xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มี.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุก "ธาริต" กับพวก 2 ปี กลั่นแกล้งแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" สั่งฆ่าประชาชน!

(ขวา) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) (กลาง) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อเดือน ก.ค.54-13 ธ.ค. 2555 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย นปช.ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย โจทก์ได้มอบนโยบายชัดเจนว่า ให้สลายการชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เพื่อระงับความเสียหายของบ้านเมือง โจทก์ไม่ต้องรับผิด เมื่อการชุมนุมยุติลง ดีเอสไอก็ได้สอบสวนดำเนินคดีแกนนำและชายชุดดำข้อหาก่อการร้ายด้วย ต่อมานายธาริต จำเลยที่ 1 ยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จำเลยทั้งสี่จึงร่วมกันแจ้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน กลั่นแกล้งโจทก์สนองความต้องการของรัฐบาล ซึ่งดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โดยเห็นว่า พยานที่โจทก์นำสืบมานั้น ไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ จำเลยทั้งสี่เป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการที่ร่วมสอบ จึงไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนหลักฐานอื่นเป็นเพียงพยานแวดล้อมและความเห็นทางกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (5 มี.ค.) นายธาริต และกลุ่มพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จำเลยทั้งสี่ ซึ่งได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ ได้เดินทางมาศาล โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นแจ้งข้อหาโจทก์ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการสลายการชุมนุมปี 2553 จำเลยทั้งสี่เคยมีความเห็นว่า การชุมนุม นปช.เป็นความผิดตามกฎหมาย จึงแจ้งข้อหาก่อการร้าย แสดงว่าจำเลยที่ 1-4 เห็นว่า โจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ แม้ภายหลังการไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ศาลอาญาจะชี้ว่า กระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด

จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกัน ฟังได้ว่า การที่จำเลยทั้งสี่มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง เพื่อเอาใจรัฐบาล มีผลในการต่ออายุตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้งสี่สืบสวนสอบสวนโจทก์ทั้งสอง พร้อมแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผล ทั้งที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช. การกระทำจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรคสอง จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี แต่คำเบิกความเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี

ต่อมา ญาติของนายธาริต และจำเลยที่ 1-4ได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างฎีกา ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้นายธาริตกับพวกประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 4 แสนบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข ใดๆ

2.ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก “ปลอดประสพ” 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีโยกย้ายลูกน้องมิชอบ พร้อมชดใช้ 1.4 ล้าน!

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ศาลได้ออกหมายจับให้ติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกลั่นแกล้งโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความเสียหาย ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลก่อนถึงกำหนดนัดวันที่ 7 เม.ย. พร้อมขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามัย และนั่งรถเข็นมาศาล โดยมีบุตรชาย ญาติและคนใกล้ชิดนับสิบคนมาร่วมให้กำลังใจด้วย

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งไม่แต่งตั้งโจทก์ให้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการระดับ 9 ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่โจทก์มีคุณสมบัติจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้ จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท หลังจากนั้น ทั้งนายปลอดประสพ จำเลย และนายวิฑูรย์ โจทก์ ต่างยื่นอุทธรณ์

ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่ง จึงให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย หลังจากนั้น นายปลอดประสพ จำเลย ได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดี และได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ด้วยหลักทรัพย์ 4 แสนบาท

แต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา นายปลอดประสพไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามกำหนดนัด ศาลจึงมีคำสั่งให้ปรับนายประกันเต็มจำนวน และให้ออกหมายจับนายปลอดประสพ จำเลยมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย.นี้ กระทั่งนายปลอดประสพตัดสินใจเดินทางมาศาลในวันที่ 5 มี.ค. ก่อนกำหนดนัดครั้งต่อไปถึง 1 เดือน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของนายปลอดประสพ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งปลัด ทส. ที่ให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งใหม่ให้นายวิฑูรย์ โจทก์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญนั้น เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และเป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วน ไม่ได้หารือคณะกรรมการ

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า มีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์ เมื่อมีการโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ นั้น จากคำเบิกความของพยานที่ตอบคำถามได้ความว่า ตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 นั้น จะมีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์ก็มีคุณสมบัติ จึงต่างจากที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้าย ระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้ว จะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงไม่ควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนบทลงโทษ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โดยให้ออกหมายคดีถึงที่สุดด้วย

หลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งผลถือเป็นที่สุดตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายปลอดประสพ ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา

3.ผู้พิพากษา “คณากร” เขียน จ.ม.ลาตาย-ยิงตัวเองดับ หลังถูกตั้ง กก.สอบ-ดำเนินคดีอาญาปมยิงตัวเองกลางศาล!

นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา
จากกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา ได้ก่อเหตุยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บกลางศาลเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 หลังอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีความมั่นคง พร้อมอ้างว่าถูกแทรกแซงคดีสั่งให้ลงโทษจำเลยคดีดังกล่าว โดยก่อนก่อเหตุครั้งนั้น นายคณากรได้เฟซบุ๊กไลฟ์ด้วย พร้อมเชื่อว่า การกระทำของตนน่าจะนำไปสู่การถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับบำเหน็จ ส่งผลให้ครอบครัวเดือดร้อน จึงให้เลขบัญชีเพื่อเปิดรับบริจาคภรรยาและบุตรของตน ซึ่งต่อมา ประธานศาลฎีกาได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยนายคณากรถูกย้ายไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในแง่คดีอาญา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีนายคณากรตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

ล่าสุด วันนี้ (7 มี.ค.) นายคณากร ได้เขียนจดหมายลาตาย ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “คณากร ตุลาคม” ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงเข้าหัวใจที่บ้านพักส่วนตัวในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยข้อความในจดหมาย ระบุว่า “เรียนเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รัก เรื่องจดหมายลา สืบเนื่องจากผม นายคณากร ...ใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ...ต่อมาผมถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวนและยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งผมเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่"

"ทั้งการดำเนินคดีกับตัวผมเพิ่งจะเริ่มต้น การสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือ การสูญเสียตัวตน ทั้งกลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง สภาพร่างกายและจิตใจของผมไม่อาจรับไหว เต็มไปด้วยความทุกข์ เส้นทางชีวิตของผมในชาตินี้ได้ขาดลงแล้ว ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไป ผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน"

"ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ. ศ. 2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย ส.ส.ร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่า ขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพราะอะไร หรือ ส.ส.ร. รู้ว่า การตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น อาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค"

“ขออนุญาตถามเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยง่ายๆ ว่า สิ่งที่ผมทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ ท่านพบความชั่วหรือความเลวอยู่ในการกระทำของผมบ้างหรือไม่ ขอทุกท่านตอบในใจเบาๆ ก็พอ ส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้ว เสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน"

“ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ผมไม่คิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่วันนั้นสวรรค์ทรงเมตตาให้ผมมีชีวิตอยู่ต่อ เข้าใจว่าทรงมีพระประสงค์ให้มาอยู่กับครอบครัวสักระยะหนึ่งเท่านั้น ผมจึงจัดการซ่อมแซมแต่งบ้านบางส่วนให้เรียบร้อยขึ้น เพื่อให้สองแม่ลูกอยู่อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สอนลูกให้เข้มแข็ง สอนให้เป็นคนดี คนดีคือคนที่ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่นและประชาชนภายในกรอบของศีลธรรม”

"วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 เป็นวันดีลูกปิดเทอมได้หนึ่งสัปดาห์ สมควรแก่เวลา ก่อนหน้านี้ ฝึกดับขันธ์บางส่วนมาก่อนแล้ว ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าดับไม่ลง จึงตัดใจดับขันธ์ทั้งห้าด้วยกำลัง ชีวิตเป็นเพียงแค่การเดินทาง ร่างกายที่แท้ไม่ใช่ของเรา ท้ายที่สุดย่อมเสื่อมสภาพกลับไปเป็นธาตุทั้งสี่ การพลัดพรากจากหน้าที่การงาน หรือคนที่รักก็เช่นกัน ท้ายที่สุดย่อมต้องจาก เหลือไว้แต่ความดีในความทรงจำของผู้อื่น เพื่อดับทุกข์จึงขอลาจากไปในเวลานี้ แม้จะก่อนเวลาอันควร ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน ลาก่อน"

ทั้งนี้ นายคณากร ได้เขียน ปล. ด้วยว่า "ท่านที่เมตตาผม ท่านสามารถส่งวิญญาณผมให้ไปสู่สุคติได้ โดยให้ทุนการศึกษาแก่ลูกของผมที่บัญชีธนาคาร..........."

