xs
xsm
sm
md
lg

จากสภาอุณาโลมแดง ถึง สภากาชาดไทย! คนไทยรวมใจเมื่อประเทศชาติมีภัย!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ที่ทำการครั้งแรกของสภากาชาดสยาม ที่ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี
ในวิกฤตย่อมมีโอกาส การเกิด “โควิด ๑๙” ในครั้งนี้ จะเห็นว่าคนไทยเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม มีวินัย และเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติของคนไทยเรามาช้านาน แต่อาจจะหายไปในระยะหนึ่งในช่วงที่ทุกคนต่างเร่งรีบในยุคที่เศรษฐกิจชี้นำชีวิต ลองมองย้อนกลับไปถึงที่มาของการเกิด “สภาอุณาโลมแดง” หรือ “สภากาชาดไทย” ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖ สมัยรัชกาลที่ ๕

ตอนนั้นเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองอินโดจีน คือญวน เขมร ลาว และพยามรุกล้ำดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ไทยครอบครองอยู่ ทหารไทยได้ปกป้องอธิปไตยและศักดิ์ศรีของชาติ จนเกิดบาทเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดเข้าไปช่วยเหลือ จนคนไทยในแนวหลังเกิดความห่วงใยไม่ยอมปล่อยให้ทหารไปสู้อย่างโดดเดี่ยว กลุ่มสตรีไทยสูงศักดิ์กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยา เจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของส่งไปช่วยทหาร ทั้งยังมีความเห็นว่าควรจะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งช่วยบรรเทาทุกข์ของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขอให้ทรงเป็น “ชนนีบำรุง” คือเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การบรรเทาทุกข์ทหาร

ความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่างอารยประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖ และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงเป็น “สภานายิกา” ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น เลขานุการิณี และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นเหรัญญิกา สภาอุณาโลมแดง

พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราช เสด็จกลับจากการศึกษาในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดตั้งโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสู่สวรรคาลัย จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้เป็นของสภากาชาดสยามเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗

ชื่อ “สภาอุณาโลมแดง” และ “สภากาชาด” นี้ เรียกปะปนกันตลอดมา จนเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ “สภากาชาดสยาม” จนถึง พ.ศ.๒๔๘๒ เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย สภากาชาดสยามจึงได้ชื่อว่า “สภากาชาดไทย” มาจนวันนี้

สภากาชาดไทบ ได้ถือเอาวันที่ ๒๖ เมษายน ตามวันที่ได้รับพระราชทานให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” เป็นวันกำเนิดสภากาชาดไทยได้จัดให้มีงานกาชาดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๕ – ๘ เมษายน ๒๔๖๖ แต่ไม่ได้จัดกันข้ามปี ตอนนั้นยังขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมในปี๒๔๘๔ การจัดงานกาชาดก็เพื่อหาสมาชิกให้สภากาชาด โดยเสียค่าสมาชิกปีละ ๑ บาทเท่านั้น

งานกาชาดครั้งแรกนั้นจัดที่สนามหลวง ปีต่อไปก็ย้ายไปจัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์ สถานเสาวภา สนามกีฬาแห่งชาติ สวนอัมพร และสวนลุมพินี โดยเป็นงานใหญ่ประจำปี และจัดกันทั่วประเทศ แต่ในปีนี้เพราะโตวิด ๑๙ ไม่เพียงประเทศไทยจะงดการจัดงานสงกรานต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แล้ว งานกาชาดก็ต้องงดด้วย ทำให้หลายจังหวัดขึ้นป้ายเก้อกันเป็นแถว นับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรหารรับมือกับโควิด ๑๙ อย่างได้ผลของประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น