ชีวิตใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับ โควิด-19 หรือ New Normal กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเวลานี้ เพราะในขณะที่ยังมองไม่เห็นหนทางว่าไวรัสชนิดใหม่ตัวนี้ จะถูกกำจัดไปได้อย่างไร และยังไม่มีวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ แต่ระบบเศรษฐกิจกำลังพังทลาย ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ ไม่สามารถออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพ
แม้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ด้วยปัญหาปากท้อง ก็ทำให้มีกระแสเรียกร้องและเกิดความคาดหวังว่ารัฐบาลจะประกาศ “เปิดเมือง” เปิดห้างร้าน เปิดกิจการต่าง ๆ ให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในเร็ววัน แต่ก็มีคำถามตามมาว่า “หลักเกณฑ์” ที่จะใช้ชี้วัดว่า “พื้นที่ไหน เปิดเมือง ได้ หรือ ไม่ได้” ควรจะเป็นอย่างไร
นพ.ธนพงษ์ จิณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และเป็นแพทย์ด้านระบาดวิทยา ซึ่งกำลังประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปิดเมืองในแต่ละพื้นที่ แสดงความกังวลถึงวิธีการชี้วัดพื้นที่ที่ควรเปิด โดยระบุว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ปัจจุบัน คือ “ตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิต” เช่น “จังหวัดใด ไม่พบผู้ติดเชื้อครบ 14 วัน” ก็ให้เปิดได้ จนเป็นที่มาของ 32 จังหวัด ที่อาจจะถูกประกาศให้เปิดก่อน ซึ่งการใช้หน่วยวัดเป็นระดับ “จังหวัด” การกำหนดสี เขียว เหลือง ส้ม แดง โดยครอบคลุมทั้งจังหวัดอาจเป็นกำหนดเขตพื้นที่ที่ใหญ่เกินไป ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนข้อเท็จจริง และอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจกว้างกว่าที่ควรจะเป็น จึงเสนอให้ใช้หน่วยที่ย่อยลงไปกว่านั้น
“สมมติว่า มีจังหวัดที่ประกาศเปิดเมืองไปแล้ว แต่ไปพบว่า มีผู้ติดเชื้อเข้ามาในจังหวัด และสัมผัสใกล้ชิดคนจำนวนมาก ก็อาจต้องกลับไป “ปิด” ใหม่ทั้งจังหวัด ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า เราอาจใช้หน่วยวัดที่ย่อยลงไปกว่านั้น เช่น ระดับอำเภอ หรือ ระดับตำบล โดยให้ผู้นำท้องถิ่นสามารถตัดสินใจปลดล็อคได้ ถ้าทำเช่นนี้ ก็อาจลดผลกระทบทางเศรษฐกิจลงไปได้มาก และไม่กระทบกับมาตรการทางสาธารณสุขด้วย”
นพ.ธนพงษ์ เห็นว่า การจะให้พื้นที่ใดตัดสินปลดล็อกเพื่อเปิดเมือง โดยเป็นการตัดสินใจในระดับตำบลหรืออำเภอสามารถทำได้ โดยยึดข้อเสนอแนะ 6 ข้อ ขององค์การอนามัยโลก มาปรับปรุงเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อตัดสินใจในระดับท้องถิ่นได้ และหากสามารถปรับเปลี่ยนระดับการตัดสินใจเปิด-ปิดเมือง ย่อยลงมาในระดับที่เล็กลงได้ ก็อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยลง
ข้อเสนอแนะ 6 ข้อ ขององค์การอนามัยโลกมีดังนี้
1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้แล้ว
2.ระบบสุขภาพต้องสามารถหาตัวผู้มีอาการ ตรวจหาเชื้อ แยกตัว รักษา พร้อมสอบสวนโรคได้
3.มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บ้านพักคนชรา
4.โรงเรียน สำนักงาน หรือสถานที่สาธารณะต้องมีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้
6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโรค
อีกหนึ่งปัจจัยที่ นพ.ธนะพงษ์ เห็นว่า ควรจะถูกนำมาพิจารณาควบคู่กันไปกับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก็คือ ระดับความเสี่ยงของสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งมีระดับความเสี่ยงจากการประกอบกิจการต่างกัน เพราะมีกิจกรรมที่ต่างกัน จึงเสนอว่า การพิจารณาเปิด หรือ ปิด พื้นที่ไหนในระดับท้องถิ่น อาจพิจารณาควบคู่ไปกับระดับความเสี่ยงของกิจกรรมในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น พื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่สีเขียว แต่มีกิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ก็สามารถพิจารณา “เปิด” กิจการอื่น ๆ ให้เป็นปกติได้ และยังคง “ปิด” เฉพาะกิจการทีมีความเสี่ยงสูง จะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ไม่ขยายวงกว้างมากนัก
ที่สำคัญ คือ ระหว่างนี้ สถานประกอบกิจการต่างๆ ยังสามารถกำหนดรูปแบบใหม่ในการปฏิบัติต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตร่วมไปกับโควิด-19 เช่น การจัดที่นั่งในร้านอาหารรูปแบบใหม่โดยเว้นระยะห่างไม่หันหน้าเข้าหากัน การจัดที่นั่งในห้องเรียนของโรงเรียน หรือการให้คนในชุมชนร่วมกันหามาตรการความปลอดภัยในร้านตัดผมเพื่อให้สามารถเปิดกิจการได้