รมว.มหาดไทย ไฟเขียวเปลี่ยนชื่อ “อบต.ท้อแท้” พิษณุโลก เป็น “อบต.ทองแท้” มีผลวานนี้ (14 พ.ค.) อ่านประวัติพบในอดีตเดินทางแสนลำบาก ถ้าไม่ใช้เรือพายก็ขี่ม้านั่งเกวียน แม้แต่เจ้าเมืองพิษณุโลกยังท้อ ขณะที่กระบวนการเปลี่ยนชื่อพบทั้งตำบลไฟเขียว ก่อนเสนอจังหวัดและมหาดไทยเมื่อปีที่แล้วตามลำดับ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ราชกิจจานุเกษาตีพิมพ์ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ ลงนามคำสั่งโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า ด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ประสงค์จะขอเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติความเป็นมาและเจตนารมณ์ของประชาชนในเจตองค์การบริหารส่วนตำบล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงให้เปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563
สำหรับตำบลท้อแท้ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวัดโบสถ์ไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแควน้อย มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านท้อแท้, หมู่ 2 ท่าช้าง, หมู่ 3 บ้านเหล่าขวัญ, หมู่ 4 บ้านเหล่าขวัญ, หมู่ 5 บ้านท้อแท้, หมู่ 6 บ้านดงกระบาก, หมู่ 7 บ้านหนองมะคัง, หมู่ 8 บ้านท่ากระดุน ข้อมูลในปี 2557 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,355 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 4,688 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา มีการอพยพแรงงานในพื้นที่ไปทำงานในต่างจังหวัดนอกภูมิลำเนาประมาณร้อยละ 10
สภาพพื้นที่ทั่วไปของตำบลท้อแท้ เป็นลักษณะพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแควน้อย (มีต้นน้ำอยู่ในอำเภอชาติตระการ บรรจบกับแม่น้ำน่านในบริเวณบ้านปากโทก อำเภอเมืองพิษณุโลก ระบะทาง 185 กิโลเมตร) โดยบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีระดับสูงและลาดต่ำไปสู่แนวเขตตำบลทั้งสองด้าน พื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกการเกษตร ประชาชนของตำบลทองแท้ส่วนใหญ่แล้วจะตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากของแม่น้ำแควน้อย คงจะเนื่องจากในสมัยนั้นจำเป็นต้องใช้ลำน้ำแควน้อย เป็นต้นทางสำหรับสัญจรไปมา ตลอดจนอาศัยน้ำเพื่อทำการเกษตรและบริโภคใช้สอยต่างๆ
ข้อมูลจากบทความเรื่องพระนำตามด้วยครู ในคอลัมน์สภาประชาชน ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ระบุว่า ตำบลท้อแท้มีตำนานกล่าวขานสืบต่อหลายชั่วอายุคนว่าในอดีตการเดินทางแสนลำบาก ทางบกใช้เดินด้วยเท้าดีที่สุด คือขี่ม้านั่งเกวียน ทางน้ำใช้เรือพายตามลำน้ำ
กาลครั้งหนึ่งเจ้าเมืองพิษณุโลกจะเดินทางไปที่บ้านท่าสาวงาม (ปัจจุบันคือตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์) โดยทางเรือ ตามลำน้ำน่านแบบพายเรือทวนกระแสน้ำ การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ข้าวปลาอาหารที่นำไปก็เกิดบูดเน่าจึงได้หยุดพัก ท้องถิ่นที่หยุดพักให้ชื่อหมู่บ้านตำบลท้อแท้ คำท้อแท้มีคนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ไพเราะ พยายามเปลี่ยนใหม่แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม จึงคงเปลี่ยนเฉพาะชื่อวัด จากวัดท้อแท้เป็นวัดทองแท้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับความพยายามในการขอเปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ เกิดขึ้นจากการประชุมประชาคมหมู่บ้านรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 8 หมู่บ้าน เข้าร่วมประชุมจำนวน 2,787 คน เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 100% และมีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 8 หมู่บ้าน มีจำนวน 3,710 คน มาร่วมประชาคม จำนวน 2,787 คน คิดเป็นร้อยละ 75.12% กระทั่งได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาจังหวัดพิษณุโลกได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงวันที่ 19 มีนาคม 2562 พร้อมเอกสารประกองการพิจารณาจำนวน 16 ชุด กระทั่งกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบให้เสนอเรื่องการขอเปลี่ยนชื่อดังกล่าวต่อคณะกรรมการผู้มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมาย ก่อนที่จะมีการให้องค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 กระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวานนี้
อนึ่ง ร้อยตรีดำรง ดีอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแม้ ได้ออกประกาศเรื่องเปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563