xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเศร้าจากผู้ป่วย! แพทย์หนุ่มเปิดใจ หายป่วยจากโควิด-19 แต่ยังถูกสังคมตีตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.ธนัตถ์ ชินบัญชร แพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แต่กลับโดนผู้ที่อาศัยในคอนโดฯเดียวกัน แสดงท่าทางไม่เป็นมิตร นอกจากนี้ แพทย์หญิง จาก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วอนสังคมเห็นใจผู้ป่วย หากหายแล้วก็คือหายเลย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ได้โพสต์คลิปความยาวกว่า 4 นาที พร้อมกับระบุข้อความว่า “เปิดคำให้สัมภาษณ์คนที่หายป่วยจากโควิด-19 เล่าชีวิตตอนหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจโควิด-19 มากขึ้น พร้อมแพทย์ยืนยัน “คนที่หายจากป่วยจากโควิด-19 กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ และยังไม่พบว่าป่วยซ้ำ ร่วมเป็นกำลังใจให้กัน และส่งต่อคลิปนี้ เพื่อสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ไปด้วยกัน”

ซึ่งภายในคลิปวิดีโอนั้น เป็นการบอกเล่าเรื่องราวภายในสังคมที่ปฏิบัติต่อผู้ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยความรังเกียจ บ้างถึงขั้นรวมตัวกันขับไล่ไม่ให้ผู้ป่วยได้กลับบ้าน หรือชุมชนที่อาศัยอยู่ ทั้งนี้ ทาง “กระทรวงสาธารณสุข” จึงได้จัดทำคลิปวิดีโอดังกล่าวขึ้นมา ด้วยการไปพูดคุยกับอดีตผู้ป่วยโควิด-19 นพ.ธนัตถ์ ชินบัญชร แพทย์วิจัย และแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ว่า กว่าจะกลับบ้านได้ ทางโรงพยาบาลมีมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์ปอดซ้ำว่าไม่ได้มีรอยโรคในปอด จากนั้นกลับบ้านก็ต้องไปกักตัวอีก 14 วัน และมีการสอบถามจากทางเจ้าหน้าที่ทุกวัน หากมีอาการไม่ดีก็จะมีรถพยาบาลมารับถึงบ้านทันที

อย่างไรก็ตาม หมอท็อป ได้เล่าถึงมุมแย่ๆ ของสังคมไทย ซึ่งผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดฯเดียวกัน ได้ขอทางนิติบุคคลให้เปิดเผยข้อมูล ว่า หมอท็อปอยู่ห้องไหน และใช้ลิฟต์ตัวไหน จึงทำให้ค่อนข้างเครียดและเสียใจที่ตนเองพยายามอธิบายว่ามันไม่มีอะไรต้องกลัว แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจในตัวโรค หรือคลายความกังวลใจไปได้

นอกจากนี้ รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกมากล่าวถึงเรื่อง ปฏิกิริยาของคนทั่วไปเวลาเรากลัว ว่า

“เรามักจะคิดว่าเชื้อมาจากไหน ใครเป็นคนแพร่เชื้อ แล้วก็เริ่มมีการที่จะเตือนกัน โดยที่อาจจะไปเริ่มรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลอย่างที่เห็น ทำให้เกิดข้อเสียเกิดขึ้น ผู้ที่ติดเชื้อก็ไม่กล้าที่จะมาบอกหรือว่าไม่กล้าที่จะให้ประวัติ เพราะกลัวการตีตรา ทำให้การป้องกันการวินิจฉัยผู้ที่ติดเชื้อเกิดยากขึ้น รวมทั้งมีการตีตรากันเกิดขึ้น คนที่หายแล้วก็ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ”




กำลังโหลดความคิดเห็น