“ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ยกความดีให้สำนักระบาดฯ-อสม. รวมถึงคนไทยมีวินัย เพราะกลัวตาย ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไม่เลวร้าย ห่วงปลดล็อกร้านทำผมต้องระวังสูงสุด เพราะมีการสัมผัสใกล้ชิด ส่วนร้านอาหารไม่ค่อยน่าห่วง ปิดแอร์ เปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท แนะโรงงาน-ไซต์ก่อสร้าง แบ่งคนงานสลับกันหยุดกะละ 14 วัน จัดเวลาพักให้เหลื่อมกัน
วันที่ 27 เมษายน 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนโควิดสิงคโปร์โมเดล”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศสิงคโปร์ ที่มีจำนวนมาก ว่า สิงคโปร์ไม่ได้แคร์กับตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เขาตรวจเชิงรุก แสดงถึงความเข้มแข็งในการตรวจหาเชื้อได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และสามารถมีมาตรการควบคุมได้อย่างทันท่วงที ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด สิงคโปร์มีการจำกัดคนเข้าประเทศ กักกันอย่างเข้มงวด
ส่วนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาก มาจากลุ่มแรงงานต่างชาติ เนื่องจากคนจำนวนมากรวมอยู่ในพื้นที่จำกัด เมื่อเทียบกับแรงงานที่ไทย อย่างรถที่นำผู้ใช้แรงงานมายังสถานที่ก่อสร้างยังหนาแน่นมาก รถเมล์ก็คนแน่น กรณีแบบนี้แม้ใส่หน้ากากก็ไม่รอด
ตนเสนอ ไม่ว่าจะโรงงาน สถานที่ก่อสร้าง ต้องมีการสับเหลื่อมเวลาพัก เวลารับประทานอาหาร คนทำงานอาจต้องแบ่งครึ่งเพื่อไม่ให้หนาแน่น สมมติมีคนงาน 200 คน ให้มาทำงาน 100 คน จากนั้นพัก 14 วัน ให้อีก 100 คน มาทำแทน 14 วันนั้น เพื่อดูอาการ มีใครอาการออกมาหรือไม่ ทั้งเรื่องเวลาทำงาน การเดินทาง ที่พัก จำนวนคนต้องพอเหมาะ ไม่เช่นนั้นติดกันหมด ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยกำลังคลายล็อก ต้องมีมาตรการให้เข้มข้นขึ้น อาจต้องมีการให้ความรู้พนักงาน ให้ตัวบุคคลมีวินัย ไม่เช่นนั้นตายกันหมด เศรษฐกิจตายหมด
การที่จะปลดล็อกธุรกิจไหน ระบุเป็นประเภทไม่ได้ แต่ดูที่องค์ประกอบ ดังนี้ 1. สถานที่ ถ้าไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตูโล่ง ปิดทึบ ติดแอร์ อาจจะเสี่ยง 2. จำนวนคน 3. ลักษณะกิจกรรม ว่า มีการกระโดดโลดเต้นมั้ย เช่น สถานบันเทิง สนามมวย 4. ระยะเวลาที่อยู่สถานที่นั้นๆ นานเท่าไหร่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า บางกิจกรรมที่ต้องสัมผัสเนื้อตัว ใบหน้า ผม อย่างร้านตัดผม ตนกลับเห็นว่าต้องระวังสูงสุด เพราะคนมาเป็นลูกค้า ถ้าติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการ ช่างทำผมอาจติดจากเสื้อผ้า ผม แขนขา เมื่อเวลาไปนั่งร้านตัดผม โรคก็ไปติดที่เก้าอี้
การสระผม บางร้านต้องการประหยัด ให้ชะโงกหน้าไปสระที่อ่างล้างมือ ตรงนั้นมีลมหายใจ ฝอยละออง ไปอยู่ที่อ่างสระผม ถึงนอนหงายจะดีกว่าหน่อย แม้ใส่หน้ากาก แต่มีโอกาสเล็ดลอดออกมา สุดท้ายเมื่อลูกค้าใช้บริการเสร็จ ต้องทำความสะอาดโซฟา สถานที่ เครื่องใช้ต่างๆ จะกลายเป็นเรื่องวุ่นวายพอสมควร ตนอยากเสนอให้ตัดกลางแจ้งกันไปเลย
ร้านอาหารตนกลับไม่ค่อยห่วง ถ้าติดแอร์ก็ไม่ต้องเปิด ให้เปิดประตูโล่ง เปิดหน้าต่าง ใช้พัดลมในการพัด แต่ก็ต้องระวังไม่เป่าแรงเกินไป จนกระทั่งละอองปลิวกระจัดกระจายออกไปนอกร้าน แล้วมีการจัดให้นั่งกันห่างๆ กัน มีการจำกัดคนเข้าร้าน
ส่วนห้าง หากมีหลายแผนก แบ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ มีหลายท่านเสนอ เป็นไปได้ไหม แบ่งเป็นระยะเวลา เช่น เสื้อผ้าเครื่องสำอาง เปิดตอนเย็น ของสดเปิดเป็นเวลา ร้านอาหารที่ไม่ได้อยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็เปิดเป็นเวลาไป เพื่อไม่ให้มีคนเข้าพร้อมกันจำนวนมาก แบ่งเป็นเวลาๆ ไป
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในไทยไม่แย่ ต้องยกความดีให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ถ้าไม่คัดกรองคนเดินทางเข้าไทย ตั้งแต่ 3 ม.ค. ถ้าเราหลุดตั้งแต่ต้น ม.ค. โรคจะกระจัดกระจายไปทั่ว จะรุนแรงกว่าตอนนี้มากเลย
อีกประด็นที่สถานการณ์ยังดีมากถึงวันนี้ คือ คนไทยมีวินัยเพราะกลัวตาย ท่องไว้เลยกลัวตาย แล้วประเทศเราจะรอดไปได้ อีกอย่างต้องชื่นชม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ถ้าไม่มีการลงระดับพื้นที่ เราไม่รอดจนถึงทุกวันนี้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า ด้วยความฉลาดของไวรัส ทำให้เราต้องอยู่กันไปอีกนาน ถึงสิ้นปีนี้ก็ไม่หมด