xs
xsm
sm
md
lg

เภสัชกรห่วง! น้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อ ไม่เหมาะใช้กับผิวหนัง ไม่ยืนยันฆ่าเชื้อ โควิด-19 ได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ข้อความแนะประชาชนใช้วิจารณญาณ หลังพบจิตอาสานำยาฆ่าเชื้อมาฉีดตามร่างกายให้ฟรี แต่ยาชนิดดังกล่าวไม่เหมาะใช้กับผิวหนัง และไม่ยืนยันว่าฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่

จากกรณี คลิปของจิตอาสารายหนึ่งนำน้ำยาฆ่าเชื้อโรค “เบสคอน พี-เอ” มาพ่นฆ่าเชื้อแก่คนที่เดินผ่านไปมาย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งก็มีประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณเกาะพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนยืนรอต่อคิวเพื่อพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจำนวนมาก พร้อมกับเสียงตามสาย ระบุว่า เป็นบริการพ่นยาฆ่าเชื้อแอนตี้ไวรัส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส งูสวัด เริม เพื่อที่เวลาโดยสารรถประจำทาง รถไฟฟ้า และรถตู้กลับบ้าน จะได้ปกป้องจากเชื้อไวรัส ท่ามกลางเสียงวิจารณ์แก่ชาวเน็ตว่าเป็นของหน่วยงานไหน จะป้องกันไวรัสโดยเฉพาะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ สรุป! พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นของ “เค เยาวราช” จิตอาสาบริการฟรี


ล่าสุด วันนี้ (12 มี.ค.) ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการพ่นยาฆ่าเชื้อให้ประชาชนฟรีผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ศาสตราจารย์ พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์” โดยได้ระบุข้อความว่า

“เมื่อคืนนี้ผมได้รับข้อมูลจาก ภญ.ดร.ปารภัทร โศภารักษ์ เกี่ยวกับคลิปที่มีการให้บริการฉีดพ่นน้ำยาเบสคอนให้ประชาชนที่เดินผ่านไปมาบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผม และ ดร.ปารภัทร เลยลองสืบค้นข้อมูลของสารดังกล่าว พบว่า สารดังกล่าวเป็นกลุ่มสารลดแรงตึงผิวในกลุ่ม amphoteric surfactant มีชื่อสามัญว่า dodecylbis(aminoethyl)glycine hydrochloride ที่จดแจ้งเป็นสารฆ่าเชื้อ (disinfectant) ใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคและขจัดกลิ่นในพื้นที่ ห้อง พื้นผิวต่างๆ **ไม่ได้มีคำแนะนำให้ใช้กับผิวหนัง** นอกจากนั้น สารดังกล่าวยังไม่มีการยืนยันประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา

จึงอยากเตือนผู้ที่ผ่านไปมา ให้พิจารณาว่าควรเข้าไปรับการฉีดพ่นหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ มีรายงานความเป็นพิษว่าสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบเมื่อสัมผัสสารแล้วเกิดอาการแพ้ นอกจากนั้น การผสมน้ำยาในบริเวณที่ฉีดพ่นอาจทำให้ไม่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอน เพิ่มความเสี่ยงจากปริมาณสารเคมีปริมาณมาก

ทั้งนี้ ในเอกสารคำแนะนำของกรมควบคุมโรคไม่แนะนำการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อเป็นฝอยละออง แนะนำการเช็ดถูพื้นผิวต่างๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ 0.05%”




กำลังโหลดความคิดเห็น