xs
xsm
sm
md
lg

“หมอแนท” พิสูจน์เอง ตอบคำถามสวมหน้ากากอนามัยวิ่งออกกำลังกายแล้วจะเป็นอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์หญิงชำนาญพิเศษด้านอายุรศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ ทดลองสวมหน้ากากอนามัยวิ่งออกกำลังกาย เพื่อวิเคราะห์ว่ามีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวอาจจะแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน ไม่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว

จากกรณีการผ่อนปรนเปิดสวนสาธารณะให้ออกกำลังกาย โดยประชาชนหลายคนสวมใส่หน้ากากอนามัยมาออกกำลังกาย ทำให้มีแพทย์หลายท่าน รวมถึงเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ออกมาโพสต์ข้อความเตือน ว่า การสวมหน้ากากอนามัยวิ่งออกกำลังกายนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้ปอด หัวใจ และหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 พ.ค. แพทย์หญิง นิษฐา เอิ้ออารีมิตร แพทย์ชำนาญพิเศษด้านอายุรศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเอกชัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nittha Oer-areemitr” เผยให้เห็นเจ้าตัวกำลังทำการทดลองโดยสวมหน้ากากอนามัยวิ่งบนลู่วิ่ง ซึ่งทางแพทย์หลังได้ระบุผลการทดลองครั้งนี้ว่า

“คำถามที่สงสัยมานาน ว่า ใส่หน้ากากวิ่งแล้วจะเป็นยังไง ก่อนหน้านี้ มีแต่คำอธิบายตามหลักการ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง วันนี้ จะมาเล่าให้ฟัง เป็นผลการทดลองกับตัวเอง (เล่นเอง เจ็บเอง นักเลงพอออออ) ต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้เป็น ผญ. อายุ 38 ปี regular exercise (ตอนนี้ไม่ได้ฟิตสุดๆ เพราะบาดเจ็บ แต่ยังออกกำลังกายสม่ำเสมอ) VO2 max ตาม garmin 49 (เศร้า เพราะปลายปีที่แล้วได้ 54) ปกติตอนนี้วิ่ง pace 6.3 min/km หัวใจจะเต้นประมาณ 125-132 ครั้งต่อนาที (VO2 max คือการใช้ออกซิเจนของร่างกายในระดับสูงสุด เมื่อเราออกกำลังกายหนักสุดที่ไหว) โดยสมมติตัวอย่าง real life practice คือ คิดว่าชีวิตจริง คนที่ใส่หน้ากาก วิ่งก็จะอารมณ์ประมาณนี้ ก็เลยลองทำดังนี้ สิ่งที่ต้องการดูคือ เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้าง ตอนใส่หน้ากาก

การทดลองดังนี้

1. วิ่งใส่หน้ากากผ้า แบบที่ประชาชนใช้ทั่วๆ ไป แบบที่เป็นทรง 3D mask ลองหายใจธรรมดา อยู่ในระดับกลางๆ ใกล้เคียงกับ surgical mask หรือหน้ากากทางการแพทย์ธรรมดา

2. ออกกำลังกาย zone 2 โดยเอาเพซเดิมที่เคยได้ zone 2 คือ 6.3 ตอนไม่ได้ใส่หน้ากากเป็นเกณฑ์ วิ่งบนสายพาน มี warm up 5 นาที แล้ววิ่ง zone 2 ต่อจนครบ 30 นาที แถมด้วยการเพิ่มเป็น zone 3 อีก 5 นาที

3. ตรวจก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ก่อนวิ่ง และตรวจทุก 5 นาที ก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่ง (สำหรับแพทย์ ก็คือ ใส่ A-line แล้ว ดูด arterial blood gas ตรวจ ทุก 5 นาที นั่นเอง)

4. วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากาก เพื่อดูว่ามีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากาก ส่งผลให้เราหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปใหม่หรือไม่ (วัด end-tidal CO2 โดยใช้ CO2 nasal cannula)

5. ระหว่างวิ่ง จะทำการบันทึกความรู้สึกเหนื่อยอยู่ทุก 5 นาที และจะถามตัวเองตลอด ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ขณะวิ่งกับหน้ากาก

6. ทำการทดลองในห้องแอร์ อุณหภูมิ 24 องศา

ผลการศึกษา

1. ทำจนจบ protocol ที่ตั้งใจไว้

2. ไม่เหนื่อยอย่างที่คิด ความรู้สึกเหนื่อย อยู่แค่ประมาณ เหนื่อยหน่อยๆ แต่รำคาญหน้ากากเยอะอยู่

