xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ไทยเหลือเวลาไม่มาก ย้ำข้อเสนอปิด “ประเทศ-เมือง-บ้าน” 21 วัน มั่นใจถ้าทำได้ ศก.ฟื้นทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“นพ.ธีระวัฒน์” ลั่นเหลือเวลาไม่มาก คนแห่กลับต่างจังหวัดทำโรคกระจายหนักยิ่งกว่าสนามมวย ย้ำข้อเสนอปิด “ประเทศ-เมือง-บ้าน” 21 วัน มั่นใจถ้าทำได้เศรษฐกิจฟื้นทันที แจงไม่ได้เป็นมาตรการสุดท้ายที่ไม่มีอะไรมารองรับ เพียงแต่ทำให้ประเทศสะอาดขึ้นก่อน โดยยังคงมาตรการป้องกันโรคกลับมา แต่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงสถานการณ์ปกติได้ แนะห้ามพูด “โควิด-19” ไม่น่ากลัว คนหนุ่มสาวไม่ติด เพราะทำอู่ฮั่น-อิตาลี พินาศไปทั้งเมืองมาแล้ว



วันที่ 23 มี.ค. 63 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” กับหัวข้อ “ทางแพร่งโควิด-19 ในไทย”

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า เรามีเวลาไม่มากนัก พื้นที่ต่างๆ ตอนนี้มีผู้ที่สามารถแพร่เชื้อได้อยู่ในระดับหนึ่ง ช่วงแรกอาจดูไม่หนาแน่นมากนัก แต่มีตัวจุดปะทุที่เกิดขึ้น คือ บ่อน ผับ และปะทุอีกระลอก คือ การปิดที่ทำงาน โรงงานทำให้คนแห่กลับบ้านต่างจังหวัด สถานีรถไฟ-ขนส่ง กลายเป็นจุดที่หนาแน่น ใหญ่กว่าสนามมวยที่เป็นข่าว

จากสถานการณ์ที่ทราบคนกลับไปต่างจังหวัดคงไม่ได้กักตัวเอง ฉะนั้น ทุกพื้นที่ต้องเข้มงวดไม่ให้ออกนอกบ้านถ้าไม่มีเหตุอันสมควร ขณะเดียวกันคงต้องดูแลเรื่องของอาหารหรือเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ประจำวัน ต้องห้ามมีการเคลื่อนย้ายเด็ดขาด

ขณะนี้ไม่รู้เปอร์เซ็นต์ที่แน่นอน สมมติครอบครัวหนึ่งมี 5 คน อยู่ที่บ้าน มี 1 คนที่ติดเชื้อแล้ว สามารถแพร่ให้กับ 4 คน ถ้าคนที่อยู่ในบ้านนั้นเป็นหนุ่มสาว แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ผ่านไป 14 วันถึงเวลาแสดงอาการก็อาจไม่เห็นอาการอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วเชื้อก็สงบไป สำหรับคนที่อาจมีอาการนิดหน่อย ระยะเวลาไวรัสที่ออกจากตัวหมดสิ้นไป ใช้เวลาประมาณ 20 วัน ฉะนั้น 21 วัน ที่กักตัวในบ้าน ก็อาจทำให้เราสกัดกั้นไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

ในอีกมุมหนึ่งถ้าบ้านนั้นมี 5 คน แล้วคนติดเชื้อเป็นคนหนุ่มสาว แต่มีคนสูงอายุอยู่ด้วย อาจเป็นพ่อแม่ ก็อาจเกิดโรคหนักในบ้าน 2 คน เหตุผลที่กักตัวในบ้านนั้นต้องแยกตัวไม่สุงสิงกันทั้งสิ้นในระยะห่าง 2 เมตร เครื่องใช้สอย เวลารับประทานอาหารต้องแยกกัน พวกเราก็กังวลมันเป็นการฝืนธรรมชาติพอสมควร จะทำได้แค่ไหนอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า กรณีคนแห่เดินทางออกต่างจังหวัด อาจจะแพร่เชื้อมากกว่าเจอที่สนามมวย เพราะจำนวนคนปริมาณมากเหลือเกิน การไปรอที่สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟ และใช้เวลานานพอควรที่อยู่ในรถคันเดียวกัน ระยะตรงนั้นเอื้ออำนวยให้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ตรงนั้นอาจเห็นโอกาสแพร่เชื้อที่มากกว่าสนามมวย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวด้วยว่า คนหนุ่มสาวที่แข็งแรงไม่มีโรค ก็ไม่ได้ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอาการไม่มาก เชื้อก็ไม่มากด้วย การแพร่ไม่เข้มข้นเท่าไหร่ อีกกลุ่มอาการน้อยแต่มีเชื้อมากอยู่ในตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นไวรัสนั้นในกลุ่มใหญ่พอสมควรชอบไปอยู่ส่วนลึกๆ ของปอดทั้งสองข้าง ทำให้ไม่ค่อยมีอาการเจ็บคอ ไอ พยายามให้ไอก็ไอไม่ออก ก็จะใช้ชีวิตตามปกติ บอกไม่ได้เลยกลุ่มไหนแพร่เชื้อแก่งกว่าใคร