ขณะที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า นายคณากร ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองครั้งที่ 2 เข้าที่บริเวณหัวใจ ได้เสียชีวิตลงในเวลา 10.45 น. จากนี้จะมีการนำศพของนายคณากร ไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตามขั้นตอนอีกครั้ง

4.ศาลพิพากษาจำคุก “พนม ศรศิลป์” 12 เดือน คดีเงินทอนวัด ส่วน “อดีตพระพรหมดิลก” รอลงอาญา!

นายพนม ศรศิลป์ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.)
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หรือคดีเงินทอนวัด ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), นายบุญเลิศ โสภา อายุ 54 ปี อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง, นายแก้ว ชิดตะขบ อายุ 54 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา, นางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร อายุ 51 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา และอดีตพระพรหมดิลก หรือนายเอื้อน กลิ่นสาลี อายุ 75 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-5

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารฯ ทำการรับรองหลักฐานเป็นเท็จ, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว กรณีกล่าวหาทุจริตการจัดสรรงบในส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 5 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.46-15 ส.ค.57

คดีนี้ อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ต.ค.61 พร้อมขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งห้า ร่วมกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีคดี ชดใช้เงิน 5 ล้านบาทคืนให้สำนักงาน พศ. และให้นับโทษอดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยาในคดีฟอกเงิน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษเมื่อวันที่ 16 พ.ค.62 ให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ทั้งนี้ อดีตพระพรหมดิลก หรือนายเอื้อน กลิ่นสาลี ซึ่งได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 2 ล้านบาท ได้เดินทางมาศาลในชุดเสื้อแขนสั้นสีขาวกางเกงขายาว โดยมีกลุ่มลูกศิษย์พระนับ 10 รูป และฆราวาสกว่า 10 คน มาร่วมให้กำลังใจฟังคำพิพากษา ส่วนนายพนม อดีต ผอ.พศ.จำเลยที่ 1 และกลุ่มลูกน้อง ในสำนักงาน พศ. จำเลยที่ 2, 3, 4 ทั้งในส่วนที่ศาลไม่ให้ประกันตัว และไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอจะยื่นประกันตัวถูกคุมขังในเรือนจำและทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลได้เบิกตัวจำเลยที่ 1-4 มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนอดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิดมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ให้การเป็นประโยชน์ ในชั้นพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 คนละ 12 เดือน สำหรับจำเลยที่ 5 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท

สำหรับจำเลยที่ 5 ศาลเห็นว่า เคยประกอบคุณงามความดีในด้านพุทธศาสนา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย ทะนุบำรุงการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา อีกทั้งไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ มีกำหนด 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพในชั้นพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้เป็นเวลา 9 เดือน

5.ไทยประกาศให้ 4 ประเทศ เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย ขณะที่หนุ่มไทยติดโควิด เสียชีวิตรายแรก!


สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. โดยได้หารือถึงมาตรการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ของแรงงานไทยที่จะเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง จำนวนกว่า 5,000 คน โดยแรงงานดังกล่าวเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ผีน้อย และเกาหลีใต้เปิดให้แรงงานที่ผิดกฎหมายแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.62-มิ.ย.63 จะไม่เอาผิด จึงมีแรงงานไทยผิดกฎหมายทยอยแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศจำนวนมาก โดยมีรายงานว่า แรงงานไทยถูกกฎหมายในเกาหลีใต้มีประมาณ 6 หมื่นคน ขณะที่แรงงานไทยผิดกฎหมายมีกว่า 1.2 แสนคน ซึ่งมีรายงานว่า แรงงานไทยกว่า 5,000 คนดังกล่าว บางส่วนได้ทยอยเดินทางกลับไทยตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับมาตรการคัดกรองแรงงานไทยที่จะกลับจากเกาหลีใต้ ได้ข้อสรุปว่า แรงงานไทยจะต้องถูกตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก หากแรงงานเดินทางมาจาก 2 เมืองที่มีความเสี่ยงมากสุด คือ เมืองแทกูและจังหวัดคยองซัง จะต้องถูกกักตัว 14 วันในสถานที่ที่รัฐกำหนด ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ของทหารตามภาคต่างๆ ส่วนแรงงานที่ไม่ได้มาจาก 2 เมืองดังกล่าว จะให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 เผยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ว่า มีแรงงานไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากเกาหลีใต้มีไข้สูง 19 ราย เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคและอยู่ในการรักษาที่สถานพยาบาล ผลการตรวจสารคัดหลั่ง ยังไม่พบเชื้อ แต่ไม่ได้ระบุว่าผลลบ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาตรการเร่งด่วน ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เดินทางกลับมา ต้องสังเกตอาการและปฏิบัติงานภายในที่พัก 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมทั้งยังจัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิดขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบ “โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา” วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อผลิตหน้ากากผ้า เป็นอีกทางเลือกแทนหน้ากากอนามัย โดยตั้งเป้าผลิต 50 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปฟรี

