รอยเตอร์ - มีความเป็นไปได้ที่อิตาลีจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ความเคลื่อนไหวปลดข้อจำกัดอันเข้มงวดจะเป็นไปอย่างระมัดระวังและคิดคำนวณอย่างรอบคอบ จากการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ในวันอังคาร (21 เม.ย.)
ประเทศแห่งนี้เป็นหนึ่งชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักหน่วงที่สุดในโลก โดยจนถึงวันอังคาร (21 ม.ย.) ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 24,648 คน หลังพบผู้เสียชีวิตรายใหม่ 534 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่พบเพิ่ม 2,729 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาดเข้ามาในอิตาลีในเดือนกุมภาพันธ์ ขยับขึ้นเป็น 183,957 คน เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และสเปน
ในความพยายามควบคุมการแพร่ระบาด รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ นานาในเดือนมีนาคม โดยสั่งให้ชาวอิตาลีอยู่แต่ในบ้าน และปิดสถาบันการศึกษา, ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้นก่อความตึงเครียดอย่างมหาศาลแก่เศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 3 ของยูโรโซน แต่ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ติดเชื้อก็ค่อยๆ ชะลอตัวตามลำดับ ซึ่ง คอนเต บอกว่าเขาจะเปิดแผนของรัฐบาลในการผ่อนปรนมาตรการชัตดาวน์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ “ผมก็อยากจะบอกว่า เปิดทุกๆ อย่างกันเถอะ ในทันทีเลย เราจะเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เลย แต่การตัดสินลักษณะดังกล่าวมันขาดความรับผิดชอบ”
คอนเตเขียนบนเฟซบุ๊กต่อว่า “แผนอันจริงจังและเป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะรวมไปถึงการทบทวนรูปแบบการขนส่ง ที่สามารถช่วยให้แรงงานเดินทางอย่างปลอดภัย, กฎระเบียบและมาตรการใหม่ๆในการดำเนินธุรกิจ เพื่อตรวจสอบว่าการผ่อนปรนข้อจกัดจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อหรือไม่”
“มันสมเหตุสมผลสำหรับคาดหมายว่าเราจะใช้มันตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นไป” พร้อมเตือนว่ายุทธศาสตร์ออกจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างไม่เป็นระบบและเร่งรีบเกินไป อาจถึงขั้นต้องสังเวยด้วยชีวิตชาวอิตาลีซึ่งไม่อาจยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม คอนเตไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างเจาะจงว่าภาคธุรกิจไหนจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดปฏิบัติการได้เป็นลำดับแรก และข้อจำกัดใดบ้างที่จะคงไว้เพื่อจำกัดความไหวทั่วประเทศ
หลายประเทศทั่วโลกกำลังพิจารณาหรือผ่อนปรนล็อกดาวน์กันไปบ้างแล้ว แม้องค์การอนามัยโลกเตือนว่าควรดำเนินการอย่างช้าๆ และออกข้อแนะนำ 6 ข้อสำหรับการปลดล็อกดาวน์ ประกอบไปด้วย
1. สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศแล้ว 2. ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค 3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา 4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณสุขต่างๆ ต้องมีมาตรการโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ และ 6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ ภายใต้สังคมทีเปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
พวกแกนนำภาคธุรกิจในอิตาลีต่างส่งเสียงเรียกร้องให้ผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ด้วยเตือนถึงหายนะทางเศรษฐกิจหากมาตรการล็อกดาวน์นั้นยืดเยื้อต่อไป ในขณะที่กระทรวงการคลังของอิตาลีเองก็ประมาณการว่าเศรษกิจของประเทศจะหดตัวราวๆ 8% ในปีนี้ซึ่งถือว่าเป็นภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2