อีกประการหนึ่ง หนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว แม้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าก็ตาม แต่โอกาสเสียชีวิตหรือเข้าภาวะวิกฤตยังคงมีได้ เพราะหากได้รับเชื้อมากและรับอยู่เรื่อยๆ ซ้ำซ้อน โอกาสนั้นทำให้ถึงภาวะวิกฤตได้เช่นกัน จากสถิติที่จีน อิตาลี หนุ่มสาวเยอะเลย ลักษณะคือไม่กลัวโรค มองว่าเป็นหวัดธรรมดา ไม่ได้สนใจ แม้กลับตัวที่หลังสักหนึ่งอาทิตย์ก็สายไปแล้ว

หนุ่มสาวเป็นจุดอ่อนที่ควบคุมยาก เพราะเคลื่อนย้ายตัวเองค่อนข้างไกลพอควร ถ้าไม่มีกฎระเบียบหรือบทลงโทษชัดเจน ไม่สามารถหยุดยั้งการประกอบกิจกรรมร่วมกันได้ เป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ไม่แน่ใจเราหลุดคนที่มีอายุมากและอาการหนักโดยไม่ได้ตรวจหรือเปล่า เราอาจพลาดไปบ้างหรือไม่ แต่ตอนนี้เราต้องไม่พลาด ถ้ามีอาการผิดปกติ แผนการตรวจต้องรวมโควิด-19 เสมอ อีกประการหนึ่งตอนนี้ที่หนักใจมาก ลักษณะการแสดงความเจ็บป่วย ไม่ได้ออกมาในระบบทางเดินหายใจอย่างเดียว รายที่อยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ ปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้งๆ ระยะแรกเท่านั้นเเอง แต่อาการที่ทำให้มาโรงพยาบาล เป็นอาการระบบอื่นทั้งสิ้น ในระยะแรกนั้นเอกซเรย์ปอด ไม่ใช่ซีทีสแกนซึ่งจะแม่นยำกว่า ไม่พบความผิดปกติอะไร ไม่มีอาการเลย ไข้ก็ไม่ขึ้น มิหนำซ้ำเลย ขอบเขตกฎเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ว่าต้องเป็นระบบทางเดินหายใจ มีรายงานอาการแม้ว่าไม่มากนักในจีน เช่น สมองอักเสบ อ่อนเปลี้ย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ฉะนั้น ตอนนี้คนที่ไม่สบายอาจต้องตรวจโควิด-19 เข้าไปด้วย อีกประการหนึ่ง วิธีการตรวจมีข้อจำกัดมาก ใช้ไม้ยาวๆ แยงเข้าไปในจมูกและลำคอ หรือพยายามให้มีการไอเกิดขึ้น ความยากคือบุคลากรทางการแพทย์หมดแรงไปตามๆ กันในการเก็บตัวอย่าง และมีโอกาสรับเชื้อสูง ในกรณีพยายามทำให้ไอ เพราะมีโอกาสให้เชื้อเล็ดลอดมาถึงเจ้าหน้าที่ ที่จีนเลยเลี่ยงวิธีนี้ ให้ไปทำซีทีปอดเลย ปอดผิดปกติก็กักกันตัวเลยเสมือนเป็นโควิด-19 แล้วค่อยยืนยันด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) ต่อ กว่าที่จะรู้ผลตรวจเนิ่นนานมาก ต้องยอมรับห้องปฏิบัติการในไทย มีตัวอย่างไหลมาหลายร้อยแต่ละวัน ทำทั้งวันทั้งคืน น้ำยา เครื่องมือ เริ่มขาดแคลนไปบ้าง ทราบผลช้าขึ้น PCR เราก็มีปัญหาในเรื่องกระบวนการความแม่นยำในการตรวจ บางครั้งผลลบ ทางผู้ป่วยเอง หมอ ต้องตีความให้ดีถ้าผลลบ แท้จริงอาจเป็นโรคก็ได้ ถ้ายังสงสัยก็ต้องกักกันตัวจนแน่ใจจริงๆ ว่า สาเหตุการป่วยคือไรกันแน่ แล้วต้องตรวจซ้ำๆ เดือนครึ่งที่แล้วในไทยมีกรณีตรวจซ้ำ 2 ครั้ง ผลเป็นลบ แต่หมอที่เชียงใหม่เก่งมาก เชื่อว่าเป็นแน่ๆ เลยสอดท่อในหลอดลม เอาน้ำล้างปอด เอามาตรวจถึงเจอ

