xs
xsm
sm
md
lg

ร้องโรงงานแยกขยะ บางโทรัด สมุทรสาคร แอบขุดหลุมฝังกลบในพื้นที่ ไม่ส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.บางโทรัด อ.เมืองสมุทรสาคร ร้องโรงงานคัดแยกขยะ ขุดดินพื้นที่ว่างหลังโรงงาน หวั่นนำของเสียจากการคัดแยกไปฝังกลบอย่างไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีใบอนุญาต ไม่ส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง ชี้เคยถูกร้องเรียนหลายครั้งแต่ยังไม่ถูกลงโทษ ชาวบ้านทนดมกลิ่นเหม็นหลายปี หวั่นมลพิษซึมลงดินและแหล่งน้ำ



ภาพที่ชาวบ้านหมู่ 3 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสารคร บันทึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นภาพที่โรงงานคัดแยกขยะ บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน เอเนอร์จี้ จำกัด ใช้รถแบ็คโฮขุดดินบนพื้นที่ว่างหลังที่ตั้งของโรงงาน โดยทั้งในหลุมที่ขุดมีเศษขยะกองอยู่ และมีเศษขยะชุมชนจำนวนมากอยู่รอบๆ พื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน เพราะเกรงว่าโรงงานจะนำของเสียที่เหลือจากการคัดแยกขยะมาฝังกลบในพื้นที่ จึงนำไปร้องเรียน เพราะโรงงานแห่งนี้ไม่มีใบอนุญาตฝังกลบ ต้องนำของเสียส่งไปกำจัดที่โรงงานรับกำจัดขยะที่ถูกต้องเท่านั้น

นางสุณิสา โชติกเสถียร แกนนำกลุ่มรวมพลังคนรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ เปิเผยว่า ชาวบ้านเห็นว่ามีความพยายามขุดหลุมที่ด้านหลังโรงงานแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา จนวันที่ 12-13 พฤษภาคม จึงพยายามหาช่องทางที่จะบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน เพราะแม้ว่าโรงงานจะถูกร้องเรียนหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ถูกลงโทษรุนแรงจากหน่วยงานท้องถิ่น ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวบ้าน 2 หมู่ ใน ต.บางโทรัด และอีก 3 หมู่ ใน ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว ซึ่งอยู่ห่างไปไม่ถึง 300 เมตร ต้องทนกับกลิ่นเหม็นของขยะมาหลายปีแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้ฝังกลบขยะในพื้นที่อีก ชาวบ้านก็กังวลว่าจะก่อให้เกิดมลพิษซึมลงไปในชั้นดินและแหล่งน้ำ

ผลของการนำหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอการขุมหลุมฝังกลบขยะในโรงงานแห่งนี้ไปร้องเรียนกับ อบต.บางโทรัด ซึ่งเป็นผู้อนุญาต “ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ” ให้กับโรงงาน ตั้งแต่ปี 2560 ปรากฎว่า ทาง อบต.บางโทรัด ออกคำสั่งให้โรงงานนำขยะที่เตรียมฝังกลบ เคลื่อนย้ายออกไปกำจัดให้ถูกต้องภายใน 7 วัน และยังพบว่า มีการผลิตปุ๋ยจากขยะ โดยก่อให้เกิดฝุ่นคลุ้งกระจายทั่วบริเวณ จึงสั่งแก้ไขโดยหาผ้าใบหรือผ้ายางพลาสติกปิดบ่อปุ๋ย โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 21 พฤษภาคม เช่นเดียวกัน โดยในการตรวจสอบ มีทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอบางโทรัด สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร

