xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์จำคุกธาริต2ปี คดี"มาร์ค-เทือก"สลายม็อบปี53

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (5มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200
คำฟ้องระบุพฤติการณ์ สรุปได้ว่า กรณีเมื่อเดือนก.ค.54-13 ธ.ค.55 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่งศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 53 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดยนปช.ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย โจทก์ได้มอบนโยบายชัดเจนว่า ให้สลายการชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เพื่อระงับความเสียหายของบ้านเมือง โจทก์ไม่ต้องรับผิด เมื่อการชุมนุมยุติลง ดีเอสไอ ก็ได้สอบสวนดำเนินคดีแกนนำและชายชุดดำ ข้อหาก่อการร้ายด้วย
ต่อมานายธาริต จำเลยที่ 1 ยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จำเลยทั้งสี่ จึงร่วมกันแจ้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน กลั่นแกล้งโจทก์ สนองความต้องการของรัฐบาล ซึ่งดีเอสไอ ไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาเมื่อ 25 ก.ย.61 ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่
วานนี้ นายธาริต และกลุ่มพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ จำเลยทั้งสี่ ซึ่งได้รับการประกันตัว เดินทางมาศาล
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นควรแจ้งข้อหาโจทก์ ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 จำเลยทั้งสี่ เคยมีความเห็นว่า การชุมนุมนปช. เป็นความผิดกฎหมาย จึงแจ้งข้อหาก่อการร้าย แสดงว่า จำเลยที่ 1-4 เห็นว่าโจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ แม้ภายหลังการไต่สวนการตายของ นายพัน คำกอง ศาลอาญา จะชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด
จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกัน ฟังได้ว่า การที่จำเลยทั้งสี่ มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง เพื่อเอาใจรัฐบาล มีผลในการต่ออายุตำแหน่ง อธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้งสี่ สืบสวนสอบสวนโจทก์ทั้งสอง พร้อมแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลทั้งที่เป็นอำนาจป.ป.ช. การกระทำจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม มาตรา 200 วรรคสอง จำคุกจำเลยทั้งสี่ คนละ 3 ปี คำเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี
หลังจากนี้ นายธาริตกับพวก ได้เตรียมยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น