ในขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปลุกเร้าประชาชนให้นิยมลัทธิทหารและลัทธิชาตินิยม เตรียมประเทศให้พร้อมที่จะเผชิญสงคราม แต่หลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้กอดคอร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน และมีไอเดียที่จะใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อโฆษณาทางการเมืองเหมือนกัน แต่แนวความคิดกลับไปคนละทางอย่างตรงกันข้าม
ในราวปี ๒๔๘๓ ขณะที่หลวงประดิษฐฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม หลังจากที่ พ.อ.หลวงพิบูลฯได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “เลือดทหารไทย” ขึ้นแล้ว หลวงประดิษฐฯก็ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้นในนาม “ปรีดีภาพยนตร์” เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากสงครามช้างเผือกในสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ กับสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวถึง พระเจ้าจักรา กษัตริย์แห่งอโยธยา ผู้เป็นธรรมราชา สนพระทัยในความทุกข์สุขของราษฎรมากกว่าการสงคราม และปฏิเสธประเพณีล้าหลังที่จะต้องมีมเหสีถึง ๓๖๕ นาง กับอีกฝ่ายคือ พระเจ้าหงสา ผู้เป็นทรราชย์ นิยมการสงครามและการรุกราน ฉะนั้นเมื่อพระเจ้าหงสารุกรานกรุงอโยธยา พระเจ้าจักราจึงท้าชนช้างกันตัวต่อตัว เพื่อมิให้ไพร่พลทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย เพราะสงครามเป็นความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับกษัตริย์ มิใช่ราษฎรต่อราษฎร จนเรื่องได้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
ดร.ปรีดีเขียนนิยายเรื่อง“พระเจ้าช้างเผือก” ไว้เป็นภาษาอังกฤษ นัยว่าเตรียมจะส่งไปชิงรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพ ซึ่งรัฐบุรุษของตะวันตกได้รับกันหลายคนแล้ว แต่ทางตะวันออกยังไม่มีใครได้รับ
“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นหนังไทยแท้ก็จริง แต่ต่างจากหนังไทยทั่วไป คือมีบทเจรจาเป็นภาษาอังกฤษ ผู้แสดงที่มีบทบาทสำคัญจึงต้องคัดเลือกมาจากคนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี พระเจ้าจักราหรือพระเจ้าช้างเผือก แสดงโดย เรณู กริตยากร ซึ่งมีชื่อเดิมว่า เรอเน โกด๊าท ส่วนนางเอกเป็นดาวธรรมศาสตร์ คือ ไพลิน นิลรังสี เชื้อสายเดนมาร์ก มีชื่อเดิมว่า ไอรีน นีลเสน และผู้แสดงที่มีบทสำคัญก็คัดเลือกมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งสอนทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยนักเรียนและครูฝ่ายภาษาอังกฤษ แสดงในฝ่ายพระเจ้าช้างเผือก ส่วนภาษาฝรั่งเศส แสดงในฝ่ายพระเจ้าหงสา
ทีมงานสร้างนั้นได้ให้ สันห์ วสุธาร เป็นผู้กำกับการแสดง โดยมี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และใจ สุวรรณทัต เป็นผู้ช่วย พระเจนดุริยางค์ กำกับดนตรี แดง คุณะดิลก เขียนบทเจรจา ชาญ บุนนาค อัดเสียง ถ่ายภาพโดย ประสาท สุขุม ซึ่ง ๒ คนหลังนี้บริษัทไทยฟิล์ม ผู้สร้างโรงถ่ายที่ทุ่งมหาเมฆ ส่งไปดูงานมาจากอเมริกา
สถานที่ถ่ายทำ“พระเจ้าช้างเผือก”นั้น วังพระเจ้าจักราใช้บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วังพระเจ้าหงสา ใช้บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนฉากยุทธหัตถี ซึ่งใช้ช้างม้าจำนวนมากนั้น ถ่ายทำที่จังหวัดแพร่
“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นภาพยนตร์ ขาว-ดำ ๓๕ มม.เสียงในฟิล์ม พูดภาษาอังกฤษ ดูตามฟอร์มแล้วก็เห็นว่ามุ่งที่จะใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศมากกว่าเมืองไทย เพื่อให้เห็นว่าผู้มีบทบาททางการเมืองระดับนำของไทยก็ยังมีคนที่ยึดแนวสันติภาพ ไม่ได้คล้อยตามนโยบายปลุกเร้าลัทธิทหารเพื่อเตรียมเข้าสงครามตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมา“พระเจ้าช้างเผือก” ก็ได้มีส่วนสร้างภาพพจน์ของประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของท่านผู้สร้าง ประกอบกับผลงานของขบวนการเสรีไทย ช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศฝ่ายผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒
“พระเจ้าช้างเผือก” ออกฉายเป็นการโฆษณาล่วงหน้าในวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๔ ที่โรงภาพยนตร์นิวยอร์คและสิงคโปร์ ก่อนที่จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงโปรแกรมปกติในวันที่ ๑๐ เมษายนต่อมา ก่อนวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย ๘ เดือน และได้รับความสนใจจากแฟนหนังเป็นอย่างมาก ที่เป็นหนังไทยเรื่องยิ่งใหญ่ สร้างโดยผู้ที่เป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งยังเห็นเป็นของแปลกที่หนังไทยพูดฝรั่ง
“พระเจ้าช้างเผือก” ถูกใช้เป็นสื่อทางการเมืองต่อมา โดยในคณะเสรีไทยที่ ดร.ปรีดีส่งเล็ดลอดไปติดต่อกับจีนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มี นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะนั้น ได้ให้ นายแดง คุณะดิลก แอบหิ้วฟิล์ม“พระเจ้าช้างเผือก” ออกไปด้วย และได้เดินทางต่อไปจนถึง อเมริกาใน พ.ศ.๒๔๘๗ นายแดงได้มอบฟิล์ม “พระเจ้าช้างเผือก”ให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ผู้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศ ม.ร.ว. เสนีย์จึงจัดฉาย “พระเจ้าช้างเผือก” ให้ข้าราชการอเมริกันราว ๔๐๐ คนดู
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งได้แกะรอยตาม “พระเจ้าช้างเผือก”มาตลอด ได้เล่าว่า เมื่อเดินทางไปปารีสในปี ๒๕๑๕ ทราบว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้พบฟิล์ม “พระเจ้าช้างเผือก”ตกค้างอยู่ที่สถานทูตไทยในสวีเดน และนำมาตัดต่อใหม่ จาก ๒ ชั่วโมงเหลือ ๑ ชั่วโมง ก๊อปปี้ลงเป็นฟิล์ม ๑๖ มม.นำออกฉายให้คนไทยในปารีสได้ชม ซึ่งได้สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมมากในฉากยุทธหัตถี
ในจำนวนภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของหนังไทย ๓ เรื่อง คือ “เลือดทหารไทย” “บ้านไร่นาเรา” และ“พระเจ้าช้างเผือก” นั้น “พระเจ้าช้างเผือก”เป็นเรื่องเดียวที่ยังเหลือฟิล์มอยู่ อีก ๒ เรื่องถูกไฟไหม้หมด สำหรับ“บ้านไร่นาเรา”เคยส่งไปฉายให้ทหารไทยที่ยึดนครเชียงตุงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดู ยังมีความหวังว่าอาจจะตกค้างอยู่ในพม่าหรือถูกอังกฤษยึดไป แต่ก็เป็นความหวังที่เลือนรางเต็มที