แกนนำกลุ่มรวมพลังคนรักบ้านเกิด กลับยังไม่พอใจผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ เพราะเพียงออกคำสั่งให้โรงงานแก้ไขนำขยะออกไปที่อื่นเท่านั้น แต่กลับไม่ทมีบทลงโทษ ไม่สั่งปิดโรงงาน ทั้งโรงงานแห่งนี้ มีเพียงใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทใดเลย และการพยายาม “ฝังกลบขยะ” โดยไม่มีใบอนุญาตฝังกลบ ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน จึงเห็นว่า หน่วยในท้องที่มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะชาวบ้านมีหลักฐานชัดเจน ซึ่งอีกไม่นานก็จะเกิดปัญหาอีก

โรงงานคัดแยกขยะแห่งนี้ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 มีเจ้าของเป็นชาวจีน เดิมทีพยายามขออนุญาตเปิดกิจการโรงไฟฟ้าขยะ โดยขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งยังไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จึงไม่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง เพราะรัฐบาลในขณะนั้นยังไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้า

ต่อมาปีเดือนตุลาคม 2559 ถูกประชาชนในพื้นที่ ร้องเรียนว่านำ “ขยะ” เข้ามาคัดแยกในพื้นที่ ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต จนทหารเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และใช้อำนาจ คสช.สั่งปิดโรงงาน

จากนั้น โรงงานพยายามขอจัดตั้งเป็นโรงงานอัดล้างบดเม็ดพลาสติก แต่ก็ไม่ได้ใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีเอกสารร้องเรียนจากชาวบ้านว่าเคยกระทำความผิดมาก่อน

ต่อมา โรงงานนี้ ได้ปรับปรุงเครื่องจักร โดยถอดออกให้มีกำลังไม่ถึง 500 แรงม้า จึงสามารถขออนุญาต “ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กับ อบต.บางโทรัด ได้ใบอนุญาตในปี 2560 แต่บริษัทนี้ ก็ไม่สามารถประมูลขยะใดๆจากองค์กรปกครองท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร ได้ เพราะมีหนังสือร้องเรียนไปยังทุกท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร จึงไม่ผ่านคุณสมบัติที่ระบุว่า “ต้องไม่เคยถูกร้องเรียน” แต่ก็สามารถไปประมูลขยะมาได้จาก จ.สมุทรสงคราม และ จ.ราชบุรี ผ่านเอกชนรายอื่น

ส่วนในพื้นที่ ต.บางโทรัด นางสุณิสา เล่าว่า บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน เคยร่วมกับอีกบริษัทหนึ่ง ประมูลขยะมาจัดการแข่งกับเอกชนที่เคยทำมาก่อน แต่บริษัทเอง ไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้ อบต.บางโทรัด สั่งยกเลิกการประมูล

จากนั้น อบต.บางโทรัด จัดการประมูลขยะใหม่ ด้วยการนำคู่แข่งรายเดิม มาประมูลแข่งกับบริษัท ที่เคยร่วมกับ สมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน และในที่สุดบริษัทที่เคยร่วมมือกันก็ชนะการประมูล โดยเสนอราคาต่ำกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลขยะไปด้วยราคาที่ต่ำมาก จะนำไปสู่การกำจัดขยะที่ถูกต้องหรือไม่

เดือนสิงหาคม 2562 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสาคร อุตสาหกรรมจังหวัด และมูลนิธิบูรณะนิเวศ เข้าตรวจโรงงานอีกครั้งหลังตั้งกรรมการตรวจสอบจากการถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่น โดยระหว่างการตรวจสอบ ก็พบว่า ขยะที่เหลือจากการคัดแยก ซึ่งควรถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง กลับถูกนำไปทำปุ๋ยหมักอยู่ในโรงงาน ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตทำปุ๋ย โดยโรงงานอ้างว่า เป็นสารปรับปรุงดิน จนกระทั่งสาธารณสุขจังหวัด ยืนยันว่า สารปรับปรุงดิน ก็คือ ปุ๋ย จึงถูกลงโทษ และมาพบเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ พยายามนำขยะที่ต้องส่งไปกำจัดที่อื่น มาฝังกลบในพื้นที่ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะ














กำลังโหลดความคิดเห็น