทธิชัย สุขิโต อายุ 40 ปี พระลูกวัดวัดป่าบ้านตาด เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ พระอาจารย์นอนอยู่ในกุฏิ มีศิษยานุศิษย์เห็นไฟลุกไหม้บริเวณบันได และลุกลามอย่างรวดเร็ว จึงรีบแจ้งพระลูกวัดเข้าไปช่วย แต่ขึ้นบันไดไม่ได้ เพราะไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง จึงพากันปีนหน้าต่าง พบพระอาจารย์นั่งที่พื้น หน้าฟุบอยู่กับเตียง จึงช่วยกันใช้ไม้งัดเหล็กดัด แต่งัดไม่ได้ เพราะเหล็กแข็ง จึงลงมาตามพระมาช่วยกันอีกหลายคน พอส่องดูก็พบพระอาจารย์ลงไปนอนที่พื้นแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้ จึงช่วยกันฉีดน้ำดับไฟ และรอจนรถดับเพลิงมาถึง และฉีดน้ำดับไฟด้านหน้า เมื่อเพลิงเบาบางลง พระได้ช่วยกันงัดเหล็กดัดเข้าไปอุ้มร่างพระอาจารย์ที่หมดสติ และร่างกายถูกไฟลวกจากศีรษะถึงเท้า ออกมาทางหน้าต่าง ส่งโรงพยาบาล

ด้านพระพงษ์ศักดิ์ บัณฑิโต พระลูกวัดที่เข้าไปช่วยอีกรูป เล่าว่า เมื่อมาถึงกุฏิเจ้าอาวาส ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ เพราะไฟลุกโหมอย่างรุนแรง บริเวณจุดตั้งพัดลมแอร์ เห็นพระอาจารย์สุดใจถูกไฟลวกตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า คาดว่าจะสำลักควันไฟ พอดับเพลิงฉีดน้ำจนไฟสงบ จึงช่วยกันงัดเหล็กดัดหน้าต่างออก และอุ้มร่างออกมาทางหน้าต่าง ซึ่งพระอาจารย์ถูกไฟลวกจนผิวหนังหลุด และร่างกายแข็งหมดแล้ว

ขณะที่นายกอบเกียรติ กาญจนะ ไวยาวัจกร และอดีตรองผู้ว่าฯ อุดรธานี เผยว่า พระอาจารย์สุดใจ ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แต่จะปฎิบัติกิจของสงฆ์ทุกวัน เสร็จแล้ว จะกลับเข้ามานอนพักผ่อนที่กุฏิ เวลา 14.00 น. จะลุกขึ้นมาฉันยา เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จนมรณภาพ จะแจ้งให้พระผู้ใหญ่รวมทั้งพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย รับทราบและจะเดินทางมาให้คำปรึกษา ในการจัดพิธีตามแนวทางของพระวัดป่า ทั้งนี้ได้เสนอตั้งคณะกรรมการ ดูแลเรื่องการจัดพิธีงานฌาปนกิจศพ

โดยมีรายงานว่า คณะสงฆ์และฆราวาสประชุมหารือเรื่องการจัดพิธีศพพระอาจารย์สุดใจแล้ว ต่างเห็นพ้องกำหนดให้มีพิธีขอขมาสรีระสังขารองค์พระอาจารย์สุดใจ และประชุมเพลิงสรีระสังขารฯ ในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 16.00 น. บริเวณลานข้าวเปลือก ด้านข้างศาลาใหญ่ วัดป่าบ้านตาด

สำหรับสถานการณ์ที่วัดป่าบ้านตาดในวันนี้ (23 พ.ค.) พระเถรานุเถระ และคณะสงฆ์วัดป่าบ้านตาด โดยการนำของพระราชสารโกศล เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธ) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย ได้ประกอบพิธีแต่งตั้งพระอธิการสุธรรม สุธัมโม วัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ซึ่งพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเรียบง่าย และประชาชนที่มาร่วมในพิธีรับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้รักษาการเจ้าอาวาสได้มีการแต่งตั้งรักษาการไวยาวัจกรด้วย

พระราชสารโกศล เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธ) กล่าวว่า การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส เป็นมติของมหาเถรสมาคมที่ตั้งเพื่อปฏิบัติภารกิจงานศพของหลวงพ่อสุดใจ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากเสร็จสิ้นงาน คณะก็จะมีการประชุมของคณะสงฆ์เพื่อสรรหาเจ้าอาวาสต่อไป

