เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคมที่ผ่านมา ได้เล่าที่มาของคำว่า “ไชโย” ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันนั้นไปแล้วในปี ๒๔๘๖ วันนี้ขอเล่าที่มาของคำที่แสดงความยินดีแห่งชาติอีกคำ ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๕๖ คือคำว่า “ไชโย”
คำนี้ก็ไม่ใช่คำที่บัญญัติขึ้นใหม่ รายการ “รู้รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ ได้ให้ความรู้ไว้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า เป็นคําแสดงความโสมนัส และจะมีการใช้คําว่า ไชโย อยู่บ้างในบทเพลงพื้นเมือง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คําว่า ไชโย ในการเปล่งเสียงแสดงความยินดีหรืออํานวยพรของคนหมู่มากอย่างเป็นทางการ
แต่เดิมตามธรรมเนียมโบราณนั้น เมื่อมีคนจํานวนมากมาอยู่ร่วมกัน เพื่อร้องแสดงความชื่นชมยินดี จะใช้วิธีการโห่ ๓ ลา คือ มีผู้นําหรือต้นเสียงร้องโห่ขึ้นก่อนว่า
“โห่......” โดยเล่นลูกคอทอดเสียงยาว และหยุดเมื่อถึงจังหวะที่จะต้องหายใจ ลูกคู่หรือคนอื่นๆจะร้องรับว่า “ฮิ้ว” พร้อมกัน เป็นการร้องเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนเคลื่อนกระบวนแห่หรือเคลื่อนทัพ ทรงพระราชดําริว่า สมควรใช้คําว่า “ไชโย” แทนคําว่า “โห่ฮิ้ว” เพราะคนจํานวนมากจะเปล่งเสียงได้พร้อมกัน ไม่ขัดเขิน และมีเสียงดังกังวานกว่าคําว่า “ฮิ้ว”
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าทหารเสือป่าและลูกเสือใช้คําว่า “ไชโย” เป็นครั้งแรกเนื่องในพระราชพิธีบวงสรวงและสังเวยดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ เจดีย์ยุทธหัตถี อําเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งในวันนั้น เมื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวงเสร็จพิธี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือเดินเวียนเทียนรอบเจดีย์ยุทธหัตถี เมื่อครบรอบแล้วต้นเสียงจะร้อง “โห่” นํา
และผู้รับจะร้องรับคําว่า “ฮิ้ว” ตาม แต่ปรากฏว่าร้องรับกันไม่พร้อมเพรียง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้คนทั้งหมดเข้าแถวหันหน้าสู่เจดีย์ยุทธหัตถี แล้วมีกระแสพระราชดํารัสความว่า
“ในวันอันเป็นมหามงคลฤกษ์ ที่เราเหล่านักรบทั้งหลาย ผู้สืบเชื้อสายต่อจากบรรพบุรุษเผ่าไทยของเรา ได้มีโอกาสมาสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเกียรติประวัตินี้ เราขอถือว่าเวลานี้ เสมือนเราทั้งหลายได้มาชุมนุมเพื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีคุณต่อชาติไทย ฉะนั้น เราจึงขอนําคําว่า มีชัยนี้มาใช้เป็นปฐมฤกษ์ บัดนี้ เราขอให้ทุกท่านที่มาร่วมชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงเปล่งเสียงไชโยตามเราเป็นการกล่าวสดุดี จงพร้อมเพรียงกันเถิด”
เมื่อสิ้นกระแสพระราชดํารัสแล้ว ทรงเปล่งพระสุรเสียงนําว่า “ไชย” บรรดาเสือป่าและลูกเสือก็เปล่งเสียงรับพร้อมกันว่า “โย” โดยพร้อมเพรียงกัน ๓ ครั้ง
คําว่า “ไชโย” จึงใช้กันอย่างแพร่หลายสืบมาจนถึงทุกวันนี้
วิทยุรายการนี้ยังกล่าวว่า คำว่า ชโย หรือ ไชโย แปลว่า ชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาจากคำร้องอวยชัยของแขกยามที่มาเล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ถวาย และได้โปรดให้พวกเสือป่าเปล่งคำว่า ชโย หรือ ไชโย แทนการร้องโห่ที่เคยใช้มาก่อน
คำว่า ชโย ไชโย นอกจากจะเปล่งเพื่อแสดงความยินดีแล้ว ยังอาจใช้ลงท้ายคำประพันธ์ เช่น วรรคท้ายของเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีว่า “ดุจถวายชัย ชโย” และวรรคท้ายของเนื้อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ว่า “ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย”
นี่ก็เป็นที่มาของคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวันนี้ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ ทรงสร้างสรรค์มรดกทางวรรณกรรมและบัญญัติคำใหม่ในภาษาไทยไว้เป็นจำนวนมาก ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”