3. อัตราการเต้นของหัวใจ สูงกว่าปกติ ประมาณ 5-10 ครั้งต่อนาที ในแต่ละช่วงเวลา

4. การเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นของหัวใจชันกว่าไม่ใส่หน้ากากเล็กน้อย (คิดว่าถ้าวิ่งหนักกว่านี้ น่าจะเห็นชัดขึ้น)

5. ไม่พบภาวะเลือดเป็นกรดเลย (pH อยู่ที่ 7.44-7.45 ตลอด)

6. ออกซิเจนในเลือด (PaO2) ต่ำลงเรื่อย โดยเฉพาะตอนที่เพิ่ม speed ช่วงท้ายไปเป็น zone 3 พบว่ามี mild hypoxemia หรือออกซิเจนในเลือดต่ำเล็กน้อยร่วมด้วย

7. คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ได้คั่งอย่างที่คาดไว้ตอนแรก ปอดสามารถขับ CO2 ได้ดีมากๆ แต่!!! เกิดการหายใจกลับของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 rebreathing) จริงๆ จะเห็นได้จาก FiCO2 ไม่เป็น 0 บางครั้งสูงถึง 8 บางครั้งลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการขยับหน้ากาก (ไม่ได้ถอด แค่ขยับบ้าง ซึ่งตอนนั้นขยับเพราะมันจะหลุด)
ซึ่ง CO2 rebreathing นี้ทำให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำตอนท้ายของการออกกำลังกาย (น่ากลัวมาก เพราะไม่รู้สึกเหนื่อยผิดปกติเลย)

8. CO2 gap ไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น (อันนี้คนทั่วไปข้ามได้) ภาวะปกติ ค่า PaCO2 จะสูงกว่า EtcO2 เล็กน้อย (เหมือนตอนก่อนวิ่ง และตอน recovery) แต่ขณะออกกำลังกาย EtCO2 จะสูงกว่า PaCO2 แต่นี่จะเห็นได้ว่า gap ไม่สม่ำเสมอ คิดว่าน่าจะสัมพันธ์กับ rebreathing

ข้อสังเกต
1. ไม่ใช่การทำ Cardiopulmonary exercise test แต่เป็นการ exercise test under mask แล้ว monitor parameters ต่างๆ เท่าที่ทำได้

2. ไม่สามารถวัด ventilation O2 consumption, CO2 production ได้ เพราะถ้าทำ CPET มันจะทำคู่กับหน้ากากผ้าไม่ได้

การนำไปใช้

1. หน้ากากผ้า แบบ 3D เวลาใช้ออกกำลังกาย มีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากากจริงๆ ทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ เมื่อออกกำลังกายถึงจุดหนึ่ง

2. อันตรายอยู่ที่ ตอนที่เกิดภาวะ ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด ดังนั้น การฟังเสียงร่างกาย อาจจะไม่ไวพอ น่ากลัวในคนที่มีโรคหัวใจซ่อนอยู่ อาจจะทำให้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาได้

3. ถ้าคน fit มากๆ อยากออกกำลังกาย outdoor จริงๆ ควรทำเป็น low to moderate intensity exercise และทำการใส่หน้ากาก ให้เปิดหน้ากากออกเป็นระยะ โดยแนะนำให้แวะจิบน้ำทุก 2 กิโลเมตร ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญมาก เพราะตอนจิบน้ำเราจะเอาหน้ากากออก ตอนเอาหน้ากากออก จะเป็นช่วงที่ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ค้างในหน้ากากได้ระบายออก และแนะนำให้ออกกำลังกายไม่เกิน 1 ชั่วโมง***

4. ไม่แนะนำให้คนที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงสูงต่อโรคปอด โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ มาใส่หน้ากากออกกำลังกาย

5. ไม่รู้ว่าหน้ากากแบบอื่นจะให้ผลการทดลองแบบเดียวกันมั้ย

6. ขอร้องอย่าถอดหน้ากาก ตอนไปที่สาธารณะที่คุณมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดคนอื่นเกิน 2 เมตร

7. ถ้าใครพกของไป อาจจะเอาหน้ากากไปหลายชิ้น เพราะตอนหน้ากากเปียกเหงื่อ มันหายใจยากขึ้นกว่าเดิม

ผลที่ได้จากการทดลองนี้ อาจจะแตกต่างกันก็ได้ในแต่ละบุคคล เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความฟิตของร่างกาย อุณหภูมิขณะวิ่ง (ยิ่งร้อน ยิ่งสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ) ลักษณะของหน้ากากที่ใช้ เป็นต้น”








กำลังโหลดความคิดเห็น