ส่วนข้อสงสัยที่ญาติโยมถามมาเยอะว่า ทำไมรีบเผาหลวงพ่อสุดใจ พระราชสารโกศล กล่าวว่า การที่รีบเผาเพราะขณะนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนราชการและคณะสงฆ์จึงมีมติไม่ให้มีการชุมนุมของศรัทธาญาติโยมกันมากระหว่างงาน เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ จึงเห็นชอบให้เผาโดยเร็ว

ด้าน พ.ต.อ.หญิง สุธิสา ใครอุบล นวท. (สบ 4) พฐ.จว.อุดรธานี ได้นำเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบกุฏิพระอาจารย์สุดใจ ที่เกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งกุฏิเป็นไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ได้ถูกไฟไหม้บริเวณด้านหน้าจากบันไดถึงห้องนอน หลังคาได้รับความเสียหายหมดทั้งหลัง โดยตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัดอุดรธานี ได้นำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งทั้ง 4 ด้านของกุฏิ และมีตำรวจเข้าเวรรักษาความปลอดภัย ไม่ให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในกุฏิ เพราะภายในกุฏิมีเงิน ทองคำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ศิษยานุศิษย์ถวายสมทบทุนสร้างเจดีย์หลวงตามหาบัว

พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี เผยว่า เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว เพื่อเก็บพยานหลักฐานทุกสิ่ง โดยเฉพาะวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ขออย่าเข้าไปยุ่งในพยานและหลักฐาน ขณะนี้ตำรวจได้กั้นพื้นที่ด้วยโปลิศไลน์ไว้ เพื่อแสวงหาความจริง ส่วนความขัดแย้งในวัด ตำรวจไม่สามารถตอบได้ ขอให้เป็นความลับของการสอบสวน ซึ่งจะต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เบื้องต้นได้รับแจ้งจากทางนิติเวชว่า พบเขม่าควันไฟอยู่ในหลอดลมหลวงพ่อสุดใจ ร่องรอยการถูกทำร้ายขณะนี้ยังไม่ปรากฏ ส่วนการสอบพยานบุคคล ได้สอบพยานที่สำคัญ ซึ่งยังไม่บ่งชี้ไปในทิศทางใด ตำรวจยังเปิดกว้างในทุกประเด็น เพราะเสียชีวิตผิดทำธรรมชาติ

มีรายงานว่า พระอาจารย์อินทร์ถวาย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย เผยหลังประชุมหารือเรื่องพระอาจารย์สุดใจ ว่า จะส่งสรีรสังขารพระอาจารย์สุดใจ ไปผ่าชันสูตรที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ในวันนี้ (23 พ.ค.)

ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวันนี้ (23 พ.ค.) สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นายชวัช อรรถยุติ รองประธานสถาบันจุฬาภรณ์ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้แทนพระองค์วางพวงมาลาหน้าหีบสรีรสังขาร พระอาจารย์สุดใจ ทนฺตมโน

สำหรับพระอาจารย์สุดใจ ทนฺตมโน เป็นพระที่ทำงานใกล้ชิดกับพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้ริเริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พระอาจารย์สุดใจ มีนามเดิมว่า สุดใจ เชาว์สมุทร เกิดเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2487 ที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตทางพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

นายสุดใจได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2516 ที่วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ ได้รับฉายาว่า “ทนฺตมโน” ในพรรษาแรกได้อยู่ศึกษาอบรมกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี จากนั้นในพรรษาที่ 3 ได้มาอยู่ศึกษาอบรมกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

พระอาจารย์สุดใจได้รับความไว้วางใจจากหลวงตามหาบัว ให้ดูแลเรื่องหนังสือธรรมะต่างๆ โดยหนังสือของหลวงตามหาบัวเกือบทุกเล่ม ตลอดถึงการเทศน์ต่างๆ ที่ลงในเว็บไซต์หลวงตาดอตคอม จะต้องผ่านการตรวจจากพระอาจารย์สุดใจทั้งหมด โดยพระอาจารย์สุดใจดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2554 เป็นต้นมา กระทั่งมรณภาพ หลังเกิดเพลิงไหม้กุฏิ รวมอายุได้ 76 ปี

2.ศบค.ไฟเขียวต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. รองรับการคลายล็อกระยะ 3-4!