ส่วนปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและโรงพยาบาลต่างๆ นั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า หน้ากากอนามัยสีเขียว มีโรงงานผลิตทั่วประเทศ 11 แห่ง เมื่อเกิดสถานการณ์โคโรนา โรงงานทั้งหมดได้เร่งผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน จึงได้หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน จากการเพิ่มวันผลิตในวันอาทิตย์อีก 1 วัน แต่จะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน จึงเหลือแค่ไต้หวันและอินโดนีเซียเท่านั้น ทำให้มีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะควบคุมให้ราคามาตรฐานไว้อยู่ที่ 2.50 บาทต่อชิ้น ดังนั้นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข เพื่อเข้าไปช่วยชดเชยต่อไป

สำหรับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะกระจายให้โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน ขณะที่อีกส่วน จะกระจายไปยังผู้จัดจำหน่ายต่างๆ ให้เร็วที่สุด รวมถึงสมาคมร้านขายยา สายการบิน และประชาชนทั่วไป โดยกรมการค้าภายในจะจัดรถโมบายกระจายขายทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. โดยหน้ากากอนามัยจัดเป็นแพ็ค 4 ชิ้น ชิ้นละ 2.50 บาท ราคา 10 บาท ประชาชนสามารถติดตามสถานที่จัดจำหน่ายได้ในเว็บของกรมการค้าภายใน เพราะแต่ละวันจะไปจำหน่ายคนละสถานที่ หากพบการขายเกินราคา สามารถโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่เบอร์ 1569

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยนั้น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 2 รายนั้น รายที่เป็นชายไทยอายุ 35 ปี ที่มีการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) เสียชีวิตแล้ว ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน แต่ต่อมาพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมด้วย จึงส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร โดยให้การรักษาในหลายวิธี จนผู้ป่วยรายนี้ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. แต่ด้วยสภาพปอดที่เสื่อม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนัก ทำให้อวัยวะภายในหลายระบบล้มเหลว จึงเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจะเกี่ยวกับโรคโควิด-19 หรือไม่ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป

ต่อมา วันที่ 5 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย นำทีมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 อีกว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 4 ราย รายแรก เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางจากอิตาลีมาไทยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ขณะนี้รักษาตัวอยู่ รพ.ชลบุรี รายที่สอง เป็นชายไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากอิตาลี เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 มี.ค. รายที่สาม เป็นชายชาวจีน เดินทางมาจากประเทศอิหร่าน เพื่อมาต่อเครื่องเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตรวจพบที่ด่านคัดกรองระหว่างรอต่อเครื่อง จึงส่งตัวไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนรายที่สี่ เป็นนักศึกษาชายไทย เดินทางมาจากประเทศอิหร่าน กลับมาไทยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ผ่านด่านคัดกรองไม่มีไข้ แต่มาแสดงอาการภายหลัง รักษาตัวอยู่ที่ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช

วันเดียวกัน (5 มี.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ 4 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 1.เกาหลี 2.จีน รวมถึงเขตมาเก๊าและฮ่องกง 3.อิตาลี และ 4.อิหร่าน

ล่าสุด วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิตาลีจำนวน 6 คน โดยผู้ป่วยรายทั้ง 2 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 40 ปี รักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 40 ปี รักษาตัวที่ รพ.นพรัตนราชธานี สำหรับผู้ร่วมเดินทางในกรุ๊ปเดียวกันอีก 3 ราย เข้ารับการตรวจแล้ว ยังไม่พบเชื้อ โดยมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนแรงงานผิดกฎหมายหญิงไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ ซึ่งผลตรวจเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ออกมาว่ามีผลบวกอ่อนๆ 1 แล็บ ขณะนี้ผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 2 รอบ พบว่าผลเป็นลบ ดังนั้น หญิงรายนี้ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ แต่จะอยู่ในการดูแลของแพทย์และรอดูอาการจนครบ 14 วัน

สรุปจนถึงวันที่ 7 มี.ค. ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 50 ราย โดยยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 18 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 31 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม 4,234 ราย กลับบ้านแล้ว 2,508 ราย ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 1,726 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น