ผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการตายของ “เตี้ย” สุนัขแสนรู้ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกโรงปกป้องลูกน้อง อ้างเป็นคนรักสัตว์ ทำงานดี เชื่อเป็นเหตุสุดวิสัย ขณะที่ทัวร์ลงเพจ ตชด.33 ค่ายสมเด็จพระบรมราชินี วอนพิจารณาไล่ออกจากราชการเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ระบุไม่เชื่อคำให้การ ขัดแย้งผลชันสูตร อย่าให้ใครบอกตำรวจไทยอุ้มหมาไม่มีทางสู้
จากกรณีการตายของ “เตี้ย” สุนัขเพศผู้สีขาว น้ำตาล และดำ อายุ 8 ปี อาศัยอยู่ที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบซากบริเวณป่าในซอยพระนาง ด้านหลังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา บ้านช่างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เมื่อเย็นวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ได้เข้าช่วยเหลือติดตามประสานงานคดีร่วมกับแอดมินเพจ “เตี้ย มช.” และตำรวจสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก กระทั่งพบชายต้องสงสัยขับขี่จักรยานยนต์เรียกเตี้ยขึ้นรถ บริเวณลานจอดรถภายในมหาวิทยาลัย เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะพาออกจากมหาวิทยาลัย เข้าซอยพระนาง ทางไปยังจุดพบซากของเตี้ย
ต่อมาชายผู้ต้องสงสัย ทราบชื่อคือ ส.ต.ท.ปริญญา ปัญญาบุตร หรือหมู่แบงค์ อายุ 27 ปี ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 (ตชด.33) เจ้าตัวอ้างว่า สงสารที่เตี้ยไม่ได้ออกไปไหน จึงคิดจะพาไปเที่ยว แต่เตี้ยกระโดดลงจากรถขณะขับขี่ทำให้ล้อหลังทับตายทันที จึงนำไปโยนทิ้งพร้อมโกยใบไม้กลบเพื่อหลบหนีความผิดและการติดตามตัว ที่ผ่านมาไม่ได้แสดงตัวเพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อหน้าที่ราชการ ขณะที่ น.ส.ณภัทร นิธิวรภาส เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ได้ขอแจ้งความในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ และพบข้อพิรุธหลายอย่าง ทั้งคำรับสารภาพที่ว่าเตี้ยโดดลงรถแล้วล้อหลังทับตาย รวมทั้งบาดแผลของเตี้ยมีรูลึก 1 เซนติเมตร 4 รู โดยมีพยานว่าได้ยินเสียงปืน 4 นัด ในคืนที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังสงสัยว่าทำไมผู้ต้องสงสัยต้องพาออกนอกมหาวิทยาลัยในช่วงเวลา 2 ทุ่ม ทั้งที่เวลา 22.00 น.เป็นช่วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ส.ต.ท.ปริญญา พร้อมพี่สาวและผู้บังคับบัญชา เข้ามาสอบปากคำเพิ่มเติมที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 2 ชั่วโมง จากการสอบปากคำ ส.ต.ท.ปริญญายังคงยืนยันคำให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเคยเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีความผูกพันกับเตี้ย จึงตั้งใจพาไปเที่ยว แต่เมื่อถึงจุดที่ใกล้กับจุดที่พบซาก เตี้ยกระโดดลงจากจักรยานยนต์แต่ไม่พ้นทำให้ล้อหลังของรถทับเตี้ยตาย ก่อนนำซากไปทิ้งที่ป่าละเมาะและนำใบไม้ปิดไว้ ก่อนจะขี่จักรยานยนต์กลับบ้านพักไป กระทั่งมีผู้ตามหาเตี้ยจนพบซาก จึงเข้าพบพนักงานสอบสวนชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด
ขณะที่ พ.ต.อ.อภิชาติ รักพงษ์ ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัมรินทร์ทีวี ระบุว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาออกมารับสารภาพพาเตี้ยออกจากมหาวิทยาลัยจริงและประสบอุบัติเหตุ กลัวความผิดจึงนำเตี้ยไปทิ้งเอาไว้ข้างทาง เจ้าตัวเสียใจกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่วนต้นสังกัดจะต้องรอผลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา นิสัยใจคอตัวจริงเป็นคนรักสัตว์ และปฏิบัติงานดี เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย
“ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาผมคงมีความสัมพันธ์กับสุนัขตัวนี้ คงรักชอบพอเขา นิสัยปกติเขาก็น่าจะเป็นคนดูแลรักสัตว์อยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาระดับต้นพาตำรวจนายนี้ไปชี้แจงข้อมูลต่อพนักงานสอบสวน แต่ในทางปฏิบัติของหน่วยของเราก็ต้องทำ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง ตามที่น้องเขาให้การมาหรือเปล่า การกระทำผิดของเจ้าตัวเนี่ย พนักงานสอบสวนลงความเห็นว่ายังไง ซึ่งลงโทษมันมีหลายบทอยู่” พ.ต.อ.อภิชาติกล่าว
ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ “กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี” พบว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของ ส.ต.ท.ปริญญา จำนวนมาก เรียกร้องให้ต้นสังกัดสอบวินัยพิจารณาลงโทษให้ออกจากราชการ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ อย่าช่วยเหลือผู้กระทำความผิด เนื่องจากไม่เชื่อในคำให้การของ ส.ต.ท.ปริญญา ที่ขัดแย้งต่อผลชันสูตร อีกทั้งชีวิตทั้งคนและสัตว์มีค่าเท่ากัน ไม่ว่าคนหรือสัตว์ย่อมรักชีวิตตัวเอง ขอความเป็นธรรมให้แก่เตี้ยด้วย อย่าคิดว่าเป็นเพียงแค่สุนัขตัวหนึ่ง อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำให้ตำรวจไทยเสื่อมเสีย จะไปบอกเล่าให้ใครฟังได้ว่าตำรวจไทยอุ้มฆ่าหมาไม่มีทางสู้ มันน่าอับอายที่สุด ไม่ใช่ว่าเป็นตำรวจอยากยิงอยากทำอะไรใครก็ทำได้ สุนัขก็มีหัวใจมีความรู้สึกเหมือนคน และยังซื่อสัตย์กว่าคนด้วยซ้ำ คนที่มีจิตใจอำมหิต ไม่มีความเมตตาต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้ ไม่สมควรสวมใส่เครื่องแบบ ให้เสื่อมเสียสถาบัน อย่าลืมว่าประชาชนหลายหมื่นหลายแสนคนจับจ้องหน่วยงานของพวกคุณอยู่ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ควรมีพฤติกรรมโหดเหี้ยม ทารุณกรรมเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ เป็นต้น