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมายังถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ โดยวันที่ 18 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสม 3,031 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,857 ราย อยู่ระหว่างรักษา 118 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดย 2 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี และชายไทย 55 ปี ติดเชื้อจากหน่วยงานราชการใน กทม. ซึ่งสถานที่ราชการดังกล่าวพบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย กรมควบคุมโรคกำลังติดตามผู้ที่ใกล้ชิดเพื่อให้เข้ารับการตรวจต่อไป ส่วนอีก 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี เป็นพนักงานขายสินค้าที่ จ.ภูเก็ต มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่ทำงานที่ จ.ภูเก็ต และเดินทางกลับไปยัง จ.ปราจีนบุรี

วันต่อมา 19 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสม 3,033 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,857 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 120 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่มาจาก จ.นราธิวาส ทั้ง 2 ราย เชื่อมโยงกับกรณีก่อนหน้านี้ที่มีผู้ชายคนหนึ่งไปรักษาตัวที่ รพ.สุไหงโก-ลก 2 รายนี้เป็นลูกเขย และลูกสาว ซึ่งสัมผัสใกล้ชิดจากการไปเฝ้าไข้พ่อ

วันต่อมา 20 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 31 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,034 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,888 ราย ยังรักษาใน รพ. 90 ราย ถือว่าต่ำกว่าร้อยแล้ว ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและกักตัวอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ในโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. โดยเป็นชาย อายุ 45 ปี เป็นเชฟร้านอาหารไทย เดินทางกลับมาจากประเทศบาห์เรน

วันต่อมา 21 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 9 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,037 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,897 ราย ยังคงรักษาใน รพ. 84 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย อยู่ใน กทม. รายแรกเป็นชายไทย อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน มะเร็งปอด ไปรักษาที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่งใน กทม. และมีประวัติไปตัดผมแถวประชาชื่น ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. มีอาการไข้ ไอ เสมหะ ไปรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง และย้ายมา รพ.รัฐแห่งเดิมที่เคยรักษา วันที่ 20 พ.ค. และตรวจพบเชื้อ ถือว่า รพ.และร้านตัดผมเป็นปัจจัยเสี่ยง

รายที่สอง เป็นชาย อายุ 42 ปี สัญชาติเยอรมัน ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการ มีประวัติไปเยี่ยมภรรยาที่ จ.ชัยภูมิ พบว่า มีญาติภรรยา 1 คนมีอาการไข้ คอแห้ง ไม่ได้ไปตรวจรักษา และเดินทางไปห้างสรรพสินค้าใน จ.ชัยภูมิ หลังกลับมา ไปตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน พบเชื้อ เข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง มีความสงสัยว่า จ.ชัยภูมิ อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่ชายคนนี้ติดเชื้อมา รายที่สาม กลับมาจากต่างประเทศ อยู่ในสถานกักกันของรัฐ เป็นหญิงไทย อายุ 25 ปี ไปเรียนภาษากลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์วันที่ 13 พ.ค. รักษาใน จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อวันที่ 19 พ.ค. ไม่มีอาการใดๆ

วันต่อมา 22 พ.ค. ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 13 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,037 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,910 ราย ยังรักษาใน รพ. 71 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย

ล่าสุด วันนี้ (23 พ.ค.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 6 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,040 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,916 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 68 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ แบ่งเป็น 1. คนไทยกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันของรัฐ 2 ราย ได้แก่ ชายไทย อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษากลับจากอียิปต์ อีกราย คือหญิงไทย อายุ 43 ปี เป็นพนักงานสปา กลับจากอินเดีย และ 2. ไปสถานที่ชุมชน 1 ราย เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 49 ปี ที่ จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเริ่มการประชุม โดยชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของทุกคนจนได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์โควิด-19 หลังคลายล็อกในระยะ 2 และการพิจารณาข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ให้ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนให้ครอบคลุมเดือน มิ.ย. ตามที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค.เสนอ เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนการคลายล็อกระยะ 3 และระยะ 4

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

3.ครม.เคาะ “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการ “บิ๊กตู่” ยันเป็นทางออกดีสุด ด้าน “ศักดิ์สยาม” เตรียมชง 30 รายชื่อเป็น กก.ฟื้นฟู!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขอแจ้งให้ทราบการตัดสินเรื่องของการบินไทย เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เป็นการตัดสินใจที่ตนรู้ว่าจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทุกคนได้อย่างไร และว่า ปัญหาการบินไทยทุกคนทราบดีว่ามีหนี้สินมากพอสมควร มีอยู่ 3 ทางเลือก คือ 1.การหาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อไป 2.ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ 3.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การฟื้นฟูอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะมีข้อกฎหมายหลายประการ ดังนั้นวันนี้ราจพ้แผ้นติ้งกามาตรการที่เหมาะสม และรัฐบาลได้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม.แล้ว “พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกทางปฏิบัติที่ 3 เป็นหนทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด คือการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล วิธีนี้เป็นวิธีการเดียวที่การบินไทยจะยังคงสามารถประกอบกิจการและดำเนินการต่อไปได้ พนักงานการบินไทยจะมีงานทำต่อไป ...การบินไทยถือว่าเป็นทูตที่ดีทางวัฒนธรรม ช่วยโปรโมตประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ...ตนหวังเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนว่า การช่วยเหลือการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จะช่วยให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งได้อีกครั้ง นี่คือการตัดสินใจของตนและ ครม.”