เมื่อถามว่า ทำไมไม่ใช้วิธีซีทีสแกนเลยง่ายดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โรงพยาบาลก็มีเครื่องอยู่ แต่ที่วิตกกัน คนไข้คนนึงเข้าไปต้องทำความสะอาดเครื่องใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยากเย็น ไม่ได้ใช้งบอะไรมากมาย แต่มีข้อจำกัดในการให้ผู้ต้องสงสัยมานั่งรอในพื้นที่เป็นร้อยๆ คน แล้วรอผล 6-24 ชั่วโมง PCR อาจคุ้มกว่า ตอบโจทย์ได้เลย คงเป็นการแก้ปัญหาของแต่ละโรงพยาบาลและงบประมาณที่มีอยู่

มีการตรวจวิธีหนึ่ง ซับซ้อนหน่อย ในอนาคตอันใกล้เราจะสามารถตรวจได้รวดเร็วเป็นนาที โดยการตรวจเลือด สามารถบอกได้ว่าเคยติดเชื้อมาในระยะเวลา 4-6 วัน หรือ 12-14 วันที่แล้ว การตรวจชนิดนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้แก้ปัญหาสิ่งที่เรากำลังกลายเป็นอิตาลี หรือเบนหัวกลับมาเป็นญี่ปุ่น มีข้อจำกัดแต่ช่วยประหยัดเวลาในการคัดกรองมาก ตอนนี้มีการโฆษณาชุดตรวจตามออนไลน์ ขอเตือนว่า พวกนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานว่าใช้กับคนไทยได้ไวและแม่นยำแค่ไหน ทางสภากาชาดหรือโรงพยาบาลจุฬาฯจะมีแถลงให้ทราบในเร็วๆ นี้ การจะรู้ว่าชุดตรวจไหนดี ต้องมีข้อมูลชัดเจนเทียบเคียงกับการตรวจ PCR ในคนไทย คนนำมาตรวจต้องรู้ประวัติชัดเจนพอควร ต้องเปรียบกับการตรวจมาตรฐานที่คล้ายกัน ตอนนี้เราต้องหาคนติดเชื้อให้เร็วที่สุด ไม่แคร์อันดับเลย แค่รู้ได้เร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อ และรักษา เราจะนิ่งสนิทได้ใน 21 วัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ต้องเริ่มต้นปิดประเทศก่อน ชอบไม่ชอบต้องปิดก่อน ปิดเมือง ปิดบ้าน คนที่ต้องทำอาชีพ ก็ต้องมีกฎระเบียบชัดเจนว่าไม่มีการแพร่เชื้อด้วยกันเอง

