ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้พบช้างเผือกถึง ๑๐ เชือก เชือกหนึ่งคล้องได้จากเมืองภูเขียวในปี ๒๓๔๔ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่า “พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์วิลัยลักษณเลิศฟ้า” พระยานครราชสีมานำมาถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จไปรับเมื่อนางพระยาช้างล่องแพลงมาถึงเมืองนนทบุรี โดยมีราษฎรมารอรับเสด็จคับคั่งแน่นท้องน้ำ
บนบกในวัดท้ายเมือง พระยาศรีสรราช (เมือง) กับท่านผู้หญิงบุนนาค ผู้สร้างวัดท้ายเมือง ก็มาตั้งโรงครัวเลี้ยงดูขุนนางที่ตามเสด็จทั้งนายไพร่อย่างทั่วถึง ส่วนในแม่น้ำหน้าวัดก็มีแพตลอดริมฝั่งตั้งสำรับกับข้าวกระทงทั้งคาวหวาน เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านมา พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าใครเป็นผู้จัดอาหารมาต้อนรับผู้ตามเสด็จ และเห็นท่านผู้หญิงบุนนาคหมอบกราบอยู่ในแพ ก็ทรงเปิดพระวิสูตรมีพระราชปฏิสันถารด้วย
เมื่อเสด็จไปประทับแพช้างเผือกที่จอดฝั่งตรงข้ามตลาดขวัญแล้ว มีรับสั่งให้ไปตามพระยาศรีสรราชและท่านผู้หญิงบุนนาคมาเฝ้า ทรงรับสั่งกับท่านผู้หญิงบุนนาคว่า
“เออ ยายบุนนาค แกมาค้างอยู่แต่วันวานนี้ฤา แกมาเห็นวัดวาอารามของแกสร้างสมไว้นั้น แกชื่นอกชื่นใจฤาไม่ อ้อ นี่ยายบุนนาค แกอุตสาหะขึ้นมาตั้งโรงครอบโรงครัวเลี้ยงดูพูวายทั้งไพร่นายได้อิมหมีพีมันทั่วถึงกันหมดทั้งวังหลวงวังหน้า ข้าขอบใจเจ้าทั้งผัวทั้งเมียเป็นหนักหนา ที่ไม่ได้เป็นการเกี่ยวข้องขอเรี่ยวขอแรง และไม่ได้กะเกณฑ์อะไรเลย ทั้งตาทั้งยายมีน้ำใจมาเลี้ยงเฉยๆ โดยความจงรักภักดีต่อเจ้าขุนมูลนายจริงๆจังๆ ไม่เสียแรงเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงมานาน ข้าได้ชุบเลี้ยงให้เจ้ามั่งมีศรีสุขสนุกสบายขึ้นมากมายแล้ว เจ้าทั้งผัวทั้งเมียก็มีน้ำใจรักใคร่นาย นายก็ต้องมีน้ำใจรักบ่าวตอบแทนบ้างเท่านั้นเอง”
จากนั้นก็รับสั่งให้ข้าราชบริพารที่เฝ้าอยู่ด้านหลังว่า
“เอ็ง อ้ายธนูศักดิ์ มึงเอาเงินท้ายที่นั่งสองถุงมาให้กู กูจะให้รางวัลยายบุนนาค”
ท่านผู้หญิงบุนนาคได้รับพระราชทานไป ๒๐ ชั่ง เป็นเงิน ๑,๖๐๐ บาท เป็นรางวัล
นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชดำรัสกับสมุหกลาโหม ให้แต่งตั้งพระยาศรีสรราชเป็นข้าหลวงใหญ่ลงไปสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเลตะวันตกในศกหน้า
ตอนที่เรือพระที่นั่งไปถึงแพช้างเผือกนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็นเรือบันทุกข้าวห่ออีกขบวนล่องลงมาประมาณ ๑๐๐ ลำเศษ ด้วยความที่ทรงรอบรู้ถึงนิสัยใจคอของบรรดาขุนนางที่รับราชการในตำแหน่งต่างๆดี ก็ทรงคาดได้ว่าคนจัดเรือข้าวห่อขบวนนี้ต้องเป็น พระนนทบุรี เจ้าเมืองนนทบุรีแน่ และเมื่อมีพระราชดำรัสถามว่าใครเป็นคนมีท้องตราให้พระนนทบุรีทำข้าวห่อแจก ก็ได้รับคำกราบบังคมทูลว่า มิได้มีหมายเกณฑ์แต่อย่งใด พระนนทบุรีทำฉลองพระเดชพระคุณเอง พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งกับผู้กราบทูลว่า
“เอ็งนี่มันช่างเซอะซุ่มซ่ามจริงๆ ช่างไม่รู้จักเท่าทันเล่ห์กลอุบายของอ้ายนนบ้างเลย อ้ายนนมันมีสมบัติพัสถารอะไรที่มันจะมาทำการฉลองคุณข้าจนใหญ่โตได้เช่นนี้เล่า ดูเอาเถิดสันดานอ้ายนน มันทำอะไรก็พอใจแต่จะทำการเบียดเบียนเนื้อราษฎร มาทำเจ้าหน้าเจ้าตาเป็นของกำนันข้าเท่านั้นเอง”
ทรงมีพระราชหฤทัยสงสารราษฎรที่ต้องถูกรับเกณฑ์ข้าวห่อ ที่พอจะกินก็ยังชั่ว ที่ยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ก็ต้องลำบาก จึงมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาพลเทพว่า
“นี่แน่ กรมนา ข้าจะสั่งว่า เงินค่าเสนาเมืองนนท์จำนวนในปีระกานักษัตรตรีศกนี้ ข้าขอยกให้แก่ราษฎรเมืองนนท์ไร่ละเฟื้อง เป็นรางวัลที่ถูกเกณฑ์ข้าวห่อเถิด กับกรมคลัง ข้าขอยกเลิกไม่ให้เก็บเงินค่าตลาดที่เมืองนนท์ ตั้งแต่วันพุธ เดือนยี่ แรมสองค่ำในปีระกา นักษัตรตรีศกนี้ ต่อไปจนสิ้นปีระกานี้เถิด ยกให้เป็นรางวัลแก่ราษฎรที่ถูกเกณฑ์ข้าวห่อ เพราะอ้ายนนมันทรลักษณ์ลามก”
ทรงติเตียนพระนนทบุรีต่อไปอีกว่า
“สัญชาติอ้ายนนคนนี้อัปรีย์มาก จะชุบเลี้ยงยกย่องให้เป็นพระยาไม่ได้เลย ด้วยน้ำใจมันปราศจากเมตตาจิตแก่ราษฎร ครั้นจะถอดถอนมันออกเสียจากที่เจ้าเมืองก็ได้ แต่ยังเกรงความครหานินทาจะว่าได้ ว่ามันยังไม่มีความผิดถึงขนาดใหญ่ ได้แต่ให้มันเป็นตระเว็ตผีอยู่เฝ้าศาลเจ้าเท่านั้นก็พอดีอยู่แล้ว”
จากนั้นก็ดำรัสสั่งให้พระทิพโกษา ผู้ช่วยราชการในกรมพระคลัง เป็นข้าหลวงขึ้นมากำกับราชการเมืองนนทบุรี คุมเจ้าเมืองนนทบุรีอีกชั้นหนึ่ง
เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสมุดข่อยที่เรียกกันว่า “คำให้การของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (แสง) “ หรือ พระยาทิพโกษา ผู้บันทึกเหตุการณ์นี้เอง