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดทำแผนขายหุ้นการบินไทยให้ต่ำกว่า 50% ตามมติ ครม.ตามความเหมาะสม และว่า การขายหุ้นการบินไทย แม้จะทำให้กระทรวงการคลังขาดทุน แต่ถ้าไม่มีการฟื้นฟูการบินไทย ราคาหุ้นลดลง จะกระทบต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นปัญหากับการบินไทยในระยะยาว

เมื่อถามว่า จะขายหุ้น 3% ให้กองทุนวายุภักษ์หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ขอรอดูแผนก่อน โดยสั่งการให้ สคร.ทำแผนให้เสร็จโดยเร็ว และต้องรัดกุม ทั้งนี้ นายอุตตม เผยอีกครั้งในภายหลังว่า กองทุนวายุภักษ์ 1 จะเร่งสรุปการซื้อขายหุ้นการบินไทยโดยเร็วที่สุดหรือภายในสัปดาห์หน้า ส่วนราคาซื้อขายจะต่ำกว่าราคาทุนก็สามารถทำได้ ไม่ขัดข้อกฎหมายใด อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ซื้อกับผู้ขาย เมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอ ครม.เพื่อทราบอีกครั้ง

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามคำสั่งศาล ไม่ใช่การปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย และว่า การยื่นต่อศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ นอกจากยื่นศาลไทย ต้องยื่นศาลที่สหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินต่างประเทศอยู่ประมาณ 35% จากการเช่าซื้อเครื่องบิน

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า “นายกฯ ได้มอบกระทรวงคมนาคมพิจารณาจัดทำแผนฟื้นฟู ตอนนี้ก็พิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ นำรายชื่อเสนอนายกฯ พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะไม่น้อยกว่า 30 คน ก่อนเสนอศาลพิจารณา”

4.อัยการสั่งฟ้อง "บรรยิน" กับพวก 9 ข้อหาหนัก โทษถึงประหาร คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา!

พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จำเลยคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา และจำเลยอีกหลายคดี
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยความคืบหน้าคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาว่า ตามที่นายเจษฎา อรุณชัยภิรมย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ได้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราบเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยคดีดังกล่าวมี น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผู้กล่าวหา ผู้ต้องหามีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์, นายมานัส ทับทิม, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายชาติชาย เมณฑ์กูล, นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข,ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ็อด วจีสัจจะ และชายไทยไม่ทราบชื่อ เป็นผู้ต้องหาที่ 1-7 ซึ่งคดีนี้ สืบเนื่องจากนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของ น.ส.พนิดา ผู้พิพากษาถูกอุ้มฆ่าโดยมูลเหตุมาจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษาในคดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็นจำเลยในคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ของศาลอาญากรุงเทพใต้

นายประยุทธ กล่าวว่า เมื่อสำนักงานอัยการได้รับสำนวนแล้ว นายเจษฎาจึงมอบหมายให้นายพรพิชัย ไชยมาตร อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ นายพรพิชัยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาคดี ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนการสอบสวนโดยรอบคอบแล้ว จึงเสนอความเห็นไปยังนายเจษฎา ซึ่งเห็นพ้องตามที่คณะทำงานเสนอ โดยสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์, นายมานัส ทับทิม, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายชาติชาย มณฑ์กุล, นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.ออด วจีสัจจะ ผู้ต้องหาที่ 1-6 ในข้อหา 1.ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิด 2.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย 3.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

4.ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป 5.เป็นซ่องโจรโดยสมคบกันเพื่อกระทำผิด ที่มีระวางโทษประหารชีวิต 6.ร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป 7.ร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย 8.ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี 9.ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน และเฉพาะ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกฟ้องเพิ่มเติมในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิและแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ เพื่อกระทำผิดอาญาอีกด้วย


นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังขอให้นับโทษ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นนายชูวงษ์ ที่ศาลลงโทษจำคุก พ.ต.ท.บรรยิน และนับโทษต่อจากโทษในคดีของศาลอาญาพระโขนง ซึ่งพนักงานอัยการฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ข้อหาฆ่านายชูวงษ์ โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอีกด้วย