เราเกรงว่า รองรับผู้ป่วยได้ไม่มาก ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีคนป่วยครองเตียงอยู่แล้ว พื้นที่ในการคัดแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยธรรมดา อยู่ในบริเวณเดียวกัน แม้ใช้บุคลากรคนละชุดก็ตามแต่อยู่ในบริเวณเดียวัน เป็นสิ่งที่เราคงแก้ไม่ทัน เราไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ได้ เราสามารถใช้โรงแรมเป็นที่กักตัวได้ แต่ไม่สามารถใช้แทนโรงพยาบาลได้ ในกรณีปฏิบัติการช่วยชีวิต ดูดเสมหะ นาทีที่มีการสอดท่อ ต้องใช้ห้องความดันลบ เพื่อใม่ให้เชื้อเล็ดลอดออกมาจากห้องนั้นได้เลย แต่ถ้าไปใช้ห้องไอซียูธรรมดา แม้ปิดประตูกระจก แต่การปฏิบัติจะผลิตฝอยละอองเล็กๆ สามารถติดต่อทางการหายใจได้ แตกต่างจากสถานการณ์ปกติที่แพร่เป็นละอองใหญ่ เมื่อเข้าทางการหายใจ ใช้แอร์เดียวกันในอาคารนั้นก็มีปัญหา แม้มีแผ่นกรองอย่างไรก็ตามอาจเล็ดลอดได้

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีไวรัสเวอร์ชันสนามมวยที่ดุร้ายกว่าจากผับนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า มีรายงานจากจีนว่าเชื้อนั้นผันแปรได้ตามสถานการณ์ จะนุ่มนวลมาก่อนช่วง ธ.ค. ต่อมา ม.ค.เปลี่ยนร่างไปเป็นดุร้าย หลังจากนั้นเองให้ยา มีอิทธิพลในการฆ่า เชื้อเหล่านี้ก็จะปรับไปนุ่มนวล ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องหาว่าเวอร์ชันสนามมวยดุร้าย แต่ผับนุ่มนวล คำถามพวกนี้เก็บไว้ก่อน ห้องที่กาชาดถอดรหัสพันธุกรรมได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาวิกฤต สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือต้องไม่ให้ติดเชื้อและคนตายมาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวด้วยว่า คำที่ต้องไม่พูดเด็ดขาดว่าโควิด-19 ไม่น่ากลัว ที่ต้องไม่พูดเด็ดขาดว่าจะเป็นเฉพาะคนแก่ คนมีโรคประจำตัว คนหนุ่มสาวไม่ติด บอกไม่น่ากลัวแต่อู่ฮั่น อิตาลีพินาศไปทั้งเมือง แต่ต้องพูดว่าไม่น่ากลัวถ้าเราป้องกันตัวเองและช่วยกัน ที่สำคัญอย่ายัดเยียดยาต่างๆ ฟ้าทะลายโจร กินมันทุกวันตับอักเสบ ฟ้าทะลายโจรเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด-19 กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินความจำเป็น ฉะนั้น ฟ้าทะลายโจรอาจทำให้การอักเสบในร่างกายทวีคูณ กลับกลายเป็นผลร้ายเข้าไปอีก

เมื่อถามว่า ทำโซเชียล ดิสแทนซิง แล้วใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ไหม ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ถ้าไม่ปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน และกักกันตัว เราจะมาไม่ถึงจุดที่เราพูดกันตรงนี้ ต้องปิดกั้นเสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน แล้วหลัง 21 วัน เมื่อประเทศสะอาดระดับหนึ่ง เราจะสามารถเข้าใกล้การใช้ชีวิตปกติได้ แต่ยังต้องห่างกัน 2 เมตร ล้างมือ หน้ากากผ้าต้องใช้อยู่ จนแน่ใจจริงๆ

ขณะเดียวกัน มีเครื่องมือตรวจสอบว่าโรคจะกลับหวนมาหรือไม่ เป็นระลอก 2-3 ฉะนั้น มาตรการปิดต่างๆ กักตัวต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าเป็นมาตรการสุดท้ายที่ไม่มีอะไรรองรับ เราดำเนินชีวิตเข้าใกล้ภาวะปกติได้ถ้าเราผ่าน 21 วันนี้ได้ก่อน เมื่อประเทศสะอาดเกือบเป็นชีวิตปกติ เราสามารถเลือกนักท่องเที่ยวให้เข้าไทยได้หลังกักตัว 14 วัน

ถ้าผ่าน 21 วันที่เจ็บปวดไปได้ เศรษฐกิจเราจะฟื้นตัวทันที เพราะเริ่มมั่นใจว่าเริ่มสะอาด ขณะเดียวกันก็มีมาตรการป้องกันว่าโรคโผล่มาอีกหรือเปล่า หากมีก็กักเก็บเป็นหย่อมๆ ไป ไม่ต้องทั่วประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น