“มล.กร” ชำแหละ “ทุนพลังงาน” เอาเปรียบประชาชนแม้กระทั่งช่วงโควิด น้ำมันยังแพงกว่าเพื่อนบ้านเกือบ 2 เท่า แฉหลังรัฐประหารกำไรบริษัทพลังงานพุ่งกระฉูด 9 หมื่นล้าน พร้อมเปิดข้อมูลข้าราชการใหญ่เข้าไปนั่งกรรมการ โกยราว 60 ล้าน แล้วอย่างนี้จะเป็นกลางได้หรือ จี้นายกฯเร่งจัดการราคาพลังงานให้เป็นธรรม ก่อนที่ประชาชนจะทนไม่ไหว
วันที่ 20 พ.ค. 63 ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “New Normal พลังงานไทย นโยบายควรไปทางไหนหลังโควิด-19”
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การผลักดันให้ประชาชนได้ใช้พลังงานที่เป็นธรรม ดูเหมือนเป็นความฝันที่ห่างไกล ทิศทางที่จะไปสู่นิวนอร์มัลของไทย มีอุปสรรคมากมายเหลือเกิน เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง ราคาน้ำมันดิบช่วงโควิด อยู่ที่ประมาณ 2-6 บาทต่อลิตร ต่อให้บวกไปมาก็ไม่น่าจะถึง 20 บาท ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ถูกมาก อย่างพม่า เบนซิน 95 ราคา 11 กว่าบาท ดีเซล 10 กว่าบาท ส่วนไทย เบนซิน 95 อยู่ที่ 26 บาท ดีเซล 18 บาท ทั้งที่พม่านำเข้าจากไทย รวมไปถึงมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ ของไทยก็ยังแพงกว่าเกือบ 2 เท่า
ก็ต้องคิดว่าทุก 1 บาท ของเบนซิน ดีเซล คนไทยจะใช้อยู่ประมาณ 100 ล้านลิตรต่อวัน ทุก 1 บาทที่ผิดพี้ยน คือ 100 ล้านบาทต่อวัน ถ้า 365 วัน ก็คือ 3.65 หมื่นล้านบาท เวลาราคาผิดเพี้ยน มันต้องมีคนได้ประโยชน์
วันนี้นโยบายที่มีอยู่ มันมุ่งไปสู่กลุ่มทุนพลังงาน วันนี้ขณะที่บริษัทพลังงานทั่วโลกเสี่ยงเจ๊ง แต่ของไทยน่าจะไม่เจ๊ง โดยเฉพาะที่เป็นเครือข่ายของรัฐ เพราะมีประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระต่างๆ อยู่แล้ว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ดูที่เอทานอล ซึ่งใช้ในเบนซินด้วย เพื่อทำแก๊สโซฮอล์ มันเป็นเรื่องดี ถ้าผสมด้วยราคาตลาดโลก จะทำให้เบนซินถูกลง แต่เราผสมด้วยราคาแพงกว่าตลาดโลก 2-3 เท่า ทำให้แก๊สโซฮอล์ยิ่งแพงขึ้น รัฐก็ไม่ได้เข้าไปกำกับตรงนี้ โดยบอกว่าเป็นกลไกตลาดเสรี ตนขอถามว่ามันเสรีจริงหรือไม่
สุดท้ายพลังงานไทยไม่มีวันถูก เพราะจะหาที่ชดเชยให้ได้อยู่ดี เอทานอลเราผลิตเองจากพืชผลทางเกษตร อย่างน้อยควรใกล้เคียงตลาดโลก แล้วอ้างว่าเกษตรกรได้ ถามว่ามีได้จริงหรือ ตนไม่เคยเจอเลย เกษตรกรที่รวยจากราคาเอทานอลแพง
กองทุนน้ำมันถ้าบริหารจัดการดีๆ น่าจะได้ประโยชน์กว่านี้ เมื่อเอทานอลแพงขนาดนี้ เอาไปใช้ในทางด้านการอนามัยพอ ไม่ต้องผสมน้ำมันในช่วงนี้ ราคาน้ำมันจะถูกลงทันที เพราะไมต้องไปอุดหนุนเอทานอลแล้ว ในอาเซียนไม่มีใครใช้เอทานอลผสมน้ำมันเลย แต่ไทยยังอ้างเกษตรกรอยู่เสมอ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า แอลพีจี มาจาก บงกช เอราวัณ ลานกระบือ ตอนนี้ไทยนำเข้าน้อยมากแล้ว มีใช้พอเพียง ปัญหาคือ มาจากไทย แต่ราคาแพงกว่าตลาดโลก 100 กว่าเปอร์เซ็นต์
นอร์มัลของประเทศไทย คือ ประชาชนเสียประโยชน์ และมีคนอื่นได้ประโยชน์แน่ๆ ราคาใกล้ตลาดโลก แพงกว่านิดหน่อยไม่ว่า แต่ แพงกว่าเท่าตัว แล้วคนไทยไม่รู้ ยิ่งช่วงโควิด ราคาน้ำมันถูก แต่จริงๆ มันถูกกว่านั้น กลายเป็นวิกฤตนี้กลายเป็นโอกาสของใครบางคน
สุดท้ายต้องถามว่ากลุ่มทุนพลังงานมีอำนาจมากกว่ารัฐหรือไม่ แต่ผลประกอบการบริษัทพลังงาน หลังรัฐประหาร เอาเฉพาะธุรกิจก๊าซธรมชาติ ปกติกำไร 4 หมื่นล้าน พอปี 61 พุ่งไป 9 หมื่นล้าน แล้วเกิดจากสูตรของรัฐทั้งนั้น ก๊าซเมืองไทยแต่ให้สมมติมาจากซาอุฯ เพื่ออะไร ที่สำคัญ ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น หรือก๊าซหุงต้มจากเดิมโลละ 10 บาท พอรัฐประหาร ให้เปลี่ยนเป็นราคานำเข้ามาจากซาอุฯ กำไรมันถึงพุ่งขนาดนี้
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เราพบว่าข้าราชการไปเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน จากที่ตนทำวิจัยมา พบว่า ปี 49-60 ข้าราชการกระทรวงต่างๆ เข้าไปเป็นกรรมการมากมาย ยกตัวอย่าง ข้าราชการด้านพลังงานและปิโตรเลียม เข้าไปเป็นกรรมการ 27 คน ค่าตอบแทน 400 กว่าล้าน ข้าราชการกระทรวงการคลัง 32 คน ได้ไป 300 กว่าล้าน ฝ่ายความมั่นคงทหาร-ตำรวจ 37 คน ได้ไป 285 ล้าน
ถามว่า ข้าราชการ ช่วงหนึ่งในการเป็นกรรมการ ได้กันไป 50-60 ล้านบาท เขายังเป็นกลางได้หรือเปล่า เงินจากข้าราชการอย่างเดียวไม่ถึงแน่ ในประเทศที่มีธรรมาภิบาลจะไม่ให้เกิดขึ้นเลย แต่ของเราทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ถ้ายังทำแบบเดิม การเมืองก็จะไปสู่นิวนอร์มอล เมื่อประชาชนทนไม่ไหว นายกฯ ต้องทำเรื่องนี้ พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเข้าขาทำด้วยกันให้ได้