สำหรับชายไทยไม่ทราบชื่อ ผู้ต้องหาที่ 7 พนักงานสอบสวนเสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่มีพยานใดๆ ว่าผู้ต้องหาที่ 7 ไปร่วมกระทำผิดกับผู้ต้องหาที่ 1-6 เมื่อพนักงานอัยการซึ่งเป็นคณะทำงาน รองอธิบดีอัยการและอธิบดีอัยการพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน โดยสั่งไม่ฟ้องชายไทยไม่ทราบชื่อผู้ต้องหาที่ 7 ตามเสนอ และ ผบ.ตร.เห็นชอบตามคำสั่งพนักงานอัยการดังกล่าว

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท บรรยิน กับพวกทั้ง 6 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว ซึ่งพนักงานอัยการไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เพราะผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ขั้นตอนต่อไปตามกฎหมาย ศาลจะเบิกตัวจำเลยมาสอบคำให้การว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การอย่างไร พนักงานอัยการก็ต้องสืบพยาน เพราะเป็นคดีมีโทษประหารชีวิต

ด้านศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้สอบคำให้การจำเลยซึ่งอยู่ในเรือนจำ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟังจนเป็นที่เข้าใจในพฤติการณ์และข้อหาที่ฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6 ได้แถลงยืนยันให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 4, 5, 6 ได้ยื่นคำแถลงเป็นเอกสารต่อศาลแล้ว ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 และนายมานัส จำเลยที่ 2 จะยื่นคำแถลงเป็นเอกสารต่อศาลในวันนัดตรวจหลักฐาน สำหรับนายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 3 แถลงให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยทนายความจำเลยที่ 3 ขอยื่นคำให้การในวันนัดตรวจหลักฐาน

ด้านศาลได้ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยาน คำแถลงเกี่ยวกับประเด็นและความจำเป็นต้องสืบพยาน รวมทั้งวิธีการให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นต่อเจ้าพนักงานคดีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 22 พ.ค. นอกจากนี้ศาลยังระบุด้วยว่า เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและคู่ความในวันนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณศาล จึงเห็นสมควรให้พิจารณาเป็นการลับ โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในส่วนของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 มิ.ย. ส่วนจำเลยที่ 2-6 วันที่ 25 มิ.ย.

5."พนม ศรศิลป์" อดีต ผอ.พศ. อ่วม คดีทุจริตเงินทอนวัด รวมโทษ 7 สำนวน จำคุก 91 ปี 36 เดือน ให้ร่วมชดใช้ 85 ล้าน!

นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.)
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนวนที่ 4 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), นายบุญเลิศ โสภา อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง, นางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา, นายแก้ว ชิดตะขบ อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา, นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารฯ ทำการรับรองหลักฐานเป็นเท็จ, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว

จากกรณีจำเลยร่วมกันเบียดบังเอาเงินงบประมาณของสำนักงาน พศ. ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงินงบประมาณ โดยมีสำนักงาน พศ.เป็นผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ พร้อมสืบพยานต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยทั้งห้าถูกคุมขังในเรือนจำ

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้ว พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปโดยมิชอบฯ ซึ่งเป็นโทษบทหนักสุดรวม 2 กระทง โดยกระทงแรก จำคุกคนละ 14 ปี และกระทงที่ 2 อีกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปี ในทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 13 ปี 4 เดือน และให้ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 21,007,235 บาทแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วย ส่วนเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปโดยมิชอบฯ ให้จำคุก 4 ปี และให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1-4 ชดใช้เงิน 2,007,235 บาทคืนให้สำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วย

วันเดียวกัน ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้อ่านคำพิพากษา สำนวนที่ 5 คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ., นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), นายณรงค์ เดชชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา (พศ.) และนายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โดยศาลพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ เป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 ปี ในทางนำสืบของจำเลยที่ 1, 2 เเละ 4 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1, 2 เเละ 4 คนละ 4 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 2 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโทษจำคุกของนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. ที่ศาลอ่านคำพิพากษารวม 7 สำนวน จะต้องรับโทษจำคุกทั้งสิ้น 91 ปี 36 เดือน และต้องร่วมกับพวกชดใช้คืน พศ. เป็นเงินทั้งสิ้น 85,207,235 บาท อย่างไรก็ตาม โทษใน 7 สำนวนดังกล่าวยังเป็นเพียงการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ได้ตามสิทธิและขั้นตอนกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น